กรุงเทพฯ--1 มี.ค.--เอแบคโพลล์
โดย ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
“บทความนี้ได้จากการทบทวนเอกสารศึกษาด้านระเบียบวิธีวิจัยเชิงสำรวจและนโยบายสาธารณะจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน มหาวิทยาลัยคอร์แนล และมหาวิทยาลัยจอร์ชทาวน์ สหรัฐอเมริกา หากนักวิชาการและนักศึกษาจะนำไปอ้างอิงในงานวิชาการของตนเองขอให้ระบุแหล่งที่มาของบทความนี้”
การทำโพลล์คือ การเก็บรวบรวมข้อมูลสามประเภทได้แก่ ความรู้สึกนึกคิด พฤติกรรม และข้อเท็จจริงที่จับต้องได้ผ่านระเบียบวิธีวิจัยทางสังคมศาสตร์และหลักสถิติบนพื้นฐานของความเป็นวิทยาศาสตร์ และการทำโพลล์กับการวิจัยเชิงสำรวจคือตัวเดียวกันเหมือนกัน
ถ้าจะทำโพลล์ขึ้นมาสักหนึ่งเรื่องจุดเริ่มต้นอยู่ที่สองส่วนใหญ่ๆ คือ ความสนใจของสาธารณชน และความสนใจของนักทำโพลล์ จากนั้นจะมีการทบทวนผลวิจัยเก่าในอดีตหรือการเริ่มสนทนาพูดคุยกับกลุ่มเป้าหมายเพื่อค้นหาข้อมูลเชิงลึกมากำหนดกรอบของประเด็นเนื้อหาที่จะทำสำรวจตั้งเป็นหัวข้อเรื่องและวัตถุประสงค์การทำโพลล์ขึ้น เช่น ปัจจัยที่มีผลต่อความตั้งใจจะเลือกตั้งผู้ว่า กทม.
จากนั้นจะคิดค้นตัวแปรสำคัญในการศึกษา เช่น ความพอใจของสาธารณชนต่อผลงานในอดีตของผู้สมัคร สถานการณ์ความแตกแยกทางการเมืองในหมู่ประชาชน ท่าทีของชนชั้นนำของสังคม นโยบาย ตัวผู้สมัคร พรรคการเมือง การซื้อเสียง และแม้แต่การพนันขันต่อ เป็นต้น ซึ่งนักทำโพลล์จะคิดถึงวิธีการวัดตัวแปรเหล่านี้และตั้งเป็นคำถามวิจัยโดยมีสมมติฐานเป็นคำตอบที่ยังไม่ผ่านการพิสูจน์และข้อคำถามในแบบสอบถามขึ้นมา จากนั้นจะทำการทดสอบแบบสอบถามเพื่อมั่นใจได้ว่ามีคุณภาพมากเพียงพอ
ในการทำโพลล์เลือกตั้งผู้ว่า กทม.และทุกชิ้นโพลล์ของเอแบคจะมีนักสถิติมาทำการกำหนดขนาดตัวอย่างว่าจำนวนเท่าไหร่ถึงจะมากพอในการวิเคราะห์ การกำหนดขนาดตัวอย่างจะใช้สูตรคำนวนแต่ “ไม่ใช้” ตารางสำเร็จรูปเหมือนอย่างที่นักวิจัยคนไทยนิยมใช้กันทั้งๆ ที่ไม่ทราบว่าตารางสำเร็จรูปนั้นเหมาะกับการเลือก
ตัวอย่างที่เลือกจากบัญชีรายชื่อโดยตรงเพียงชั้นเดียว แต่โพลล์เลือกตั้งผู้ว่า กทม. ที่ต้องให้โอกาสกับทุกคนถูกเลือกนั้นยังต้องสุ่มตัวอย่างมากกว่าหนึ่งชั้น จึงต้องมีตัวแปรสำคัญมาร่วมคำนวนคือ DEFF อ่านว่า เดฟ (1+roh (n-1)) มาช่วยคำนวนขนาดตัวอย่าง ซึ่งไม่จำเป็นต้องเก็บเป็นแสนเป็นล้านตัวอย่างเพราะไม่จำเป็นต้องสิ้นเปลืองขนาดนั้น
จากนั้นถึงขั้นตอนสำคัญคือ การเลือกตัวอย่างที่จะทำให้เกิด “ความเป็นตัวแทน” (Representativeness) ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้ว่า กทม. โดยความเป็นตัวแทนเกิดจากการให้โอกาสการถูกเลือกกับทุกคน จึงจะเห็นว่า การปล่อยให้พนักงานเก็บข้อมูลไปสุ่มเลือกคนตอบแบบสอบถามที่ร้านชากาแฟ ป้ายรถเมล์ ข้างถนน ห้างสรรพสินค้า หรือแม้แต่เข้าไปในชุมชนแต่ถ้าเจอใครที่เข้าเกณฑ์ก็ถามนั้นถือว่าผิดหลักวิชาการเลือกตัวอย่างที่จะได้ความเป็นตัวแทนทางสถิติ ดังนั้น จึงต้องมีฐานข้อมูลลงไปถึงชุมชนและเคาะประตูบ้านในครัวเรือนโดยใช้หลักการเลือกตัวอย่างที่คำนึงถึงความเป็นไปได้ทางสถิติในการเป็นตัวแทน (Probability Sampling) ถ้าไม่ใช่หลักนี้ถือว่าผิดหลักวิชาการเลือกตัวอย่างที่ไม่เอนเอียง
ต่อมาคือ “หัวใจสำคัญ” ของการทำโพลล์นั่นคือ การเก็บรวบรวมข้อมูล ที่ต้องมีการอบรมพนักงานอย่างดีและเวลาเก็บข้อมูลต้องขอแยกคนตอบออกจากกัน “อย่าให้ช่วยกันตอบ” เพราะจะทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนได้ และการเก็บข้อมูลที่ถูกต้อง “ต้องกลับไปตรวจสอบได้” โดยสามารถเดินทางกลับไปหาคนตอบแบบสอบถามนั้นๆ ได้ ถ้ากลับไปหาคนตอบไม่ได้แสดงว่าไปเก็บข้อมูลจากคนที่เดินไปเดินมาในชุมชนหรือข้างถนนมาที่เคลื่อนไหวไปมาตลอด
สุดท้ายคือ การวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ การใช้หลักสถิติเข้ามาช่วยวิเคราะห์เพื่อช่วย “ลดทอนอคติ” และ “ลดทอนการชี้นำ” ของผู้คน และนี่คือจุดแห่งความแตกต่างระหว่าง ข้อมูลจากโพลล์ กับข้อมูลจากความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบของผู้คนในสังคม โดยเฉพาะข้อมูลจากผู้ใหญ่ที่เป็นที่เคารพนับถือของสาธารณชน
โดยข้อมูลจากผลโพลล์เป็นข้อมูลภาพรวมของสาธารณชนที่ไม่ใช่ข้อมูลเจาะจงของคนใดคนหนึ่งเพราะหลักสถิติจะไม่นำเสนอความรู้สึกส่วนตัวแต่จะนำเสนอความเป็นส่วนรวมต่อสาธารณชนผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ถึงแม้จะถูกโจมตีว่า “โกหกยิ่งกว่าโกหกคือ สถิติ” แต่ก็ต้องแย้งตอบโต้กลับไปว่า
“มันง่ายที่จะโกหกถ้าไม่มีสถิติมารองรับ” เช่น ผู้สมัครคนหนึ่งบอกว่าประชาชนให้เสียงตอบรับความนิยมของผมดีมากแต่ไม่มีตัวเลขสถิติมายืนยัน
ดังนั้น จึงต้องฝากกระซิบไปยังผู้ใหญ่หรือชนชั้นนำในบ้านเมืองที่ต่างประเทศเรียกกันว่า อีลีท (Elite) ว่า การที่ท่านออกมาแสดงตนว่าจะเลือกใคร การที่ท่านออกมาบอกสังคมว่าอยู่กลุ่มใดพรรคใดล้วนแต่มีส่วนชี้นำมีส่วนจูงใจและน่าจะมีอิทธิพลยิ่งกว่าข้อมูลผลโพลล์เสียด้วยซ้ำเพราะนั่นคือ เรื่องราวส่วนตัวล้วนๆ แต่กลับนำออกมาเปิดเผยต่อสาธารณชนที่ไม่มีกฎหมายเลือกตั้งใดมาห้ามการชี้นำเหล่านี้ ส่งผลให้ช่วงนี้ข้อมูลที่เข้ายึดพื้นที่ข่าวจูงใจประชาชนจึงมาจากชนชั้นนำ เช่น นักวิชาการ กลุ่มผู้นำทางความคิด คอลัมนิสต์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และนักการเมือง เป็นต้น
จึงขอแสดงจุดยืนเอแบคโพลล์ว่า สำนักวิจัยเอแบคโพลล์เป็นพวกไม่เลือกข้าง (Nonpartisan) ในทางการเมืองและไม่ฝักใฝ่ทางการเมืองในการเลือกตั้งทุกครั้ง มีความมุ่งมั่นหาข้อมูลจากสาธารณชนเพื่อทำให้เสียงของคนทุกชนชั้นมีความสำคัญและส่งเสียงสะท้อนของชาวบ้านจากโพลล์ไปยังผู้มีอำนาจในสังคม โดยย้ำเตือนประชาชนมาตลอดว่า อย่าเชื่อโพลล์ อย่าเชื่อเพราะว่าเขาเป็นอาจารย์ อย่าเชื่อเพราะเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญ อย่าเชื่อเพราะความน่าเชื่อถือของสถาบัน แต่ก็อย่ามองข้ามข้อมูลคำเตือนต่างๆ เหล่านั้น โดยให้นำข้อมูลต่างๆ ที่ค้นพบมาประกอบกับความเป็นจริงที่ตนเองเห็นประจักษ์และตัดสินใจเลือกผู้สมัครที่ตนเองคิดว่าใช่และเหมาะสมจะเป็นผู้ว่า กทม. ของตนเองในวันที่ 3 มีนาคมนี้