กรุงเทพฯ--5 มี.ค.--ศูนย์สรรพสินค้าซีคอนสแควร์
“ชาวโพลีนีเซียน” (Polynesia)อาศัยอยู่ ณ ดินแดน “โพลีนีเซีย” (Polynesia) ภูมิภาคในเขตทวีปโอเชียเนีย มหาสมุทรแปซิฟิก ประกอบด้วย 4 ประเทศ ได้แก่ นิวซีแลนด์, ซามัว, ตองกา, ตูวาลู และ8 ดินแดน ได้แก่ อเมริกันซามัว, หมู่เกาะคุก, เฟรนซ์โปลินิเซีย, มลรัฐฮาวาย, นีอูเอ, หมู่เกาะพิตแคร์น, โตเกเลา, วาลลิสและฟุตูนา โดยภูมิภาคนี้มีความเจริญสูงสุดกว่าทุกภูมิภาคในทวีปโอเชียเนียทั้งหมด มีวัฒนธรรมที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ คือวัฒนธรรมการ “เต้นรำ” ที่ผสมผสานระหว่างจังหวะ บทเพลง และศิลปะการแต่งกาย ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ของแต่ละดินแดนได้อย่างชัดเจน
“ฮักก้า” (Haka) การเต้นรำของชาวโพลีนีเซียนที่ผู้คนทั่วโลกต่างรู้จักกันดี “ฮักก้า” ถือเป็นประเพณีการเต้นอันเก่าแก่ที่สืบทอดต่อกันมายังลูกหลานของชาวเมารี ชนพื้นเมืองสายเลือดนักรบผู้กล้าหาญของประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งเหล่านักรบจะใช้การเต้นนี้เพื่อข่มขู่ศัตรูข้าศึกยามออกรบทำศึกสงคราม และจะกล่าวถ้อยคำข่มขู่เป็นภาษาเมารี พร้อมแสดงสีหน้าขึงขัง แลบลิ้นรัว ถือหอกอาวุธร่ายรำ และกระทืบเท้า ปัจจุบันใช้เต้นเพื่อต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง และหากใครเป็นแฟนรักบี้ทีม “All Black” ทีมดังของโลกก็จะเห็นการเต้น “ฮักก้า” ก่อนลงแข่งขันทุกครั้งเพื่อข่มขวัญผู้ต่อสู้
“โอเทีย” (Otea) การเต้นรำที่ครึกครื้นสนุกสนาน ที่มาพร้อมลีลาการเชกส่ายสรีระที่พริ้วไหวของชาวหมู่เกาะตาฮิติ โดยการเต้นจะเน้นจังหวะกลองและการส่ายสะโพกที่ตื่นเต้นเร้าใจของหญิงสาว ผู้ชายก็ตีขาอย่างสนุกสนาน มือก็ร่ายรำบอกถึงความเป็นอยู่ของชาวตาฮิติที่มีความสุข การเต้น “โอเทีย” จะใช้ในการฉลองและต้อนรับแขกผู้มีเกียรติเพื่อเป็นการแสดงถึงความอบอุ่นเป็นมิตรแก่ผู้ที่มาเยือนดินแดนอันสวยงามของพวกเขา
“ราโรทองก้า” (Rarotonga) การเต้นของชาวพื้นเมืองหมู่เกาะคุก หากเป็นชายการเต้นรำจะแสดงออกถึงการซ้อมรบด้วยท่าทางที่แข็งแรง หากเป็นหญิงสาว เธอจะออกมาร่ายรำด้วยท่วงท่าที่สวยงามเพื่อระลึกถึงเทพเจ้า “ทองงารัว” และบอกเล่าเรื่องราวการเดินทางอพยพมายังเกาะแห่งนี้
“วอร์แชนท์” (Warchant) และ “เทเว เทเว” (Tewe Tewe) การเต้นรำอันเลื่องลือจากฮาวาย ซึ่งเชื่อว่าไม่มีใครไม่รู้จักภาพหญิงสาวชาวฮาวายที่ออกมาเต้นรำ ระบำฮูลาฮูล่า โดยใช้ลูกอูลีอูลี่เป็นอุปกรณ์ประกอบจังหวะการเต้นรำที่สนุกสนาน ส่วนชายหนุ่มก็จะแสดงการเต้นรำที่บรรยายถึงความเจ้าชู้กะล่อน โดยมีการตีพูอิลิและไม้ไผ่เป็นเครื่องประกอบจังหวะ
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนของวัฒนธรรมการเต้นรำเพื่อบอกเล่าเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ของชาวโพลีนีเซียนเพียง 4 ดินแดนเท่านั้น หากท่านใดสนใจชมการแสดงเต้นรำแบบเต็มรูปแบบสไตล์โพลีนีเซียนขนานแท้กันแบบสดๆ โดยไม่ต้องบินไปชมให้เสียเวลาสามารถมาชมกันได้ที่งาน “สีสันอันดามัน” ในวันที่ 8-17 มี.ค. 56 ณ ศูนย์สรรพสินค้าซีคอนสแควร์ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดใดทั้งสิ้น โดยนอกเหนือจากความรู้ความบันเทิงที่ได้รับแล้ว ภายในงานยังมีการออกบูธจำหน่ายแพ็กเกจทัวร์สถานที่ท่องเที่ยวฝั่งอันดามันในราคาพิเศษ ของกินของส่งตรงจากทะเลใต้ พร้อมช้อปอุปกรณ์การท่องเที่ยว และอุปกรณ์กีฬาทางน้ำอีกมากมาย