คนอุบลฯร่วมถกแผนผังเมืองใหม่

ข่าวทั่วไป Sunday March 3, 2013 11:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี จัดเวทีชุมชนสังเคราะห์แผนผังเมืองใหม่ใครคือผู้กำหนด สังคมหรือมือที่สาม นักวิชาการแนะดูประวัติศาสตร์เมือง ก่อนออกแบบ และต้องสร้างความสุขไม่เน้นสนองตัณหากลุ่มทุนผลประโยชน์ แนะทำผังเมืองแจกชาวบ้านปะไว้ฝาบ้าน จะมีความรู้และหวงแหนบ้านเมือง เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2556 ที่โรงแรมสุนีย์แกรนด์ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี โดยโครงการสะพาน จากการสนับสนุนของ USAID และชาวบ้านชุมชนเมืองจัดเวทีผ่าประเด็น "ผังเมืองใหม่ใครกำหนด" โดยมีนักวิชาการ ผู้นำชุมชน นักการเมือง และเจ้าหน้าที่สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดอุบลอุบลราชธานีร่วมแสดงความเห็น มีนายกมล หอมกลิ่น เป็นผู้ดำเนินรายการ นายกิตติ เริงวัย นักผังเมืองชำนาญการพิเศษ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงการทำผังเมืองมีกฎหมายกำหนดต้องมีทุกภาคส่วนมาเกี่ยวข้องเพราะถ้าไม่มีภาคประชาชน นักวิชาการ จะถูกต่อต้านไม่ยอมรับจึงต้องผ่านการรับฟังความเห็นจากประชาชน โดยกฎหมายกำหนดต้องทำไม่น้อยกว่า 1 ครั้ง แล้วนำไปปรับปรุง ก่อนปิดประกาศให้คนทั่วไปว่าเห็นด้วยหรือไม่ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน และถ้ามีคนไม่เห็นด้วย สามารถยื่นร้องคัดค้าน แล้วจะนำคำร้องเข้าที่ประชุมระดับจังหวัดพิจารณาตามความเหมาะสม และตามหลักวิชาการ ปัจจุบันการเขียนผังเมือง มีการกำหนดเป็นสี หรือสัญลักษณ์ ตรงนี้ต้องเป็นที่อยู่อาศัย เป็นเขตอุตสาหกรรม สำหรับเรื่องการจราจร จะควบคุมด้วยผังระบบคมนาคม โดยจะมีการกำหนดว่า ปัจจุบันการจราจรมีความหนาแน่นเท่าไหร่ อนาคตสามารถรองรับได้ไหม สำหรับที่อยู่อาศัย ปัจจุบันจังหวัดอุบลราชธานี ประชาชนชอบอาศัยอยู่ในบ้านเดี่ยวร้อยละ 90 ส่วนทาวเฮาส์มีไม่มาก สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด จึงออกแบบให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนอุบลราชธานี ให้มีความหนาแน่นไม่เกิน 12 คนต่อไร่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอื่นตามมา สำหรับขั้นตอนการทำผังเมืองจังหวัดอุบลราชธานี ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนวิเคราะห์วางผังร่างเตรียมนำเข้าที่ประชุมระดับจังหวัดในวันที่ 14 มีนาคมศกนี้ พอทำเสร็จจะเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากประชาชน ด้าน ผศ.ดร.สิทธา เจนศิริศักดิ์ นักวิชาการคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า เมื่อเกิดปัญหามักโทษผังเมืองอย่างเดียว แต่ความเป็นจริงผังเมืองเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมือง มีการกำหนดสีสัดส่วนการใช้ที่ดินเท่าไหร่ ส่วนการออกแบบลงรายละเอียดเป็นหน้าที่ของท้องถิ่น รวมทั้งการกำกับดูแลโดยท้องถิ่น แต่ปัจจุบันจังหวัดอุบลราชธานี มีปัญหา เพราะเมืองมีการเปลี่ยนแปลงมากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาทั้งด้าน เศรษฐกิจ สังคม ทำให้โครงสร้างพื้นฐานปรับตัวรองรับไม่ทัน หน่วยงานทุกหน่วยงานต้องรีบเข้ามาแก้ไขปัญหา แต่ขณะนี้กลับพบมีหลายหน่วยงานที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ แต่ขาดการประสานงานเชื่อมโยงกันอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ผังเมืองก็วางไป ท้องถิ่นก็ทำไป คิดว่าถ้าประชาชนเข้ามามีส่วนในการออกแบบเมืองด้วยจะดีมาก ส่วนการกำหนดรายละเอียดของผังเมืองจะชัดเจนแค่ไหน ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้นำท้องถิ่น ที่มีนโยบายในการพัฒนาท้องถิ่นนั้น หากกำหนดไม่ชัดเจน ผังเมืองทำงานลำบากเช่น ต้องการให้เป็นเมืองสงบเรียบร้อย ก็ออกแบบให้มีรูปแบบเป็นเมืองสงบเรียบร้อย แต่ถ้าต้องการเติบโตทางเศรษฐกิจ เมืองก็จะออกมาอีกรูปแบบหนึ่ง ต้องกำหนดให้ชัดพื้นที่ไหนจะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การออกแบบสภาพบ้านเรือน ถนน ระบบสาธารณูปโภค ก็จะออกแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของเมืองนั้น เช่น วิถีชีวิตคนจังหวัดอุบลราชธานี ชอบอยู่บ้านเดี่ยว ผังเมืองจะออกแบบควบคุมความสูงไม่ให้มีตึกสูงเกินไป เพราะจะกระทบกับบ้านเรือนประชาชน แต่ขณะนี้เมืองกระจายตัวมาก ทั้งเขตอำเภอเมืองอุบลราชธานี และอำเภอวารินชำราบ ทำให้มีปัญหาเรื่องการเดินทาง ต้องใช้พลังงานน้ำมัน ระบบขนส่งมวลชน "ต่างประเทศจะเน้นการออกแบบผังเมืองที่มีความหนาแน่นสูง พอกำหนดสัดส่วนสูง ระบบขนส่งก็อยู่ได้ การเดินทางอยู่ใกล้ที่ทำงาน เดินทางระยะสั้น พลังงานลดลง" เพราะต่างประเทศประชาชนมีส่วนร่วม ถ้าเสนอความคิดที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้อง จะขัดแย้งกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน สังคมไทยต้องมีองค์ความรู้เพื่อทำให้เกิดการมีส่วนร่วมตรงนี้ และทุกภาคส่วนต้องปกป้องผลประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตนหรือพวกพ้อง อาจารย์ด้านวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ยังมองว่า ผังเมืองไทยยังใช้ทฤษฎียุคเก่าไปนับจากการจราจรมาคาดการณ์ความหนาแน่น แล้วไปขยายเมืองรองรับ แต่ยิ่งขยายถนนมาก รถก็เพิ่มขึ้นมาก หน้าที่ผังเมืองไม่ได้ขยายขนส่งมวลชน เพราะเป็นหน้าที่ท้องถิ่น อย่าให้ความสำคัญกับรถยนต์มากกว่าการเดินเท้าและรถจักรยาน สำหรับการสร้างห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ จะก่อให้เกิดปัญหาตามมา เช่น รถติด เพราะในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายประเมินผลกระทบทางด้านการจราจร มีแต่ประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แต่ในต่างประเทศมีกฎหมายนี้ ถ้าประเทศไทยมีกฏหมายฉบับนี้ ทุกการก่อสร้างต้องประเมินหลังสร้างเสร็จ จะมีปัญหาอย่างไร รถเข้า-ออกมากน้อยอย่างไร ปัจจุบันเอกชนจึงทำเอง เช่น สร้างสะพาน เพื่อลดความติดขัดด้านจราจรไม่ให้การทำธุรกิจมีปัญหา ขณะที่นายเต็มบุญ ศรีธัญรัตน์ อดีตนักการเมืองท้องถิ่น พูดถึงเรื่องผังเมืองเป็นเรื่องสำคัญใช้ดูแลความปลอดภัยให้สังคม จัดความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีปฏิบัติ เช่น ใครเป็นผู้กำหนด กำหนดจากอะไร ทั้งการกำหนดตามกฎหมายตั้งแต่ส่วนกลางลงมาท้องถิ่น แต่การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนค่อนข้างน้อย และกรณีการประกาศ เวลาประกาศออกมาแล้ว ประชาชนในพื้นที่ทราบเรื่องจริงหรือไม่ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่ทราบ และการกำหนดสี บางครั้งไม่เป็นธรรม ทั้งการเวนคืนที่ดิน การสร้างตึกอาคารต้องถอยร่นจากถนนไปถึงสามเมตร กฎหมายระบุให้เวนคืนที่ดินด้วยความเป็นธรรม เช่น ชุมชนท่าวังหินในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี ซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุ แต่ประชาชนอาศัยมาเจ็ดสิบปี แล้วให้ออกโดยจ่ายค่าเวรคืนแค่สองหมื่นบาท จึงไม่เป็นธรรม นอกจากนั้นจากการที่ตนไปอ่านกฎหมายได้ระบุไว้ว่าหากประชาพิจารณ์ถามความเห็นประชาชนผ่านให้ประกาศใช้ได้เลย แต่ถ้ามีคนคัดค้านไม่ผ่านล่ะ ไม่ได้ระบุว่าต้องทำอย่างไรต่อ เป็นช่องโหว่ของกฎหมาย นายสุกุล แสงดี ผู้นำชุมชนตำบลโพธิ์ใหญ่ อ.วารินชำราบ กล่าวว่า ผังเมืองมุ่งแต่เรื่องทำถนน จน ลืมเรื่องการบำบัดน้ำเสีย ที่ทิ้งขยะ ต้องการสร้างเมือง แต่ไม่มีที่ทิ้งขยะ เมืองก็เน่า เพราะปัจจุบันจังหวัดอุบลราชธานี มีที่ทิ้งขยะที่เดียว ต้องให้องค์การบริส่วนตำบล และเทศบาลมีเทศบัญญัติควบคุมมลภาวะ ถ้า อบต.เทศบาลไหนไม่มีความรู้เรื่องนี้ ไม่ควรยกระดับหน่วยงานขึ้นไปเรื่อยๆเพราะก่อให้เกิดผลกระทบกับชุมชน นายสมหมาย ชินนาค อาจารย์คณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีผู้เข้าร่วมรับฟังระบุว่าผังเมืองฉบับโยธาธิการดูศักดิ์สิทธิ์ น่าเกรงขาม แต่ลืมมองผ่านมิติทางสังคม คุณสุกุลพูดถูกเรื่องผล กระทบต่อวิถีชีวิตคน อย่างชุมชนท่าบ้งมั่ง น้ำท่วมจะไหม ชาวบ้านทัพไทยเป็นอย่างไร ถ้ามีการทำกระบวนการมีส่วนร่วมให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น การใช้ที่ดินไม่ใช่แค่เรื่องที่ดิน แต่เกี่ยวข้องเรื่องคน "อุบลราชธานีเป็นเมืองชุ่มน้ำ ฤดูน้ำ น้ำขึ้น แต่เดี๋ยวมันก็ไป ต่อไปจะต้องอยู่กับน้ำอย่างไรต้องดูประวัติศาสตร์ทำไมเมืองอุบลราชธานีมาตั้งอยู่ริมน้ำ แล้วจึงวางผังเมืองโดยคำนึงถึงมิติทางธรรมชาติด้วย" ไม่ใช่ใช้วิธีการเทคนิคชั้นสูงอย่างเดียวและเป็นเมืองที่มีมือที่สามเป็นผู้กำหนด จึงเป็นการโตแบบไม่มีทิศทาง ซึ่งมือที่สามชอบ จึงต้องสร้างประเด็นนี้ ให้เป็นมิติทางสังคมเพื่อช่วยกันจับตาดู ขณะที่ประธานหอการค้าจังหวัด นายนิมิต สิทธิไตรย์ ที่เข้าร่วมรับฟังอยู่ด้วยเสนอความเห็นว่า ถ้ามองผังเมืองเป็นมิติเดียว คือ มองถึงลักษณะการใช้สอยของพื้นที่เหมือนในแผนที่ จะเห็นเป็นมิติแบบแบนราบ แต่ความจริง ผังเมืองมีสามมิติ ได้แก่ มิติภูมิประเทศ มิติการต่ำสูงของพื้นที่ มิติการนำมาสู่ความสุขสบาย พื้นที่บางแห่งเป็นที่ลุ่มรับน้ำ แต่ตัวเมืองจริงๆเป็นที่สูง อดีตเรื่องน้ำไม่กระทบเท่าไหร่ เพราะน้ำท่วมรอบนอก ใจกลางเมืองไม่เคยท่วมแต่ตอนนี้น้ำท่วมหมด เพราะน้ำไหลไม่ทัน ระบบผังเมืองย่อมเป็นประโยชน์ในการไหลของน้ำ ตัวแปรที่ทำให้ผังเมืองผิดเพี้ยน คือ ตัวรายละเอียดภายใน เช่นกำหนดเป็นที่อยู่อาศัย แต่ไปอยู่อาศัยแบบหนาแน่นเกินไป ต้องทำผังเมืองแจกประชาชนติดไว้เหมือนปฏิทินทุกบ้าน ถ้าผังเมืองยังเป็นความลับ ประชาชนไม่เข้าใจ ไม่มีส่วนร่วม และไม่หวงแหน ส่วนเรื่องการกำกับผู้บริหารเทศบาลเป็นบุคคลมาจากการเลือกตั้งเป็นตัวแทนที่ทำให้เกิดความสุขแก่พี่น้องประชาชน ต้องกรั่นกรองภายใต้การกำกับดูแล เพราะเชื่อใน 2-3 ปีข้างหน้า จะมีปัญหาเรื่องระบบการจราจรแน่นอน การระบายน้ำเสียจำนวนมากออกจากตัวเมืองลงสู่แม่น้ำมูล หากไม่แก้ไขไม่กำกับดูแลอย่างจริงจัง เมืองนี้มีปัญหาแน่นอน สำหรับเวทีเสวนาครั้งนี้ สามารถติดตามชมได้ทางช่องทีวีดาวเทียม ของดีประเทศไทยเคเบิ้ลทีวีท้องถิ่น ทั้งโสภณเคเบิ้ลทีวี ราชธานีเคเบิ้ล วีเคเบิ้ลทีวี รวมทั้งเสียงผ่านสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันและสถานีวิทยุคลีนเรดิโอ หรือผ่านเว็บไซด์ www.sangsook.net และ App. สื่อสร้างสุข ติดต่อ: สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี 045242654

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ