กรุงเทพฯ--5 มี.ค.--กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามสัญญา “เช่าใช้บริการวงจรสื่อสารข้อมูลพร้อมอุปกรณ์ โครงการพัฒนาระบบโครงข่ายไร้สาย (Wi-Fi Network)” เพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนโดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์พกพาแก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ระหว่างกระทรวงไอซีที กับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ว่า เนื่องจากนโยบายของคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงไอซีทีจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ให้แก่โรงเรียนในโครงการ One Tablet per Child หรือ OTPC โดยเริ่มทดลองดำเนินการในโรงเรียนนำร่องสำหรับระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2555 ควบคู่กับ การเร่งพัฒนาเนื้อหาที่เหมาะสมตามหลักสูตร รวมทั้งจัดทำระบบอินเทอร์เน็ตไร้สายตามมาตรฐานเพื่อให้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งปัจจุบันมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 27,231 โรงเรียน และ มีนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ประมาณ 858,886 คน แต่ยังขาดความพร้อมด้านระบบอินเทอร์เน็ตไร้สายในห้องเรียน เพื่อใช้งานร่วมกับเครื่องแท็บเล็ตที่มีคุณสมบัติเฉพาะการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตด้วย Wi-Fi เท่านั้น ซึ่งจะสามารถสร้างโครงข่ายภายในห้องเรียนที่จะช่วยในเรื่องการบริหารจัดการเครื่องแท็บเล็ตให้ง่ายต่อการเรียนการสอนระหว่างครูกับกลุ่มนักเรียน และใช้งานอินเทอร์เน็ตด้วยความเร็วที่เหมาะสม
กระทรวงไอซีทีเล็งเห็นความสำคัญในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ให้แก่การศึกษาไทย จึงได้ดำเนินโครงการดังกล่าวขึ้นโดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โครคมนาคม จำกัด (มหาชน) ให้เช่าใช้บริการวงจรสื่อสารข้อมูลพร้อมอุปกรณ์ เพื่อพัฒนาระบบโครงข่ายไร้สาย (Wi-Fi Network) เพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนโดยใช้เครื่องแท็บเล็ตไปยังห้องเรียนในโรงเรียนต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทั้ง 2 บริษัทได้ดำเนินการต่อยอดจากโครงการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ หรือ MOENet แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การค้นคว้าหาความรู้ของนักเรียน ครู และบุคลากรตามโรงเรียนต่างๆ
สำหรับการลงนามในสัญญาดังกล่าวเป็นความร่วมมือของทั้ง 2 บริษัทในลักษณะกิจการค้าร่วม เพื่อวางระบบโครงข่าย Wi-Fi Network ที่ถูกออกแบบไว้ให้เป็นแบบผสม (Hybrid Architecture) ที่ยังคงรูปแบบการบริหารจัดการจากศูนย์กลาง (Centralized Management) ที่ง่ายต่อการควบคุมดูแล การตรวจสอบติดตาม (Monitoring) การแก้ไขปัญหาต่างๆ (Troubleshooting) แต่สามารถลดปัญหาการคับคั่งของข้อมูลที่ศูนย์กลางเพราะมีอุปกรณ์ในการบริหารจัดการ (Traffic Management) ที่ติดตั้งอยู่บนโครงข่าย MOENet ตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ ซึ่งมีทั้งหมดจำนวน 27,231 วงจร แบ่งเป็น บมจ.ทีโอที 26,889 วงจร และ บมจ. กสท โทรคมนาคม 342 วงจร ผู้ใช้งานที่เป็น นักเรียน ครู และบุคลากรตามโรงเรียนต่างๆ รวมทั้งประชาชนทั่วไป ที่เข้าใช้งานผ่านโครงข่ายแบบสายและไร้สาย จะถูกกำหนดสิทธิ์การเข้าใช้งาน (Authentication) พร้อมระบบการจัดเก็บข้อมูลการจราจรทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (Log System) และระบบการบริหารจัดการข้อมูลที่แตกต่างกัน (Traffic Management) เช่น การจำแนกเส้นทาง ของข้อมูลในโครงข่ายภายใน (Intranet) และภายนอก (Internet) รวมถึงการมีอุปกรณ์ป้องกันการโจมตีเครือข่าย (Firewall) จากผู้ไม่หวังดี (Hacker) เข้าไปยังอุปกรณ์โครงข่ายภายในโรงเรียนต่างๆ ที่อยู่ภายในโครงการ MOEnet ได้ โดยทั้ง 2 บริษัทจะต้องจัดหาอุปกรณ์และดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพความเร็วของวงจรสื่อสารข้อมูล (Bandwidth) ให้ไม่ต่ำกว่า 4 Mbps และดำเนินการเปลี่ยนปรับปรุงรูปแบบของสื่อสัญญาณระบบอินเทอร์เน็ตให้มีความเสถียร โดยให้ใช้ระบบสื่อสัญญาณทางสายชนิดเคเบิ้ลใยแก้วนำแสง ในคลื่นความถี่สำหรับรับส่งข้อมูลในย่านคลื่นความถี่ 2.4 GHz และต้องมี Operating Channel เป็นไปตามมาตรฐานของ Federal Communications Commission (FCC) และ European Telecommunications Institute (ETSI) รวมถึงบริหารระบบจัดเก็บข้อมูลการจราจรทางอิเล็กทรอนิกส์ (Log System) เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานของผู้ใช้ นอกจากนั้นต้องจัดอบรมเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลระบบหรือพนักงานในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พร้อมจัดทำคู่มือการใช้งานและการดูแลระบบเบื้องต้น อีกด้วย
สำหรับกระทรวงไอซีทีจะเป็นผู้ประสานงานเรื่องข้อมูลและสถิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการฯ ให้กับทั้ง 2 บริษัท พร้อมให้ความช่วยเหลืออำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมายซึ่งคาดว่าโครงการนี้จะเสร็จสิ้นภายใน 300 วันหลังจากลงนามในสัญญา
“การลงนามสัญญาครั้งนี้จะช่วยให้นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 กว่า 8 แสนคนในโรงเรียนสังกัด สพฐ. กว่า 2 หมื่นโรง ได้ใช้เครื่องแท็บเล็ตได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเป็นการพัฒนาวงการศึกษาไทย และเป็นไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 พ.ศ.2555-2559 ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพของเด็กวัยเรียน ให้มีความรู้ทางวิชาการ ทักษะและสติปัญญาที่สามารถศึกษาหาความรู้ และต่อยอดองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง รวมทั้งสามารถปรับตัวให้รู้เท่าทันกับข่าวสารภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีที่รวดเร็ว” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว
ติดต่อ:
PR.MICT 02-141-6747