กรุงเทพฯ--5 มี.ค.--สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดสัมมนาวิชาการประจำปี พ.ศ.2556 เรื่อง “ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ 2 ทศวรรษหน้า” ทั้งนี้ สืบเนื่องจากรายงานผลการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการรับรู้และการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ของผู้เข้าร่วมสัมมนาระดมความคิดเห็น 4 ภูมิภาค และการสัมมนาวิชาการประจำปี พ.ศ.2555 ของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เรื่อง “ยุทธศาสตร์ประเทศไทยในสองทศวรรษหน้า (พ.ศ.2556-2575) ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ได้สะท้อนให้เห็นว่า อุปสรรคในการนำ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ไปใช้ในชีวิตประจำวันคือการไม่เข้าใจ การไม่ตระหนัก และการไม่รู้จักการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง จึงได้ดำเนินการโครงการสัมมนาระดมความคิดเห็น 3 ภูมิภาค และการสัมมนาวิชาการประจำปี พ.ศ.2556 เรื่อง “ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ 2 ทศวรรษหน้า” เพื่อทำให้ประเทศไทยมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง และสามารถสร้างความสมดุลของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในระยะยาวที่นำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาและสื่อมวลชนกว่า 700 คน ร่วมงานในครั้งนี้ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
นางภรณี ลีนุตพงษ์ รองประธานสภาที่ปรึกษาฯ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ การจัดสัมมนาในครั้งนี้เพื่อเผยแพร่ความรู้ ประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการสะท้อนปัญหาด้านต่างๆ เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริง ปัญหา อุปสรรค ข้อจำกัด รวมทั้งสาเหตุของปัญหาและผลกระทบ ที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้และการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จากองค์กรภาคเอกชน องค์กรภาคประชาสังคม สื่อมวลชน องค์กรภาครัฐและองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนเสนอแนวทางในการจัดทำยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สองทศวรรษหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานเปิดการสัมมนาในครั้งนี้ กล่าวเน้นถึงประเด็นการดำเนินงานของรัฐบาลว่า รัฐบาลกำลังสนับสนุนการพัฒนาทักษะฝีมือทั้งทางด้านการศึกษา ด้านอาชีพ รวมถึงการลงทุน โครงสร้างพื้นฐาน เครือข่ายระบบโทรคมนาคม ภารกิจเหล่านี้รัฐบาล ภาคประชาชน ภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องร่วมมือกันสอดส่องดูแล จับตาดูโครงการต่างๆ เหล่านั้นให้เกิดประโยชน์กับประเทศอย่างแท้จริง เพราะในขณะที่โลกมีความแข่งขันสูง ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจในโลกตะวันตกก็ส่งผลกระทบไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย เราจึงต้องลดการพึ่งพาประเทศอื่น และสร้างมาตรฐานในการพึ่งพาตนเองให้มากขึ้น เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและมั่นคงต่อไป
นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ 2 ทศวรรษหน้า” กล่าวว่า ความเปลี่ยนที่จะเกิดขึ้นในอีกสองทศวรรษหน้า ซึ่งเป็นแนวโน้มใหญ่ของโลกมี 8 ประการคือ 1) สังคมผู้สูงอายุ 2) การเจริญเติบโตของชนชั้นกลาง 3) สังคมเมืองที่จะทำให้วิถีชีวิตของคนเปลี่ยนไป 4) การขาดแคลนพลังงาน 5) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี 6) การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ 7) เอเชียมีบทบาทมากขึ้น และ 8) เกิดความขัดแย้งและความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะก่อให้เกิดผลกระทบต่างๆ ในแต่ละประเทศ รวมถึงไทยด้วย
นายสุรเกียรติ์ฯ กล่าวต่อว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นต้องมีความสมเหตุสมผล ความพอประมาณ และมีภูมิคุ้มกัน โดยต้องตั้งอยู่บนฐานของความรู้และมีคุณธรรม นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกกล่าวว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้ มีความขัดแย้งกับวงจรปกติของเศรษฐกิจ กล่าวคือ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้จะต้านความสุดโต่งของระบบเศรษฐกิจแบบปกติไม่ให้มากไปในทางใดทางหนึ่ง ทางด้านสังคม หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเน้นการสร้างความพึงพอใจในตนเอง มีวินัยในการดำรงตน ในด้านการเมือง ไม่เบียดเบียนผู้อื่นในกระบวนการแสวงหาอำนาจ
“เศรษฐกิจพอเพียงนั้นมีความหมายที่ลึกซึ้งและไม่ได้ใช้เฉพาะในด้านการเกษตรหรืออุตสาหกรรม แต่สามารถใช้ได้กับทุกๆ ด้าน รัฐบาลควรจะเป็นตัวอย่างในการยกย่องหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้เกิดการประยุกต์ใช้อย่างแท้จริง และใช้กำกับในการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศโดยไม่เปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละรัฐบาล” นายสุรเกียรติ์กล่าว
ภายหลังจากนั้น จะเป็นการอภิปรายในเรื่อง “ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ 2 ทศวรรษหน้า” โดยวิทยากรจากภาคส่วนต่างๆ อาทิ นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) นายเฉลิมเกียรติ แสนวิเศษ ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศ.ดร.ณัฎฐพงษ์ ทองภักดี ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาเศรษฐกิจพอเพียง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ดร.อุทิศ ขาวเธียร ผู้ทรงคุณวุฒิฯ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และนายดำริห์ สุตเตมีย์ อธิบดีศาลปกครองกลาง
โดยในภาคบ่าย จะเป็นการสัมมนากลุ่มย่อย แบ่งออกเป็นสามกลุ่มคือ 1) องค์กรภาคเอกชน(การผลิตและธุรกิจ) 2) องค์กรภาคประชาสังคม สื่อมวลชนและประชาชน และ 3)องค์กรภาครัฐและองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น
ภายหลังเสร็จสิ้นการสัมมนาในครั้งนี้ สภาที่ปรึกษาฯ จะจัดทำเป็นความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่องดังกล่าว และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศต่อไป