กรุงเทพฯ--1 มี.ค.--กสทช.
ตื่นแล้ว! สำนักงาน กสทช. ตั้งคณะทำงานศึกษาการประกอบกิจการดาวเทียมสื่อสารไอพีสตาร์ ของบริษัทไทยคม จำกัด (มหาชน) กำหนดหาคำตอบแนวทางการอนุญาตประกอบกิจการใน 30 วัน สังคายนาปัญหาการเป็นดาวเทียมนอกสัญญาสัมปทาน
รายงานข่าวจากสำนักงาน กสทช. แจ้งว่า เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เลขาธิการ กสทช. นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ได้มีคำสั่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาเกี่ยวกับกรณีดาวเทียมไอพีสตาร์ (IP STAR) ของบริษัทไทยคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีสถานะของการประกอบกิจการที่ชัดเจน โดยจะพิจารณาทั้งในส่วนข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เพื่อหาแนวทางปฏิบัติที่จะต้องดำเนินการต่อไป โดยเฉพาะในเรื่องการออกใบอนุญาตการประกอบกิจการ เนื่องจากตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 กำหนดไว้ชัดเจนว่า กิจการโทรคมนาคมนั้นรวมถึงกิจการซึ่งให้บริการดาวเทียมสื่อสารด้วย ทำให้การให้บริการดาวเทียมสื่อสารในปัจจุบันอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. ซึ่งจะต้องมีการขออนุญาตประกอบกิจการ
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า การดำเนินการดังกล่าวของสำนักงาน กสทช. เกิดขึ้นภายหลังจากที่นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ได้ทำหนังสือถึงสำนักงาน กสทช. และประธาน กสทช. แจ้งถึงกรณีปัญหาของเรื่องนี้ ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเคยมีคำพิพากษาชี้ว่า ดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมที่อยู่นอกสัญญาสัมปทาน โดยไม่เป็นดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม 3 และไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อการสื่อสารภายในประเทศตามวัตถุประสงค์ของสัญญาสัมปทาน ดังนั้นจึงเห็นควรมีการเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยมีประเด็นสำคัญที่จะต้องพิจารณาก็คือ การให้บริการในปัจจุบันของไอพีสตาร์ที่ใช้วงโคจรของประเทศไทยถือเป็นการดำเนินการที่ผิดกฎหมายหรือไม่ และ กสทช. จะพิจารณาออกใบอนุญาตให้บริษัทได้หรือไม่
ทั้งนี้ ตามหนังสือของ กสทช. ประวิทย์ ระบุว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ตัดสินกรณีดังกล่าวในคดีที่อัยการสูงสุดกล่าวหาพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร และพวก ตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 แต่ปรากฏว่าดาวเทียมไอพีสตาร์ยังคงให้บริการอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบัน โดยใช้วงโคจรที่ 119.5 องศาตะวันออก และไม่เคยมีการยื่นขออนุญาตเข้ามาแต่อย่างใด
กรณีนี้จึงเป็นอีกกรณีสำคัญที่จะต้องจับตาดูกันต่อไปว่า กสทช. จะตัดสินใจในแนวทางใดเพื่อแก้ปัญหาการให้บริการของไอพีสตาร์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งคาดว่าน่าจะมีการพิจารณาในราวปลายเดือนมีนาคม เนื่องจากตามคำสั่งของเลขาธิการ กสทช. กำหนดระยะเวลาปฏิบัติงานของคณะทำงานไว้ 30 วัน