กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--Sphere Commm
ดร.พรชัย มงคลวนิช อธิการบดี มหาวิทยาลัยสยาม เปิดเผยว่า “ด้วยความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัย ในการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพและผลิตบุคลากรที่มีศักยภาพสู่สังคมไทยมากกว่า 40 ปี ได้ตระหนักถึงความรับผิดชอบด้านการศึกษามาโดยตลอด มหาวิทยาลัยมีรากฐานที่พัฒนามาจากด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต่อมาด้วยความพร้อมของทรัพยากรทั้งทางด้านกายภาพและด้านบุคลากร จึงขยายขอบเขตการจัดการศึกษาเข้าสู่ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ และประสบความสำเร็จการจัดการเรียนการสอนในคณะพยาบาลศาสตร์ที่เปิดดำเนินการมากกว่า 18 ปี มีนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาไปเป็นพยาบาลวิชาชีพ ประมาณ 1,000 คน ปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้เปิดหลักสูตรเภสัชศาสตร์เพิ่มเติมอีกหลักสูตรหนึ่ง ใช้เวลาศึกษา 6 ปี เพื่อให้การจัดการเรียนการสอน เอื้อประโยชน์และสอดคล้องกับความต้องการของสังคม ทั้งนี้ทุกหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยเปิดสอนได้รับการรับรองจากสภาวิชาชีพ”
ในปีการศึกษา 2556 มหาวิทยาลัยสยามภูมิใจที่จะนำเสนอการเปิดดำเนินการหลักสูตรใหม่คือหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตที่ได้รับการรับรองหลักสูตรจากแพทยสภาให้เปิดรับนักศึกษาได้ ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งที่สองของประเทศที่ได้รับอนุญาติให้จัดการเรียนการสอนเพื่อผลิตบัณฑิตทางการแพทย์
การเปิดการเรียนการสอนในคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยามมองว่า แพทย์เป็นบุคลากรที่มีความจำเป็นมากในปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแพทย์ ทางมหาวิทยาลัยมีการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดคณะแพทย์มาระยะเวลาหนึ่งแล้ว และขณะนี้ได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลตำรวจให้เกียรติรับเป็นสถาบันหลักในการร่วมผลิตบัณฑิตแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ให้เป็นแพทย์ที่มีคุณสมบัติพร้อม สามารถปฏิบัติงานได้จริง มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยนักศึกษาแพทย์ทุกคนจะได้รับการฝึกภาคคลีนิคจาก โรงพยาบาลตำรวจและโรงพยาบาลชุมชนในเครือข่ายของโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะสามารถทำงานได้ในโรงพยาบาลทั้งในเขตเมืองและชุมชน
นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังมองไกลไปถึงการที่ประเทศไทยจะเข้าร่วมเป็นหนึ่งในประชาคมอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ในปี 2558 ดังนั้นสำหรับนักศึกษาทุกคณะรวมทั้งนักศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์จะต้องเตรียมความพร้อมด้านความรู้ความเข้าใจในเรื่องอาเซียน ด้วยการเรียนรู้และเสริมประสบการณ์ด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนจากรายวิชา “อาเซียนในโลกยุคใหม่” ซึ่งได้เชิญผู้สอนที่มีประสบการณ์ความรู้ในเรื่องอาเซียนทั้งจากกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานต่าง ๆ มาร่วมสอนกับคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยด้วย นอกจากนี้ยังเปิดรายวิชาให้นักศึกษาสามารถเลือกเรียน ภาษาในอาเซียน เช่น ภาษาบาฮาซามาเลเซีย ภาษาบาฮาซาอินโดนีเซีย ภาษาพม่า ฯลฯ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ภาษาอังกฤษถือว่าเป็นภาษาสากล มหาวิทยาลัยจึงจัดการเรียนการสอนอย่างเข้มข้น และวัดศักยภาพของการใช้ภาษาอังกฤษด้วยการสอบข้อสอบมาตราฐานสากล เช่น TOEFL ดังนั้นนักศึกษาแพทย์จะได้รับการปูพื้นฐานความรู้ทั่วไปในการก้าวไปสู่ความเป็นอาเซียนก่อนการเรียนรู้ในรายวิชาชีพ ซึ่งจะมีการเสริมความรู้โดยการศึกษาดูงานระบบสาธารณะสุขของประเทศในอาเซียนด้วย
ด้าน พล.ต.ท.นพ.จงเจตน์ อาวเจนพงษ์ นายแพทย์ใหญ่ (สบ 8) โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และอุปนายกแพทยสภา เสริมว่า “จุดมุ่งหมายสำคัญอันดับแรก คือการผลิตแพทย์เพื่อดูแลสุขภาพของคนไทยก่อน ทำอย่างไรที่จะให้ประชาชนของไทยมีสุขภาพที่ดี กินดี อยู่ดี ตรงนี้สำคัญที่สุด เพราะประเทศไทยยังต้องการแพทย์ชนบทอีกมาก แนวทางของโรงพยาบาลตำรวจ คือ การผลิตแพทย์เพื่อรับใช้คนไทย และต้องเป็นแพทย์ที่มีคุณภาพได้มาตรฐานตามสากล ไม่ใช่แค่ผลิตแพทย์ตามมาตรฐานของไทยเท่านั้น เพราะประเทศไทยไม่ได้อยู่เดี่ยวๆ ในโลก โดยเฉพาะในอนาคตอันใกล้เราก็จะเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนด้วย”
นายแพทย์ใหญ่กล่าวทิ้งท้ายว่า “ปัจจุบันประเทศไทย มีแพทย์อยู่ประมาณ 30,000 คน ต่อประชากรของไทย 60 กว่าล้านคน อัตราส่วนแพทย์ 1 คน ต่อประชากร 2,000 คน ถ้าจะให้ดูแลอย่างทั่วถึงต้องมีแพทย์ประมาณ 1 คนต่อ ประชากร 500 คน วิชาแพทย์ยังได้รับความนิยมจากนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งประเทศไทยยังเป็นศูนย์กลางการผลิตแพทย์ที่มีคุณภาพระดับสากล ถ้ามีสถานศึกษาเปิดสอนคณะแพทยศาสตร์มากขึ้น และได้รับการรับรองจากแพทยสภา เราจะสามารถแก้ไขปัญหาขาดแคลนแพทย์ได้ในระดับหนึ่ง ด้วยความพร้อมของโรงพยาบาลตำรวจทั้งด้านบุคลากร(อาจารย์แพทย์)ที่มีประสบการณ์การดูแลนักศึกษาแพทย์มาก่อน และความพร้อมด้านการบริการของโรงพยาบาลที่รองรับผู้ป่วยได้ครอบคลุมทุกสาขาตามเกณฑ์ของแพทยสภา นอกจากนี้ยังมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านนิติเวชศาสตร์ โรงพยาบาลตำรวจจึงมีความยินดีมีส่วนร่วมเป็นโรงพยาบาลหลักในการผลิตแพทย์ของมหาวิทยาลัยสยาม ซึ่งจะมีเอกลักษณ์ตามความเชี่ยวชาญของโรงพยาบาลตำรวจด้วย”
มหาวิทยาลัยสยาม เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชน 1 ใน 5 สถาบันแรกของประเทศไทย ได้รับการริเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2508 และได้สถาปนาอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2516 ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยสยามเปิดดำเนินการสอนในระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษาทั้งหลักสูตรภาษาไทยและหลักสูตรนานาชาติ รวมทั้งสิ้นกว่า 50 หลักสูตร โดยแบ่งออกเป็น 10 คณะ คือ คณะบริหารธุรกิจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ วิทยาลัยนานาชาติ และบัณฑิตวิทยาลัย ได้ผลิตบัณฑิตออกไปรับใช้สังคมแล้วกว่า 69,081 คน
สนใจเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยสยาม ติดต่อขอซื้อใบสมัคร และรับสมัครตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม-15 เมษายน 2556 ที่ศูนย์รับสมัครนักศึกษาใหม่ ชั้น 1 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 19 ทุกวัน เวลา 08.30-16.30 น. สอบถามได้ที่ โทร.0-2867-8088, 0-2457-0068, 0-2868-600 อีเมล admission@siam.edu