สถานการณ์ราคาน้ำมัน ประจำสัปดาห์ที่ 25 ก.พ.- 1 มี.ค. 56 และแนวโน้มในสัปดาห์ที่ 4-8 มี.ค. 56

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 4, 2013 13:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 มี.ค.--ปตท. ราคาน้ำมันเฉลี่ยในสัปดาห์ที่ 25 ก.พ.- 1 มี.ค. 56 น้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ปรับตัวลดลง 3.42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 107.89 น้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 3.47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 112.16 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบเวสท์ เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 2.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลอยู่ที่ 92.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันน้ำมันเบนซินออคเทน 95 ลดลง 5.01 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 129.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 4.37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 129.17 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ - นักลงทุนกังวลต่อผลการเลือกตั้งของอิตาลี ที่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ ประกอบกับฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายต่างครองอำนาจในรัฐสภาฯ คนละซีก จะทำให้การบริหารงานของรัฐบาลใหม่ไม่เข้มแข็ง เนื่องจากไม่ได้รับเสียงสนับสนุนอย่างเป็นเอกภาพ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาวิกฤติหนี้ยุโรปและอาจส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ อิตาลีมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของยูโรโซน - สถานการณ์การคลังของสหรัฐฯ อาจกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโลก โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) แสดงกังวลต่อ มาตรการตัดลดค่าใช้จ่ายรัฐบาลฯ อย่างรุนแรงโดยอัตโนมัติ หรือ “Sequestration” มูลค่า 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในในช่วงวันที่ 2 มี.ค. - 1 ต.ค. 56 และอีก 1.09 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 8 ปีต่อไป - สำนักสารสนเทศพลังงานของสหรัฐฯ (Energy Information Administration หรือ EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 ก.พ. 56 เพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 6 ติดต่อกัน โดยเพิ่มขึ้น 1.1 ล้านบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 377.5 ล้านบาร์เรล - กลุ่มประเทศ OPEC เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบในเดือน ก.พ. 56 มาอยู่ที่ระดับ 30.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งนับเป็นการขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก - ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ นาย Ben Bernanke แถลงต่อคณะกรรมาธิการของรัฐสภาฯ ยืนยันความจำเป็นของการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE) ที่เข้าซื้อตราสารหนี้ที่ค้ำประกันด้วยอสังหาริมทรัพย์ และสินเชื่อ มูลค่ารวม 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน - EIA รายงานปริมาณความต้องการใช้น้ำมันดิบโลก (ไม่รวมอิหร่าน) ในระยะ 60 วัน ที่ผ่านมา อยู่ที่ 86 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงกว่าปริมาณการผลิต 2.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้ปริมาณสำรองน้ำมันโลกลดลง 2.652 พันล้านบาร์เรล แนวโน้มราคาน้ำมัน ล่าสุดราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับตัวลดลงมาสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 สัปดาห์ ภายหลังทางการจีนรายงานดัชนีภาคการผลิต (PMI) ลดลงมาสู่ระดับ 50.1 จุด ต่ำสุดในรอบ 5 เดือน ทางด้านฝรั่งเศสประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ในกลุ่มยูโรโซนแม้ว่าดัชนีภาคการผลิตปรับตัวขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 43.9 จุด แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 จุด บ่งชี้ถึงการถดถอยเป็นเดือนที่ 13 ติดต่อกัน ประธานาธิบดีฝรั่งเศสนาย Francois Hollande ยอมรับว่าเศรษฐกิจฝรั่งเศสจะไม่สามารถเติบโตตามที่คาดไว้ในปีนี้ที่ 0.8% ได้ ทั้งนี้นักวิเคราะห์มองว่าเศรษฐกิจของฝรั่งเศสจะไม่เติบโตในปี 56 นี้ (0%) โดยในไตรมาส 4/55 เศรษฐกิจฝรั่งเศสถดถอย 0.3% จากไตรมาสก่อนหน้า ส่วนสหรัฐฯ กำลังพิจารณากฎและข้อกำหนดให้สามารถส่งออกน้ำมันดิบได้ เพื่อส่งออกไปเม็กซิโก เนื่องจากกำลังการผลิตน้ำมันดิบชนิดเบาและกำมะถันต่ำ (Light Sweet Crude) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือน ธ.ค. 55 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งสูงกว่าความต้องการในประเทศ ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ Brent ในตลาดซื้อขายล่วงหน้ามีแนวรับ-แนวต้านทางเทคนิค อยู่ที่ 108.47 - 113.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ WTI อยู่ที 88.77 - 91.51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ