กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--Spindler & Associates
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูตินรีเวช เผยถึงนวัตกรรมใหม่ในการตรวจวินิจฉัยภาวะครรภ์เป็นพิษ (Preeclmapsia) ด้วยการใช้สารบ่งชี้ภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถตรวจคัดกรองและทราบผลได้ก่อนถึงโอกาสในการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษในสตรีตั้งครรภ์ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เพื่อช่วยให้การวางแผนการดูแลรักษามีประสิทธิภาพและเหมาะสม ทำให้สตรีตั้งครรภ์และทารกมีความปลอดภัยมากขึ้น ถือเป็นการตอบโจทย์ในการดูแลผู้ป่วยครรภ์เป็นพิษซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและเป็นสาเหตุสำคัญของการคลอดก่อนกำหนด โดยอาจทำให้เกิดภาวะทุพพลภาพ รวมทั้งการเสียชีวิตของมารดาและทารกได้
ภาวะครรภ์เป็นพิษอาจพบในสตรีตั้งครรภ์ที่มีสุขภาพดี โดยมีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ อายุน้อยมาก หรือมีอายุมากกว่า 40 ปี ครรภ์แฝด การตั้งครรภ์ครั้งแรก สตรีตั้งครรภ์ที่มีโรคทางอายุรกรรมต่างๆ เช่น ความดันโลหิตสูงเรื้อรัง เบาหวาน และโรคไต และ SLE หรือที่รู้จักกันว่าเป็นโรคแพ้ภูมิตนเอง สามารถเพิ่มโอกาสในการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษมากขึ้น ภาวะครรภ์เป็นพิษมักจะเกิดหลังอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ จนถึง 48 ชั่วโมงหลังคลอด ส่วนใหญ่จะพบภาวะนี้หลังอายุครรภ์ 32 สัปดาห์ โดยสาเหตุของภาวะครรภ์เป็นพิษยังไม่ทราบแน่ชัด แต่หลักฐานทางการแพทย์ส่วนใหญ่บ่งชี้ว่าน่าจะเกิดจากการพัฒนาของรกที่ผิดปกติ และในปัจจุบันยังไม่มีหนทางป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รศ. ดร. นพ. บุญศรี จันทร์รัชชกูล สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารก ศูนย์เวชศาสตร์มารดาและทารกปริกำเนิด โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า “ภาวะความดันโลหิตสูงในสตรีที่ตั้งครรภ์เกิดขึ้นประมาณร้อยละ 5 และโดยปกติแล้วแพทย์จะวินิจฉัยภาวะครรภ์เป็นพิษจากการมีความดันโลหิตสูงร่วมกับการมีโปรตีนในปัสสาวะ จึงถือเป็นการวินิจฉัยที่ทำได้ยาก เนื่องจากอาการทั้งสองไม่ใช่อาการเฉพาะ โดยสามารถพบอาการแสดงที่คล้ายคลึงกับโรคและความผิดปกติอื่นๆ ในบางครั้ง อาการของภาวะครรภ์เป็นพิษ อาจเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากโดยเฉพาะเมื่อใกล้กำหนดคลอด ด้วยเหตุนี้ การตรวจวินิจฉัยที่สามารถทำได้รวดเร็วและมีความแม่นยำ เพื่อช่วยให้แพทย์และผู้ป่วยทราบความเสี่ยงได้ก่อน จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะจะนำไปสู่การให้การรักษาที่มีประสิทธิภาพ และลด ภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นต่อทั้งมารดาและทารก”
“ในปัจจุบัน ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ ได้มีการนำเอาสารบ่งชี้ภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งได้แก่ระดับโปรตีนส่งเสริมการสร้างหลอดเลือด หรือ PIGF และ โปรตีนที่มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างหลอดเลือด หรือ sFlt-1 มาใช้ร่วมกับการวัดการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดที่เลี้ยงมดลูก (Uterine artery) เพื่อตรวจคัดกรองและประเมินความเสี่ยงและความรุนแรงของการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ รวมทั้งใช้ประกอบการวินิจฉัยครรภ์เป็นพิษในรายที่ซับซ้อน โดยหากพบว่ามีความไม่สมดุลระหว่างโปรตีนทั้ง 2 กลุ่มนี้ คือโปรตีนส่งเสริมการสร้างหลอดเลือดมีระดับต่ำลง แต่โปรตีนที่มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างหลอดเลือดมีระดับสูงขึ้น ก็จะทำให้แพทย์ทราบได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ว่าสตรีท่านนั้นอาจมีโอกาสสูงในการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษขึ้น โดยจากการศึกษาในสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษ 71 รายเทียบกับหญิงตังครรภ์ปกติ 268 ราย พบว่าสตรีที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษมีความไม่สมดุลระหว่างโปรตีนดังกล่าวในอัตราส่วนที่สูงกว่าสตรีตั้งครรภ์ปกติ1” รศ. ดร.นพ. บุญศรี กล่าวเสริม
การวินิจฉัยภาวะครรภ์เป็นพิษโดยใช้สารบ่งชี้ภาวะครรภ์เป็นพิษที่กล่าวถึงนี้เป็นการใช้เครื่องวินิจฉัยอัตโนมัติ ที่ให้ผลที่แม่นยำ มีความน่าเชื่อถือ และยังมีความไวในการพบสูงมาก โดยสามารถตรวจได้ตั้งแต่อายุครรภ์ที่ 20 สัปดาห์ ทำให้แพทย์สามารถประเมินความเสี่ยงได้ก่อนและดูความรุนแรงของโรคพร้อมทั้งวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ในกรณีที่อาการยังไม่รุนแรง แพทย์สามารถ รอดูอาการของทั้งมารดาและทารก และให้การตั้งครรภ์ดำเนินต่อไปได้ สำหรับในกรณีที่อาการรุนแรง แพทย์จะรับสตรีตั้งครรภ์เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล เพื่อให้การดูแลอย่างใกล้ชิด หากการดำเนินโรค รุนแรงขึ้นและจะเป็นอันตราย แพทย์อาจจะวินิจฉัยให้สิ้นสุดการตั้งครรภ์ เพื่อความปลอดภัยของมารดา และทารก เนื่องจากในปัจจุบัน การสิ้นสุดการตั้งครรภ์เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพเพียงวิธีเดียวในการรักษาครรภ์เป็นพิษ และหากไม่พบความผิดปกติใดๆ จากการตรวจวินิจฉัยนี้ก็จะทำให้สตรีนั้นไม่ต้องรับการรักษาอื่นที่ไม่จำเป็น ซึ่งรวมถึงการสิ้นสุดการตั้งครรภ์ที่ไม่จำเป็น และทำให้ทารกเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการคลอดก่อนกำหนด
“สิ่งสำคัญที่สุดในการให้การรักษาภาวะครรภ์เป็นพิษก็คือการให้ทารกอยู่ในครรภ์มารดาให้นาน ที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อให้ทารกมีการเจริญเติบโตและพัฒนาได้อย่างเต็มที่ โดยมารดาจะต้อง ปลอดภัยจากภาวะแทรกซ้อนของภาวะครรภ์เป็นพิษ โดยเฉพาะในกรณีที่อายุครรภ์น้อยมาก แต่ละวันที่ทารกอยู่ในครรภ์มารดาจะเพิ่มโอกาสของการรอดชีวิตและลดภาวะแทรกซ้อนของทารกหลัง คลอดได้อย่างมาก การใช้โปรตีนทั้ง 2 ตัวมาช่วยในการวินิจฉัยจึงถือเป็นเครื่องมือสำคัญให้แพทย์ติดตามอาการและวางแผนการดูแลรักษาภาวะครรภ์เป็นพิษได้ดีขึ้น เมื่อเทียบกับการวางแผนการรักษา โดยดูจากความดันโลหิตและระดับโปรตีนในปัสสาวะเท่านั้น” รศ. ดร. นพ. บุญศรี กล่าว
ในปัจจุบัน ได้กำหนดว่าสตรีตั้งครรภ์ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษมีดังต่อไปนี้ มีอายุมากกว่า 40 ปี เป็นการตั้งครรภ์ครั้งแรกหรือมีระยะห่างระหว่างการตั้งครรภ์มากกว่า 10 ปี มีประวัติของการเป็นภาวะครรภ์เป็นพิษในครอบครัว มีค่า BMI มากกว่า 30 kg/m2 มีครรภ์แฝด มีโรค ทางหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูงเรื้อรัง โรคไต โรคเบาหวาน ในสตรีตั้งครรภ์ที่มีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยภาวะครรภ์เป็นพิษตามคำแนะนำของแพทย์
References:
1. Verlohren, S., Galindo, A., Schlembach, D., Zeisler, H., Herraiz, I.,Moertl, M. G., et al. (2009). An automated method for the determination of the sFlt-1/PIGF ratio in the assessment of preeclampsia. Am J Obstet Gynecol. 202(2):161.e1-161.e11.