กรุงเทพฯ--4 มี.ค.--อีสานโพล
อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง "คนอีสานกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด” โดยผลสำรวจพบว่า ผลแพ้ชนะศึกผู้ว่าฯ กทม. ไม่ส่งผลต่อความรู้สึกคนอีสานส่วนใหญ่ โดยชื่อของ พล.ต.อ. พงศพัศได้รับการเสนอชื่อมากกว่า ม.ร.ว สุขุมพันธุ์ เท่าตัว นอกจากนี้คนอีสานเริ่มตื่นตัวกับการมีผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้ง
ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล เปิดเผยว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจทรรศนะคติของประชาชนในภาคอีสานกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 2-3 มีนาคม 2556 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,210 ราย อายุ 18 ปีขึ้นไป ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ หนองคาย ชัยภูมิ เลย อุบลราชธานี อุดรธานี นครพนม หนองบัวลำภู สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และบึงกาฬ
เมื่อถามว่า “ผลแพ้ชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จะมีผลต่อความรู้สึกของท่านหรือไม่” พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 75.0 ตอบว่าไม่มีผล ขณะที่อีกร้อยละ 25.0 ตอบว่ามีผล ทั้งนี้ เมื่อแยกตามการอยู่อาศัย พบว่า ผู้ที่อยู่อาศัยในเขตเมือง จะได้รับผลทางความรู้สึก ร้อยละ 30.4 และไม่มีผลร้อยละ 69.6 ส่วนผู้ที่อยู่อาศัยในเขตชนบท ส่วนใหญ่ ร้อยละ 78.0 ตอบว่าไม่มีผลต่อความรู้สึก ขณะที่เพียงร้อยละ 22.0 ตอบว่ามีผล
เมื่อถามต่อว่า “ท่านคิดว่าผู้สมัครคนใดเหมาะที่จะเป็นผู้ว่าฯ กทม.” (โดยให้ผู้ตอบเสนอชื่อเอง) พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 51.2 ตอบว่าไม่แน่ใจหรือไม่รู้จักชื่อผู้สมัคร รองลงมาร้อยละ 32.9 ที่คิดว่า พล.ต.อ. พงศพัศ มีความเหมาะสม ตามมาด้วยร้อยละ 12.4 ที่เสนอชื่อ ม.ร.ว สุขุมพันธุ์ และร้อยละ 3.1 พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ และมีเพียงร้อยละ 0.4 ที่เสนอชื่อบุคคลอื่นๆ ทั้งนี้ เมื่อแยกตามการอยู่อาศัย พบว่า ผู้ที่อยู่อาศัยในเขตเมืองเสนอชื่อ พล.ต.อ. พงศพัศ ร้อยละ 26.4 เสนอชื่อ ม.ร.ว สุขุมพันธุ์ ร้อยละ 16.1 และเสนอชื่อ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ ร้อยละ 2.8 สำหรับผู้ที่อยู่อาศัยในเขตชนบท เสนอชื่อ พล.ต.อ. พงศพัศ ร้อยละ 31.8 เสนอชื่อ ม.ร.ว สุขุมพันธุ์ ร้อยละ 13.7 และเสนอชื่อ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ ร้อยละ 3.1
เมื่อถามต่อว่า “ในสภาวะปัจจุบันท่านคิดว่าผู้ว่าฯ ที่มาจากนักการเมือง (เลือกตั้ง) หรือจากข้าราชการ (แต่งตั้ง) จะสามารถพัฒนาจังหวัดได้ดีกว่ากัน” พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 53.8 ตอบว่า นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง รองลงมาร้อยละ 43.9 เลือก ข้าราชการที่มาจากการแต่งตั้ง โดยมีเพียงร้อยละ 2.3 ที่ตัดสินใจไม่ได้ ทั้งนี้ เมื่อแยกตามการอยู่อาศัย พบว่า ผู้ที่อยู่อาศัยในเขตเมืองส่วนใหญ่เลือก พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 51.7 ตอบว่า นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง รองลงมาร้อยละ 44.1 เลือก ข้าราชการที่มาจากการแต่งตั้ง สำหรับผู้ที่อยู่อาศัยในเขตชนบท พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 55.0 ตอบว่า นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง รองลงมาร้อยละ 43.7 เลือก ข้าราชการที่มาจากการแต่งตั้ง
สำหรับเหตุผลที่กลุ่มตัวอย่างคิดว่า ข้าราชการที่มาจากการแต่งตั้ง จะพัฒนาจังหวัดได้ดีกว่า เช่น นักการเมืองโกงกินเยอะกว่า ขณะที่ข้าราชการมีความสามารถ ประสบการณ์ ระบบระเบียบและซื่อสัตย์มากกว่า เป็นต้น ส่วนกลุ่มตัว นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง จะพัฒนาจังหวัดได้ดีกว่า เช่นมีความสามารถและประสบการณ์มากกว่า นโยบายตอบสนองและเข้าถึงประชาชน มีความเป็นกันเองเข้าหาง่าย มาจากการเลือกตั้ง ดึงงบได้มากกว่า และเป็นคนท้องที่ เป็นต้น
"ผลแพ้ชนะการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานครส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของคนอีสานเพียง 1 ใน 4 เนื่องจากกลุ่มคนดังกล่าวอาจมองว่ามันมีความเชื่อมโยงกับการเมืองระดับชาติและพรรคการเมืองที่ตนสนับสนุนอยู่ ขณะที่คนอีสานส่วนใหญ่มองว่าการเลือกตั้งดังกล่าวไม่ได้สร้างผลกระทบและประโยชน์ต่อประชาชนคนอีสานโดยตรง และสังเกตได้จากการที่ประมาณครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างไม่สามารถเสนอชื่อผู้สมัครที่เหมาะสมที่จะเป็นผู้ว่า ฯ กทม. เนื่องจากอาจไม่ได้ติดตามข่าวการเลือกตั้งดังกล่าว อย่างไรก็ตามคนอีสานเกินครึ่ง เริ่มมองว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากนักการเมืองผ่านการเลือกตั้งจะสามารถพัฒนาจังหวัดได้ดีกว่าผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้ง ดังนั้นรัฐบาลควรเริ่มมีนโยบายการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นมากขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมให้จังหวัดสำหรับการเป็น จังหวัดจัดการตนเอง เช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร ใน 5-10 ปีข้างหน้า ซึ่งตอนนี้ก็มีหลายจังหวัดเริ่มตื่นตัวในประเด็นนี้แล้ว เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต สงขลา ปัตตานี อำนาจเจริญ ขอนแก่น เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง และพิษณุโลก เป็นต้น” ดร.สุทิน กล่าวตอนท้าย
หมายเหตุ: นอกเหนือจากผลสำรวจ ซึ่งนำเสนอข้อมูลตามวิธีทางสถิติแล้ว ความคิดเห็นอื่นๆ ในบทความนี้ เป็นความเห็นของผู้รับผิดชอบโครงการ ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น