ภัยช่วงเทศกาลแห่งความรื่นเริง และการท่องเที่ยว

ข่าวท่องเที่ยว Thursday December 9, 2004 10:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--ปภ.
เดือนธันวาคม เป็นช่วงปลายปีเก่าที่จะเข้าสู่ปีใหม่ จึงถือเป็นช่วงแห่งเทศกาลเฉลิมฉลอง ซึ่งมักจัดงานรื่นเริง ประกอบกับช่วงนี้มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน และสภาพอากาศหนาวเย็น ประชาชนจึงมักเดินทางไป ท่องเที่ยวตามยอดดอย หุบเขา ป่าไม้ ทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวนมาก ซึ่งจากการรวบรวมสถิติการเกิดอุบัติภัย พบว่า เดือนธันวาคม เป็นช่วงที่เกิดภัยทางถนน และอุบัติเหตุอื่นๆ มากที่สุด เนื่องจากเป็น ช่วงเทศกาลที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข ความสนุกสนาน ประชาชนจึงมักมองข้ามความปลอดภัย และภัยเล็กน้อยที่อาจเกิดขึ้น ในวันนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอนำเสนอสาระความรู้เกี่ยวกับมาตรการ และ การป้องกันภัยที่มักเกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองและการท่องเที่ยวช่วงเดือนธันวาคม ดังนี้
อุบัติภัยจากพลุ ปะทัด และดอกไม้ไฟ
ช่วงเวลาก่อนเที่ยงคืนของวันที่ 31 ธันวาคม จะมีการนับเวลาถอยหลังเข้าสู่ปีใหม่ และจุดพลุ ปะทัด ดอกไม้เพลิงในทุกพื้นที่ที่มีการจัดงานเฉลิมฉลอง ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ดังเช่นช่วงเทศกาล ลอยกระทงที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากการเล่นพลุ ดอกไม้เพลิง ถึง 2 ราย ได้แก่ นักศึกษาเทคนิค จ.ชัยภูมิ และ นักท่องเที่ยว ที่ จ.เชียงใหม่ และยังมีอุบัติเหตุรายย่อยในอีกหลายพื้นที่ ทำให้มีผู้บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้กำชับจังหวัดกวดขันการพิจารณาออกใบอนุญาต หรือต่ออายุใบอนุญาตให้ทำ สั่ง นำเข้า หรือค้าดอกไม้เพลิง โดยให้คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นสำคัญ รวมทั้งตรวจสอบสถานที่ผลิต จำหน่ายและเก็บดอกไม้เพลิงอย่างเข้มงวด ส่วนหน่วยงานต่างๆ ที่จัดงานรื่นเริง ให้เตรียมป้องกัน วางมาตรการ และระมัดระวังมิให้เกิดอันตรายจากการ จุดพลุ ดอกไม้ไฟ กำหนดพื้นที่ (Zoning) ที่ไม่เหมาะสมให้เล่นดอกไม้เพลิง ส่วนประชาชน ต้องเพิ่มความระมัดระวัง และเพื่อความปลอดภัย ควรงดเว้นการเล่นพลุดอกไม้เพลิง จะเป็นการดีที่สุด เพราะนอกจากจะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินแล้ว ยังถือเป็นความผิดที่ต้องได้รับโทษทางกฎหมายด้วย
อุบัติภัยจากใช้เตาไฟ และตะเกียง
ช่วงเดือนธันวาคม ประชาชนส่วนมากนิยมไปท่องเที่ยวตามหุบเขา ป่าไม้ ยอดดอย ซึ่งมีอากาศหนาวเย็น และมักนำเตาไฟ ตะเกียง เข้าไปผิงไฟในเต๊นท์ เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายในยามค่ำคืน หากเผลอหลับทั้งที่ยังจุดเตาไฟ และตะเกียงอยู่ อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ เนื่องจากเต๊นท์ส่วนใหญ่มักทำจากผ้าใบซึ่งเป็นวัสดุไวไฟ เมื่อติดไฟ ไฟจะลุกลามได้อย่างรวดเร็ว และที่สำคัญ เมื่อมีการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงในสถานที่มิดชิด จะทำให้ออกซิเจน ซึ่งมีความจำเป็นต่อการหายใจของมนุษย์หมดไป แต่จะมีก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ที่เกิดจากการเผาไหม้มากขึ้นมาแทน ซึ่งจะส่งผลกับการทำงานของสมอง ทำให้หายใจลำบาก ออกซิเจนเข้าไปหล่อเลี้ยงสมองได้น้อยลงเรื่อยๆ จนสมองหยุดการทำงาน และเมื่อสมองหยุดการทำงาน ก็จะทำให้การทำงานของอวัยวะทุกส่วนในร่างกายหยุดการทำงานไปด้วย และจะทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด ดังนั้น จึงไม่ควรนำเตาไฟ หรือตะเกียง เข้าไปไว้ในสถานที่ปิดมิดชิดอย่างเด็ดขาด หากจะนำเตาไฟ หรือตะเกียงที่จุดแล้ว เข้าไปในเต๊นท์ ต้องมีช่องระบายอากาศให้อากาศถ่ายเทได้เสมอ
อุบัติเหตุทางถนน
การเดินทางไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ในระยะไกล ด้วยเส้นทางที่ไม่คุ้นเคย อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ ดังนั้น ก่อนออกเดินทางทุกครั้ง จึงขอให้ผู้ใช้รถใช้ถนน ตรวจสอบสภาพรถ และศึกษาสภาพเส้นทางก่อนออกเดินทาง และเตรียมร่างกายให้แข็งแรง ถ้าเป็นไปได้ ก่อนออกเดินทาง 1 — 2 วัน ควรนอนหลับพักผ่อนให้เต็มอิ่ม จิตใจจะได้โปร่งแจ่มใส และมีสติเต็มร้อยในการขับรถ หากต้องขับรถทางไกล ควรจอดพักเป็นระยะ เพื่อพักรถ พักสายตา นอกจากนี้ เพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ขอให้เพิ่มความระมัดระวัง ไม่ประมาท ปฏิบัติตาม กฎจราจรอย่างเคร่งครัด คาดเข็มขัดนิรภัย มีน้ำใจต่อเพื่อนร่วมทาง ไม่ขับรถเร็ว ไม่ขับจี้ท้ายคันหน้า ไม่ขับปาดซ้าย ปาดขวา รวมถึงไม่แสดงพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนได้ง่ายขึ้น
สุดท้ายนี้ เพื่อให้เดือนธันวาคม เป็นช่วงเทศกาลแห่งความสุขสนุกสนาน จึงขอให้ประชาชนอย่ามองข้ามความปลอดภัย และเพิ่มความระมัดระวัง ในการดำเนินชีวิตให้มากยิ่งขึ้น เพื่อมิให้การส่งท้ายปีเก่า เป็นช่วงเวลาแห่งความเลวร้าย ที่ยากจะลืมเลือนต่อไปอีกเลย--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ