กรุงเทพฯ--1 มี.ค.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
ปัจจุบันการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยมีความเจริญก้าวหน้ามาก ประกอบกับแนวโน้มทางการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนในอนาคต และการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งประกอบไปด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประชาคมความมั่นคงอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างองค์ความรู้ บุคลากร ตลอดจนเทคโนโลยีด้านความมั่นคงและป้องกันประเทศอย่างจริงจัง เพื่อเพิ่มระดับขีดความสามารถในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ
อุตสาหกรรมป้องกันประเทศในประเทศไทย เฉพาะยุทโธปกรณ์มีมูลค่า 50,000 ล้านบาท เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่ไม่เพียงสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสร้างงานแก่ประชาชนเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่นๆ เท่านั้น แต่ยังเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมความมั่นคงในด้านการทหารของชาติอีกด้วย หลายประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในภูมิภาคเอเชียต่างให้ความสำคัญและมุ่งเน้นพัฒนาขีดความสามารถในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศกันอย่างเข้มข้น จนกลายเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีการแข่งขันที่รุนแรงไม่น้อยไปกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ ช่วยลดการนำเข้าและการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ในด้านการศึกษาพัฒนาบุคคลากร ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)ได้เปิดหลักสูตรปริญญาโท วิศวกรรมป้องกันประเทศในปีที่ผ่านมา
ในวาระครบรอบ 4 ปี ของหน่วยงาน สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทป. ผู้นำด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศในภูมิภาค เชิญสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.),กระทรวงกลาโหม และสถาบันยานยนต์ (Thailand Automotive Institute) จัดเสวนาเรื่อง ‘การบูรณาการขีดความสามารถภาครัฐและเอกชนในการพัฒนายานเกราะเพื่อการพึ่งพาตนเอง’ ขึ้น ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ สโมสรทหารบก โดยมี พลอากาศเอก สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดงานและจัดแสดงนิทรรศการ นับเป็นอีกก้าวในการเสริมสร้างพัฒนากองทัพไทยเพื่อก้าวไปสู่ความเป็นอาเซียน รองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอนาคตอันใกล้
พลโท อักษรา เกิดผล กล่าวถึงความสำคัญในการพัฒนายานเกราะเพื่อการพึ่งพาตนเองในครั้งนี้ว่า “ปัจจุบัน ประเทศชาติต้องเผชิญกับภัยคุกคามต่างๆ กองทัพจำเป็นต้องเสริมความเข้มแข็ง เพื่อรับมือกับทั้งภัยคุกคามแบบดั้งเดิมที่กองทัพต้องปกป้องประเทศจากปัญหาชายแดนและภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ยานเกราะเป็นหนึ่งในยุทโธปกรณ์หลักของกองทัพบก ซึ่งทางกองทัพยังคงมีความต้องการเพิ่มเติมอีกมาก แต่การจัดหายานเกราะนั้นมีราคาแพง เนื่องจากเราต้องนำเข้าจากต่างประเทศ รวมทั้งปัญหาและค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงในระยะยาว ดังนั้นเพื่อแนวทางที่เหมาะสมในการจัดหายานเกราะที่มีราคาถูกลง รวมถึงการจัดหาอะไหล่และการซ่อมบำรุงได้ภายในประเทศอย่างรวดเร็ว รวมทั้งยังเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศและช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจของชาติ เราจึงมีความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานกองทัพบกกับภาคเอกชนขึ้น การพัฒนาครั้งนี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญในครั้งนี้ คือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ที่ได้มีการวิจัยค้นคว้ามาอย่างต่อเนื่อง
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวถึงแนวทางความร่วมมือของ สจล. กับ สถาบันยานยนต์ และ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ หรือ สทป. ว่า “ไทยในปัจจุบันต้องมุ่งร่วมพัฒนาเทคโนโลยียุทโธปกรณ์ของประเทศ ซึ่งเป็นศาสตร์ระดับสูง โดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมสนับสนุน สทป. หากพิจารณาเปรียบเทียบกับต่างประเทศ เขาตั้งงบวิจัย 7หมื่นล้านบาท และสามารถเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจได้เพราะมีศักยภาพสูงในทุกด้าน เนื่องจากได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างมั่นคงด้วยดีตลอดมา นอกจากนี้ประเทศจีนเองก็ได้พัฒนาและได้รับการยอมรับในส่วนนี้เช่นกัน ทั้งจากหลายๆประเทศที่มีความพร้อมในเรื่องนี้ ต่างร่วมมือกับภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาชั้นนำ ดังนั้นยานเกราะที่จะสร้างขึ้นจำเป็นต้องได้รับความชำนาญและความสามารถชั้นสูงเป็นพิเศษ ในการสร้างยานเกราะ 1 เครื่องนั้น จำเป็นต้องได้รับการร่วมมือทั้งจาก อันดับแรกต้องใช้วิศวกรรมเครื่องยนต์ ในการออกแบบจะต้องใช้วิศวกรรมโยธา เกราะนั้นจะใช้ได้หรือไม่ต้องใช้วิศวกรรมเคมี วิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ นอกจากนี้ต้องใช้วิศวกรรมโทรคมนาคมเข้ามาช่วยในการตรวจสอบอีกครั้ง ระบบในการควบคุมต้องใช้วิศวกรรมระบบควบคุม และทั้งหมดเป็นศาสตร์ชั้นสูงทั้งสิ้น วันนี้ขอขอบคุณที่ให้โอกาสคนไทยได้เสริมสร้างความสามารถตรงนี้ขึ้นมา”
นอกจากนี้ ศ.ดร.สุชัชวีร์ ยังเผยต่ออีกว่าทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.ได้พัฒนาจนสามารถทำให้ยานเกราะน้ำหนักเบาขึ้น ขับเคลื่อนได้ง่ายขึ้น จู่โจมได้หลายทิศทาง สามารถแปลงเป็นหน่วยบรรเทาสาธารณภัยได้ ด้วยการพัฒนาจากเทคโนโลยีนาโนชั้นสูง รวมกับการใช้เทคโนโลยีโทรคมนาคมที่ทันสมัย ยานเกราะที่กำลังพัฒนาในขณะนี้ได้ศึกษายานเกราะต่างๆ ดีไซน์และออกมาแล้วแยกชิ้นส่วน จากนั้นทำการวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียออกมา แล้วแปรจุดด้อยนั้นให้เป็นจุดแข็งของการพัฒนาของเรา ตัวม๊อคอัพในตอนนี้ใช้คณิตศาสตร์ชั้นสูงในการคำนวณว่ารูปแบบไหนที่สมบูรณ์ที่สุด เกราะนี้สามารถรับแรงระเบิด แรงปะทะได้ทุกทิศทางตรงนี้สามารถทำใช้ได้เอง และสามารถจดสิทธิบัตรเป็นของเราได้ด้วย ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในระยะเวลาอันใกล้กองทัพไทยจะมียานเกราะที่เราสามารถผลิตใช้ในประเทศของเราเอง และอีกประการที่สำคัญคือ กว่าจะประสบความสำเร็จได้นั้นจะต้องมีการวิจัยพัฒนาและทดสอบมาก่อน
อีกองค์กรหนึ่งที่มีความสำคัญในการร่วมพัฒนายานเกราะครั้งนี้ คือ สถาบันยานยนต์ เป็นองค์กรอิสระซึ่งก่อตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี โดยความร่วมมือของภาครัฐ และเอกชน จัดตั้งขึ้นโดยกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ และเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขัน ในตลาดโลกให้มีความคล่องตัวในการดำเนินงาน และมีความเป็นอิสระในตัวเองเท่าที่กฎหมายจะเอื้ออำนวย ดร.ปฏิมา จีระแพทย์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวถึงการพัฒนามาตรฐานยานยนต์ตามหลักสากล เพื่อการใช้งานในประเทศและส่งออก ว่า “ปัจจุบันการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ โดยเฉพาะรถกระบะ ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 15 ของโลก นี่เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลใน พ.ศ. 2554 และในปี 2555 ประเทศไทยอยู่ในอันดับท๊อปเทนแล้ว ในปีที่ผ่านมามีการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ โดยเฉพาะรถกระบะถึง 2,450,000 คัน และตัวเลขการส่งออกรถยนต์สูงขึ้น 40% ของการผลิตทั้งหมด เรามีการวางแผนคาดการณ์ (Projection) เพื่อรองรับการพัฒนาต่อไปในประเทศไทยทั้งรถยนต์และรถกระบะ ทั้งนี้สามารถเห็นการเติบโตของการผลิตที่โตขึ้นโดยลำดับตั้งแต่ช่วง 2549 ยอดการผลิตรถยนต์ของปี 2556 ไม่ควรน้อยกว่าปีที่ผ่านมาหรืออาจจะมากกว่า 2 ล้านคันขึ้นไป และสูงขึ้นอีก 50 % แผนการพัฒนารถยนต์ของเราในขณะนี้ใช้แผนระบบฉบับที่ 3 ของไทย และจะสร้างการผลักดันให้ดีขึ้น
...ในส่วนของยานเกราะนั้นที่ผ่านมาประเทศไทยมีการนำเข้ายานเกราะถึง 1,500 ล้านบาท ประเทศที่เรานำเข้ามากที่สุดคือ ประเทศยูเครน และสหรัฐอเมริกา ในเรื่องการส่งออกมีมูลค่า 40 ล้านบาท ถ้าเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ค่อนข้างจะหนักมาก เราจึงอยากมีส่วนร่วมในการพัฒนายานเกราะ ไม่ว่าจะใช้เองในประเทศหรือจะผลิตขึ้นเพื่อส่งออก เรื่องของการวิเคราะห์โอกาสเออีซีที่กำลังจะมาถึงในอีก 2 ปีข้างหน้า ผมคิดว่าเป็นการดีที่มีความร่วมมือกันในอาเซียน เพราะส่งประโยชน์กับการพัฒนาของกองทัพไทยกับต่างประเทศ ปัจจุบันไทยมีบริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ 4,000 กว่าราย ดังนั้นเราสามารถพัฒนาและสร้างประโยชน์ในการเสริมความรู้ศักยภาพ ทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ประสานงานองค์ความรู้จากต่างประเทศให้แก่บริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์”
จะเห็นได้ว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย มีศักยภาพและความพร้อมเป็นอย่างมาก ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมและให้การสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยเราในด้านยานเกราะ และเชื่อว่าหลังจากนี้ ด้วยความร่วมมือร่วมใจกันของทุกภาคส่วนจะทำให้การพัฒนายานเกราะเพื่อการพึ่งพาตนเองของไทยอย่างยั่งยืน รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะขยายไปสู่ความร่วมมือในระดับอาเซียน