กรุงเทพฯ--1 มี.ค.--สหวิริยาสตีลอินดัสตรี
ไตรมาส 4/2555
- รายได้ขายและบริการ 17,599 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์รายไตรมาส
- ปริมาณขายเหล็ก 811 พันตัน จากเหล็กแผ่นรีดร้อน 647 พันตัน และเหล็กแท่งขายลูกค้าภายนอก 164 พันตัน หรือ ร้อยละ 25 ของปริมาณขายเหล็กแท่งรวม
ประจำปี 2555
- รายได้ขายและบริการ 60,604 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพิ่มจากปี 2554 ร้อยละ 26
- โรงถลุงเริ่มผลิตล่าช้า-ต้นทุนผลิตสูงช่วงเริ่มผลิต-ขาดทุนราคาเหล็ก มีผลขาดทุน 15,903 ล้านบาท
- ยอดขายผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มพิเศษ ร้อยละ 37 ปริมาณขายเพิ่มขึ้นเป็น 803 พันตัน
- อุปกรณ์ PCI โรงงานเอสเอสไอ ทีไซด์ เริ่มใช้ไตรมาส 2/2556 ลดต้นทุน 30 เหรียญสหรัฐต่อตัน
- เพิ่มทุนและขายทรัพย์สินได้เงินแล้ว 7,752 ล้านบาท เดินหน้าระดมครบเป้า 13 พันล้านบาท
- สเกลธุรกิจใหญ่ขึ้น-ต้นทุนลด-มาร์จิ้นเพิ่ม หนุนธุรกิจโตรับตลาดเหล็กดีปี 2556
- ตลาดเหล็กกลับสู่ปกติ แนวโน้มราคาขาขึ้น ปี 2556 ความต้องการในประเทศ 17.5 ล้านตัน
บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ เอสเอสไอ รายงานผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 4 ปี 2555 ว่า บริษัทฯและบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายและบริการ 17,599 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 13,008 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ 35 จากงวดเดียวกันของปีก่อน เป็นรายได้รายไตรมาสสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากการขายเหล็กรวม 811 พันตัน ประกอบด้วย 1) เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน 647 พันตัน ซึ่งเป็นปริมาณขายสูงสุดเป็นอันดับสองรองจากไตรมาส 1/2553 และ 2) เหล็กแท่งแบนที่ขายบุคคลภายนอก 164 พันตัน หรือ คิดเป็นร้อยละ25 จากปริมาณขายเหล็กแท่งแบนทั้งหมด มี EBITDA ติดลบ 2,078 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสุทธิ จำนวน 3,259 ล้านบาท เทียบกับขาดทุนสุทธิ 4,782 ล้านบาทในไตรมาส 3/2555 และ EBITDA ติดลบ1,985 ล้านบาท ขาดทุน 2,376 ล้านบาทในไตรมาส 4/2554
สำหรับผลการดำเนินงานงวด 1 ปี 2555 บริษัทฯและบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายและบริการรวม 60,604 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 47,975 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 26 และมีผลขาดทุนสุทธิ จำนวน 15,903 ล้านบาท เทียบกับขาดทุนสุทธิ 981 ล้านบาทในปี 2554
สาเหตุที่การดำเนินงานของบริษัทมีผลขาดทุน เนื่องจากความล่าช้าของการเริ่มดำเนินการผลิตของธุรกิจโรงถลุงเหล็ก ต้นทุนการผลิตของโรงถลุงเหล็กยังสูงเนื่องจากการผลิตยังไม่ถึงระดับที่เหมาะสม การลดลงของราคาเหล็กในตลาดโลกทำให้ขาดทุนจากมูลค่าสินค้าลดลง และ การตั้งสำรองจากภาระผูกพันตามสัญญาซื้อวัตถุดิบ แต่ท่ามกลางตลาดที่ท้าทายนี้บริษัทสามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด สร้างยอดขายได้สูงกว่าปี 2554 ถึงร้อยละ 26 เนื่องจากเริ่มได้รับผลประโยชน์ร่วมจากการเชื่อมโยงกับธุรกิจต้นนํ้า หรือ โรงงานเอสเอสไอ ทีไซด์
ธุรกิจเหล็กแผ่นรีดร้อน มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 48,470 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 29 จากปีก่อน ขาดทุนสุทธิ1,655 ล้านบาท มียอดขายผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มพิเศษ (Premium Value Product) ร้อยละ 37 ส่วนธุรกิจโรงถลุงเหล็ก ขาดทุนสุทธิ 14,194 ล้านบาท เนื่องจากผลผลิตยังต่ำ ธุรกิจท่าเรือน้ำลึก กำไรสุทธิ 155 ล้านบาท ธุรกิจวิศวกรรมและซ่อมบำรุง กำไรสุทธิ 45 ล้านบาท ธุรกิจเหล็กแผ่นรีดเย็น กำไรสุทธิ 192 ล้านบาท
นายวิน วิริยประไพกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสเอสไอ กล่าวว่า "ปี 2555 เป็นปีที่ยากลำบากมากสำหรับอุตสาหกรรมเหล็กทั่วโลก สืบเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลก บริษัทเหล็กและเหมืองแร่ทั่วโลกต่างประสบภาวะขาดทุนกันถ้วนหน้า ซึ่งเป็นช่วงจังหวะที่ไม่ดีสำหรับการเริ่มต้นการผลิตโรงถลุงของเรา บริษัทฯประสบภาวะขาดทุนหนักจากค่าใช้จ่ายก่อนเริ่มผลิต ผลผลิตต่ำในช่วงเริ่มผลิต และขาดทุนราคาเหล็ก แต่อย่างไรก็ตาม เราสามารถทำยอดขายเหล็กแผ่นรีดร้อนได้สูงมาก โดยเฉพาะในครึ่งปีหลัง และสามารถขยายส่วนแบ่งตลาดได้มาก การผลิตที่โรงงานทีไซด์และโรงงานบางสะพานแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ และเราเริ่มเห็นผลประโยชน์ร่วมจากการเชื่อมโยงธุรกิจแนวดิ่งแล้ว
นอกเหนือจากนั้น บริษัทฯได้รับการสนับสนุนจากผู้มีส่วนได้เสียและพันธมิตรเป็นอย่างดี จนถึงวันนี้บริษัทฯได้ระดมทุนถึง 6,184 ล้านบาทจากการขายหุ้นเพิ่มทุนและ 1,568 ล้านบาทจากการขายทรัพย์สิน และบริษัทฯจะเดินหน้าดำเนินการตาม"แผนการเพิ่มทุนและจัดโครงสร้างทางการเงินแบบเบ็ดเสร็จ" เพื่อระดมทุนเพิ่มเติมและเสริมความแข็งแกร่งทางการเงินต่อไป
หลังจากปลายปีที่ผ่านมา ตลาดเหล็กปัจจุบันกลับมาเป็นขาขึ้นหลังจากซบเซามานาน 6 เดือน ภาวะปัจจัยภายนอกดี - ความต้องการใช้เหล็กในประเทศสูง อุตสาหกรรมเหล็กมีมาร์จิ้นดีขึ้นปีนี้ ในขณะที่เรามีปัจจัยภายใน 3 รายการใหญ่ๆที่จะขับเคลื่อนบริษัทฯไปในทางบวกในปีนี้ 1) สเกลธุรกิจที่ใหญ่ขึ้น จากการใช้กำลังการผลิตสูงขึ้นที่โรงงานทั้ง 2 โรง 2) ต้นทุนการผลิตเหล็กแท่งที่จะลดลง หลังโครงการ PCI เริ่มใช้งานในไตรมาส 2 3) มาร์จิ้นสูงขึ้น จากสัดส่วนสูงขึ้นของผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มพิเศษ" นายวินกล่าว
บริษัทคาดการณ์ว่าการบริโภคเหล็กในปี 2556 จะปรับตัวสูงขึ้นจากความชัดเจนของมาตรการแก้ไขการคลี่คลายปัญหาเศรษฐกิจโลก สถาบันเหล็กโลก (World Steel Association: WSA) ได้ประเมินว่า ในปี 2556 ความต้องการเหล็กของโลกจะขยายตัวร้อยละ 3.2 หรือเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 1,455 ล้านตัน โดยจีนจะยังคงเป็นผู้บริโภคเหล็กรายใหญ่ของโลก โดยภูมิภาคอาเซียนนั้น คาดการณ์อัตราการเติบโตของปริมาณการใช้เหล็กร้อยละ 3.3 หรือเพิ่มขึ้นเป็น 56.5 ล้านตัน ส่วนอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศนั้น สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย (ISIT) คาดการณ์ว่าความต้องการเหล็กในประเทศในปี 2556 จะขยายตัวในอัตรา ร้อยละ 7.2 หรือมีความต้องการประมาณ 17.5 ล้านตัน โดยความต้องการของเหล็กทรงแบนที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์จะเพิ่มขึ้น จากนโยบายรถคันแรกของรัฐบาลที่ยังมีรถยนต์ค้างส่งมอบ และในส่วนของเหล็กสำหรับการก่อสร้าง คาดว่ามีความต้องการเพิ่มขึ้นเนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการก่อสร้างจะมีการขยายตัวตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของภาครัฐ
เกี่ยวกับเอสเอสไอ
บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ เอสเอสไอ เป็นผู้ผลิตเหล็กครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยกำลังการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนสูงสุด 4 ล้านตันต่อปี โดยมุ่งเน้นการนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เหล็กแผ่นชั้นคุณภาพพิเศษเพื่อรองรับความต้องการใช้เหล็กที่เพิ่มขึ้นของภูมิภาค สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ พลังงาน การขนส่ง และการก่อสร้างบริษัทมีการลงทุนร้อยละ 100 ในบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี ยูเค จำกัด (SSI UK) ซึ่งเป็นโรงงานถลุงเหล็กและผลิตเหล็กกล้าครบวงจรที่ทันสมัยในเขต Teesside ตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอังกฤษ มีกำลังการผลิต 3.6 ล้านตันต่อปีในการผลิตเหล็กแท่งแบนซึ่งเป็นวัตถุดิบต้นน้ำของบริษัท นอกจากนี้ บริษัทมีการร่วมลงทุนในโครงการต่อเนื่องปลายน้ำที่สำคัญ ประกอบด้วยบริษัท เหล็กแผ่นรีดเย็นไทยจำกัด (มหาชน) (TCRSS) ซึ่ง เป็นผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดเย็น รายแรกและรายใหญ่ที่สุด ของประเทศไทย บริษัท เหล็กแผ่นเคลือบไทย จำกัด (TCS) ผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีด้วยกรรมวิธีทางไฟฟ้ารายแรกและรายใหญ่ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โรงงานทั้งหมดในประเทศไทยของกลุ่มเอสเอสไอ ตั้งอยู่บนชายฝั่งด้านตะวันตกของอ่าวไทย ณ อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครเพียง 400 กิโลเมตร และเป็นทำเลยุทธศาสตร์ที่ดีที่สุดในประเทศสำหรับการดำเนินธุรกิจเหล็กแบบครบวงจร บริษัท ท่าเรือประจวบ จำกัด (PPC) ให้บริการท่าเรือพาณิชย์เอกชน ที่มีความลึกที่สุดในประเทศไทยรองรับการขนถ่ายวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์เหล็กได้ในปริมาณมาก นอกจากนี้ เอสเอสไอยังขยายขีดความสามารถในงานวิศวกรรมบริการโดยลงทุน 100% ในบริษัท เวสท์โคสท์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (WCE) ให้บริการงานด้านวิศวกรรมและซ่อมบำรุง รวมถึงการออกแบบทางวิศวกรรมที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจเหล็ก พนักงานของเอสเอสไอทุกคนมีความมุ่งมั่น และพลังขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จ ซึ่งสะท้อนผ่านวิสัยทัศน์พันธกิจของบริษัท “สร้างสรรค์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์เหล็กและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มกับลูกค้า สร้างกำไรสม่ำเสมอ สร้างผลตอบแทนแก่ผู้มีส่วนได้เสียอย่างยั่งยืน”
ท่านสามารถสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.ssi-steel.com
ท่านสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
สำนักประชาสัมพันธ์ บมจ.สหวิริยาสตีลอินดัสตรี
คุณผดุงศักดิ์ คุณศศิวัฒน์ คุณจันทน์กฤดา และคุณรวิภัทร
โทรศัพท์ 02- 238-3063 ต่อ 1302 และ1309