กรุงเทพฯ--5 มี.ค.--มทร.ธัญบุรี
ตามที่เป็นข่าวว่าโรงส่งก๊าซธรรมชาติ ที่พม่าจะปิด แล้วมีผลกระทบต่อประเทศไทย สืบเนื่องมาจากประเทศไทยนำก๊าชธรรมชาติจากพม่ามาผลิตกระแสไฟฟ้า โดยตอนนี้รัฐบาลไทยมีนโยบายในในการลดใช้พลังงานลงเหลือเพียง 10 % และพยายามจะนำเอาพลังงานทดแทนเข้ามาใช้ บรรดานักศึกษามีทัศนคติอย่างไรกับวิกฤตพลังงานที่จะเกิดขึ้นบ้าง
ผศ.พูลเกียรติ์ นาคะวิวัฒน์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมาตรการให้หน่วยงานของรัฐบาลลดใช้พลังงานลงเหลือเพียง 10 % ทางมหาวิทยาลัยฯ จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจากหน่วยงานต่างๆ ในมหาวิทยาลัยฯ ขึ้นมา โดยจากการประชุมได้มีกำหนดนโยบาย 12 มาตรการขึ้นมา โดยมาตรการดังกล่าวได้นำมาโยงใยเข้ากับกิจวัตรประจำวันของหน่วยงาน ยกตัวอย่างมาตรการในการใช้เครื่องปรับอากาศ ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะเปิดเครื่องปรับอากาศประมาณ 10.00 น. และปิดก่อนเลิกงานประมาณ 16.00 น. แต่ละหน่วยงานจะเริ่มปิดการใช้เครื่องปรับอากาศ อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ทางภูมิทัศน์มหาวิทยาลัยฯ ยังได้มีการปรับภูมิทัศน์โดยการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยฯ ประสบปัญหาอุทกภัยทำให้ต้นไม้ตายหมด ซึ่งตอนนี้ได้มีการเร่งปรับทัศนียภาพ เพื่อเพิ่มอุณหภูมิภายนอกให้ต่ำ ส่งผลต่อการทำงานของระบบปรับอากาศภายในอาคาร ในเรื่องของพลังงานทดแทน ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้นำผลงานการวิจัยของอาจารย์เข้ามาปรับใช้ “สวนพลังงาน” กังหันลม โซล่าเซลล์ เข้ามาปรับใช้ โดยในระยะยาวทางมหาวิทยาลัยฯ จะมีการติดแผงโซล่าเซลล์บนอาคารเรียนทุกอาคารเรียน ซึ่งตอนนี้ได้มีคณะวิศวกรรมศาสตร์เป็นคณะนำร่องในตอนนี้
“เฟม” นายรณชัย คล้อยนาค นักศึกษาชั้นปีที่ ๒ สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ เล่าว่า การประหยัดพลังงานเป็นเรื่องที่รณรงค์มานานแล้ว รัฐบาลออกมาให้รณรงค์การลดพลังงาน 10 เปอร์เซ็นต์ หรือ ช่วยการประหยัดไฟฟ้า เป็นเรื่องเล็กๆ ที่ไม่ส่งผลกระทบอะไรมากมายที่ทุกคนสามารถทำได้ “ตั้งสติการใช้ชีวิต ฟังรัฐบาลประกาศว่าให้ประชาชนทำอะไรเพื่อให้เกิดในแนวทางเดียวกัน” โดยที่ประชาชนต้องพึ่งตนเอง เรียงลำดับความสำคัญของการใช้พลังงานที่จำเป็นก่อน ในการช่วยมหาวิทยาลัยฯ ประหยัดพลังงาน “การทำงานกับเพื่อนหลายๆคน เป็นการลดพลังงานการใช้ได้มากเพราะเมื่อต่างคนมาอยู่ที่เดียวกันพลังงานก็จะใช้ในที่เดียวไม่ได้ใช้นอกเหนือจากต่างคนอยู่คนละห้องที่มีการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น “เรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติทุกคนพึ่งพาอาศัยกัน”
"เมย์เจอร์” นางสาวกนกวรรณ ตันสาร นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ เล่าว่า ถ้าเกิดพม่าปิดโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติ ประเทศไทยค่าไฟก็คงแพงขึ้น เป็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อประเทศและควรที่จะมีการคิดหาวิธีรับมือกับปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งทุกคนในประเทศควรช่วยกัน โดยรัฐบาลได้ออกมากระตุ้นให้ทุกคนรับมือกับปัญหานี้ได้แค่เบื้องต้นในเรื่องของการประหยัดไฟ ในความคิดสิ่งที่ควรทำคือการหาพลังงานทดแทน และรณรงค์ให้มีการลดใช้พลังงานภายในประเทศ ฐานะของนักศึกษาที่ใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยฯ ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ทำได้ “ถ้าลดการใช้ไฟฟ้าก็ลดการผลิตกระแสไฟฟ้าและยังมีผลให้เราประหยัดพลังงานที่จะนำมามาใช้ในผลิตกระแสไฟฟ้าอีกด้วย” อยากให้ทุกคนหันมาเห็นความสำคัญของการใช้พลังงานอย่างจริงจัง ไม่ใช้กระแสมาครั้งประหยัดครั้ง ทุกคนควรเห็นความสำคัญของพลังงานที่กำลังหมดไป อยากให้ทุกคนมีจิตสำนึกที่จะช่วยกันประหยัดพลังงาน เพื่อที่จะได้ช่วยชาติฝ่าวิกฤตที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วย
“วุธ” นายนันทวุธ นามบุศย์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 (หลักสูตรต่อเนื่อง) สาขาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ เล่าว่า ถ้าเกิดวิกฤตในเรื่องของพลังงานขึ้นมาจริงๆ สิ่งที่ต้องทำ คือ การผลิตพลังงานใช้เองให้เต็มกำลังและหาแหล่งพลังงานจากที่อื่นมาใช้ ทุกคนต้องช่วยกันใช้พลังงานที่มีอย่างประหยัดและให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในขั้นต่อไปก็ต้องหาแหล่งพลังงานใหม่ เพื่อนำมาใช้ภายในประเทศ ถ้าไม่มีทางเลือกจริงก็คงต้องหยุดการส่งออกพลังงานหรือไม่ให้มีการส่งก๊าซธรรมชาติ ออกนอกประเทศเพราะปัจจุบันมีการขายก๊าซธรรมชาติให้กับต่างชาติเพื่อนำกลับมาขายในประเทศไทย 3 ในการประหยัดพลังงานไม่ต้องมองในระดับการประหยัดทั้งประเทศทั้งโลก เริ่มจากตัวเราเองประหยัดและให้เป็นนิสัย และทำตลอดทุกๆวัน ไม่จำเป็นต้องมีหนึ่งวันมาช่วยกันปิดไฟหนึ่งดวง อยากให้ทุกคนทำชีวิตประจำวันให้เป็นการประหยัดพลังงานโดยไม่ต้องคิดถึงอะไรมากมาย แค่คิดการประหยัดเงินในกระเป๋าของตัวเอง “พลังงานไม่มีวันหมดไปจากโลกใบนี้ ทุกอย่างมีสิ่งที่ขึ้นมาทดแทนตลอด
“เอ” นายทศพร แก้วศรีสุข นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า-ไฟฟ้ากำลัง คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม เล่าว่า ได้ศึกษาเรื่องพลังงานมาช่วงหนึ่ง โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ซึ่งได้รายงานสถานการณ์การใช้พลังงาน ปี 2555 เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยประเทศไทยใช้พลังงานน้ำมันสำเร็จรูปมากที่สุด ถึง 48% รองลงมาเป็นพลังงานงานไฟฟ้า 18. 9% โดยแหล่งที่มาของพลังงานมีทั้งผลิตขึ้นเองและนำเข้า ในส่วนขอพลังงานไฟฟ้า มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 2.6 ซึ่งยังไม่รวมพลังงานอื่นๆ ที่ประเทศไทยเรานำเข้า เช่น ถ่านหิน น้ำมันดิบ หรือแม้กระทั่งก๊าซธรรมชาติ สาเหตุส่วนใหญ่ที่สถิติการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นทุกปี อาจเกิดจาก จำนวนประชากรที่เพิ่มมาขึ้น อุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ต้องใช้พลังงานในการใช้งาน ทั้ง รถยนต์อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ วิธีการประหยัดพลังงานง่ายๆ เริ่มที่ตัวเราก่อน การใช้พลังงานไฟฟ้าในบ้านเรือน ไม่เปิดไฟทิ้งไว้โดยไม่จำเป็น และรู้จักเลือกอุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างเหมาะสม เพราะจะทำใช้ช่วยลดพลังงาน และอย่าลืมสัญลักษณ์ เบอร์ 5 และมาตรฐาน มอก. เพราะปัจจุบันมีการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างผิดวิธีเยอะ ทำให้สิ้นเปลืองพลังงานโดยใช่เหตุ
ทัศนคติของนักศึกษาเป็นอีกหนึ่งแนวคิดสำหรับการใช้พลังงาน มาตรการที่รัฐบาลออกมารณรงค์จะเกิดผลหรือไม ขึ้นอยู่กับทุกคนในประเทศ ที่จะตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ ความจริงเรื่องพลังงานเป็นเรื่องของจิตสำนึกของแต่ละคน หากประชาชนในประเทศมีจิตสำนึกของการใช้พลังงาน อย่างประหยัดและให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดได้ จะเป็นมาตรการที่เกิดผลในภาพรวมของประเทศได้มากที่สุด
ชลธิชา ศรีอุบล
กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี
0-25494-4994