กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--นิด้าโพล
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ทำนายผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 2556” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 26 — 28 กุมภาพันธ์ และ 1 มีนาคม 2556 จากประชาชน ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ทั้ง 50 เขต จำนวน 2,517 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกระดับการศึกษา ทุกอาชีพ โดยมีความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (S.E.) ไม่เกิน ร้อยละ 3.7
จากการสำรวจ เมื่อถามว่า “หากวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง ท่านจะเลือกใครเป็นผู้ว่า กทม.” พบว่า คนกรุงเทพฯ ที่ตั้งใจจะไปใช้สิทธิและตัดสินใจได้แล้วว่าจะเลือกใคร ร้อยละ 43.16 ระบุว่า จะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าฯ กทม. รองลงมา ร้อยละ 41.45 จะเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ร้อยละ 8.72 จะเลือก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวศ ร้อยละ 2.92 จะเลือก นายสุหฤท สยามวาลา ร้อยละ 1.21 จะเลือก นายโฆษิต สุวินิจจิต ร้อยละ 0.32 จะเลือก ผู้สมัครอิสระ อื่นๆ เช่น นายณัฐดนัย ภูเบศร์อรรถวิช นายสมิตร สมิทธินันท์ นายจำรัส อินทุมาร และมีเพียงร้อยละ 2.23 ที่ระบุว่าไม่ลงคะแนนเสียง ไม่เลือกใคร (Vote NO)
เมื่อวิเคราะห์จำแนกตามพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร มีคะแนนความนิยมสูงกว่าผู้สมัครรายอื่นๆ ในเขตพื้นที่ กรุงเทพฯ กลาง, กรุงเทพฯ ใต้, และกรุงเทพฯ ฝั่งธนฯ เหนือ ส่วน พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ มีคะแนนความนิยมสูงกว่าผู้สมัครรายอื่นๆ ในเขตพื้นที่ กรุงเทพฯ เหนือ, กรุงเทพฯ ตะวันออก, และกรุงเทพฯ ฝั่งธนฯ ใต้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับผลการสำรวจในครั้งนี้เพิ่มเติมว่า “ผลการสำรวจครั้งนี้ เรียกได้ว่า ใกล้เคียงกันอย่างชนิดที่เรียกว่า “สามารถสะบัดเหงื่อใส่กันได้” จนยากที่จะฟันธงได้ว่าใครจะเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้
จากผลการสำรวจครั้งนี้หากมีผู้ไปใช้สิทธิ์ ตั้งแต่ร้อยละ 55 ขึ้นไป ผู้ที่มีคะแนนเป็นอันดับ 1 จะได้คะแนนถึง 1 ล้านคะแนน โดยที่ผลการสำรวจครั้งนี้ระบุว่าผู้ชนะอันดับหนึ่งและสอง ห่างกัน ร้อยละ 2 เชื่อว่าคะแนนจะห่างกัน ประมาณ 35,000-47,000 คะแนน (ผู้มาใช้สิทธ์เลือกตั้ง ร้อยละ 50 - 60) แต่ถ้าห่างกันประมาณ ร้อยละ 5 เนื่องจากมีความคลาดเคลื่อนที่ บวกลบ ร้อยละ 3 จะทำให้ผู้สมัคร ที่มาเป็นอันดับหนึ่งห่างจากผู้ที่มาอันดับสองอยู่ ระหว่าง 100,000-130,000 คะแนน”
การแบ่งพื้นที่ในการสำรวจ แบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ดังนี้
1. กลุ่มกรุงเทพฯ กลาง 9 เขต ได้แก่ เขตดินแดง เขตดุสิต เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตพญาไท เขตพระนคร เขตราชเทวี เขตวังทองหลาง เขตสัมพันธวงศ์ และเขตห้วยขวาง
2. กลุ่มกรุงเทพฯ ใต้ 10 เขต ได้แก่ เขตคลองเตย เขตบางคอแหลม เขตบางนา เขตบางรัก เขตปทุมวัน เขตพระโขนง เขตยานนาวา เขตวัฒนา เขตสวนหลวง และเขตสาทร
3. กลุ่มกรุงเทพฯ เหนือ 7 เขต ได้แก่ เขตจตุจักร เขตดอนเมือง เขตบางเขน เขตบางซื่อ เขตลาดพร้าว เขตสายไหม และเขตหลักสี่
4. กลุ่มกรุงเทพฯ ตะวันออก 9 เขต ได้แก่ เขตคลองสามวา เขตคันนายาว เขตบางกะปิ เขตบึงกุ่ม เขตประเวศ เขตมีนบุรี เขตลาดกระบัง เขตสะพานสูง และเขตหนองจอก
5. กลุ่มกรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรีเหนือ 8 เขต ได้แก่ เขตคลองสาน เขตจอมทอง เขตตลิ่งชัน เขตทวีวัฒนา เขตธนบุรี เขตบางกอกน้อย เขตบางกอกใหญ่ และเขตบางพลัด
6. กลุ่มกรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรีใต้ 7 เขต ได้แก่ เขตทุ่งครุ เขตบางขุนเทียน เขตบางแค เขตบางบอน เขตภาษีเจริญ เขตราษฎร์บูรณะ และเขตหนองแขม