กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--M.O.Chic
เกาะติดการประชุม CITES CoP16 ระหว่างวันที่ 3-14 มีนาคม 2556 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เตรียมใช้โอกาสนี้ประกาศจุดยืนด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในภูมิภาค และแสดงศักยภาพในการพัฒนาองค์ความรู้การเพาะพันธุ์พืชและสัตว์ป่าทั้งในเชิงอนุรักษ์และเชิงพาณิชย์ต่อนานาประเทศ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ดีในฐานะประเทศที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และต่อต้านการลักลอบค้าผิดกฎหมาย คาดข้อเสนอไทยต่อที่ประชุมทั้งในส่วนงานด้านอนุรักษ์ การป้องกันปราบปรามการลักลอบค้า และการเจรจาเพื่อลดข้อจำกัดทางการค้า จะได้รับการพิจารณาสนับสนุนจากประเทศภาคีสมาชิก ชี้ผลพลอยได้จากการจัดประชุมช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว
นายมโนพัศ หัวเมืองแก้ว อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า “จากการที่ประเทศไทยได้รับเกียรติจากภาคีอนุสัญญาไซเตส (CITES - The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora) ให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (The 16th Meeting of the Conference of Parties to CITES : CITES CoP16 ) ในระหว่างวันที่ 3 — 14 มีนาคม 2556 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศทั่วโลกในเรื่องความพร้อมด้านต่างๆ และเป็นประเทศซึ่งประสบความสำเร็จในการกำหนดมาตรการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะพืชป่าและสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ทั้งยังได้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงในการปฏิบัติตามระเบียบแห่งอนุสัญญาไซเตส สามารถนำเสนอผลสำเร็จจากมาตรการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าหายากทั้งในเชิงอนุรักษ์และเชิงพาณิชย์”
การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม CITES CoP16 ของไทย ยังส่งผลให้หน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาชนได้เข้าใจถึงกระบวนการและการดำเนินงานของอนุสัญญาในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าและพืชป่าผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศในการควบคุมการค้าสัตว์ป่าและพืชป่ามากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในการควบคุมการนำเข้า/ส่งออก/นำผ่านสินค้าประเภทที่เป็นสัตว์ป่า พืชป่า รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากสัตว์ป่าและพืชป่าให้มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงความร่วมมือในการเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสต่อทางราชการหากพบเห็นกระบวนการลักลอบค้าพืชป่า สัตว์ป่าและผลิตภัณฑ์อย่างผิดกฎหมาย
นายมโนพัศ กล่าวว่า สาระสำคัญประการหนึ่งของการประชุมไซเตสคือการเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกเสนอแก้ไขบัญชีพันธุ์พืชป่าและสัตว์ป่าตามอนุสัญญาไซเตส เพื่อการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่หายาก ตลอดจนการแก้ไขเพื่อให้เอื้อประโยชน์ต่อการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์ที่ยังไม่ถูกคุกคาม ซึ่งการเสนอแก้ไขบัญชีรายชื่อเหล่านั้นจะประสบผลสำเร็จหรือไม่อยู่ที่การสนับสนุนจากประเทศสมาชิก ประเทศไทยจึงใช้โอกาสนี้ยื่นข้อเสนอแก้ไขบัญชีชนิดพันธุ์พืชป่าและพันธุ์สัตว์ป่าตามอนุสัญญาไซเตส เพื่อขอเสียงสนับสนุนการอนุรักษ์พันธุ์พืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ได้แก่ ไม้พะยูง ขณะเดียวกันยังได้เสนอขอลดบัญชีจระเข้น้ำจืด และจระเข้น้ำเค็มเพื่อการค้าระหว่างประเทศให้เป็นไปตามกฎระเบียบของไซเตสอย่างเคร่งครัด
“ประเด็นสำคัญที่ประเทศจะได้ประโยชน์จากการเป็นเจ้าภาพการประชุม CITES CoP16 คือ การแสดงจุดยืนในฐานะสมาชิกที่ดำเนินงานตามอนุสัญญาไซเตสอย่างเคร่งครัด ซึ่งจะทำให้ข้อเสนอของไทยได้รับการรับรองจากภาคี ผลสำเร็จที่ได้รับนอกเหนือจากให้นานาประเทศได้ประจักษ์ว่าประเทศไทยเป็นผู้นำในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ยังช่วยยืนยันเจตนารมณ์ของประเทศไทยในการจัดระเบียบการค้าพันธุ์พืชป่าและสัตว์ป่าระหว่างประเทศให้ถูกต้องตามที่อนุสัญญา CITES กำหนดไว้” นายมโนพัศ กล่าว
ผลสำเร็จที่ประเทศไทยจะได้รับจากการประชุมในครั้งนี้ คือการสนับสนุนให้กระบวนการค้าขายระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าดำเนินไปอย่างราบรื่น โดยสามารถลดข้อจำกัดของกฎระเบียบทางการค้า และสามารถสร้างมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะการส่งออกหนังจระเข้และผลิตภัณฑ์ เดิมนั้นจระเข้เป็นสัตว์อนุรักษ์ในบัญชี 1 ตามอนุสัญญาไซเตส ที่ห้ามทำการค้าโดยเด็ดขาด แต่ด้วยการพัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่องของนักวิชาการไทยทำให้ปัจจุบันไทยสามารถเพาะเลี้ยงจระเข้น้ำจืดและจระเข้น้ำเค็มได้ในปริมาณมากพอที่สามารถทำประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณและสายพันธุ์จระเข้ในธรรมชาติ ประเทศไทยจึงเสนอขอลดบัญชีจระเข้น้ำจืดและจระเข้น้ำเค็มจากบัญชี1มาอยู่บัญชี 2 คือเป็นชนิดพันธุ์ที่ยังไม่ถึงกับใกล้สูญพันธุ์แต่มีความเสี่ยงต่อการใกล้สูญพันธุ์ โดยต้องมีมาตรการควบคุมทางการค้าอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายหรือทำให้ลดปริมาณลงอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าข้อเสนอนี้จะได้รับการรับรองสนับสนุนจากภาคีอนุสัญญาไซเตสในการประชุม CITES CoP16
อีกหนึ่งข้อเสนอด้านการอนุรักษ์ที่คาดว่าจะได้รับการรับรองจากภาคีเช่นกัน คือ การขอขึ้นบัญชีไม้พะยูงให้เป็นชนิดพันธุ์ในบัญชี 2 เพราะปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้พะยูงที่อุดมสมบูรณ์ผืนสุดท้ายของโลกอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยถูกคุกคามจากขบวนการลักลอบตัดไม้อย่างหนัก การขอขึ้นบัญชีไม้พะยูงจะเป็นการควบคุมการค้าไม้พะยูงได้ การขอขึ้นบัญชีไม้พะยูงเพื่อให้เกิดความแน่ใจว่า การค้าระหว่างประเทศจะได้รับความร่วมมือจากนานาประเทศในการควบคุมการค้า การนำเข้าต้องได้รับอนุญาตจากประเทศที่ส่งออก เป็นการป้องกันการลักลอบตัดไม้พะยูงจากพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอยู่ในสภาวะวิกฤตและน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง สำหรับข้อเสนอสุดท้าย คือ มาตรการคุมเข้มระเบียบวิธีการตรวจจับการลักลอบค้างาช้าง นอแรด และเสือโคร่ง โดยได้ดำเนินการอย่างเข้มงวดในการตั้งด่านตรวจจับและปฏิบัติการตรวจค้นมาแล้วอย่างได้ผลเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ การประชุมระดับนานาชาติยังถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของไทยได้ทางหนึ่ง เพราะจะมีผู้คนจากทั่วโลกเดินทางมาเยือนไทยราว 2,000 — 3,000 คน จึงเป็นโอกาสดีที่ไทยจะได้ทำการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาของนานาประเทศ เพื่อไม่ให้ประเทศไทยได้รับการกล่าวหาว่าเป็นแหล่งค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมายจากนานาชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงขอเชิญชวนคนไทยร่วมเป็นเจ้าภาพการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ 16 (The 16th Meeting of the Conference of the Parties to CITES : CITES CoP16) ระหว่างวันที่ 3-14 มีนาคม 2556 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
‘ร่วมอนุรักษ์สัตว์ป่า เพื่ออนาคตของเราที่ยั่งยืน’ และ ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวของการประชุม CITES CoP16 ได้ที่ www.citescop16thai.com