4 หน่วยงาน จับมือบริหารเงินให้เปล่ากว่า 40 ล้านบาท เพื่อการเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนในอุตสาหกรรมสิ่งทอ

ข่าวทั่วไป Thursday December 9, 2004 11:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--ธ.ทหารไทย
กรมโรงงานอุตสาหกรรม ธนาคารโลก ธนาคารทหารไทย และสถาบันพัฒนาอุตสากรรมสิ่งทอร่วมกันรุกเจาะฐานโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั่วประเทศ เพื่อเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน ประเภท 1,1,1-ไตรคลอโรอีเทน (1,1,1-TCA) ไปใช้สารทดแทน 1,1-2-ไตรคลอโรเอธิลีน (1,1,2-TCE) พร้อมติดตั้งระบบป้องกันมลพิษทางอากาศให้ฟรี! แก่โรงงานที่เข้าร่วมโครงการ เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม 47 จนถึงเดือนสิงหาคม 49
จากการที่ประเทศไทยโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกในพิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยการลดและเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน โดยมีพันธกรณีที่ต้องลดหรือเลิกใช้สารที่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนให้เสร็จสิ้นภายในปี พ.ศ.2552 ซึ่งอุตสาหกรรมสิ่งทอขนาดกลางและขนาดเล็กเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีการใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศชั้นโอโซนประเภท 1,1,1-ไตรคลอโรอีเทน (1,1,1-TCA) เป็นสารชะล้างเพื่อกำจัดรอยเปื้อนบนผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าสำเร็จรูป และมีการปล่อยสาร CFC ออกไปสู่ชั้นบรรยากาศเป็นจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของ “โครงการเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรรยากาศโอโซนในอุตสาหกรรมสิ่งทอขนาดกลางและขนาดเล็ก” โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมกับธนาคารโลก จะให้ความช่วยเหลือโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพื่อเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนไปใช้สารทดแทนตัวอื่นที่ไม่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน โดยจะติดตั้งระบบป้องกันมลพิษทางอากาศให้แก่ทุกโรงงานที่เข้าร่วมโครงการ โดยมอบหมายให้ธนาคารทหารไทย ทำหน้าที่ผู้บริหารเงินช่วยเหลือ และสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ทำหน้าที่ผู้ประสานงานโครงการ
นายวิรัตน์ ตันเดชานุรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า “ภารกิจหลักของสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ คือการยกระดับมาตรฐานการผลิตของภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอให้สูงขึ้น เพื่อให้สินค้าไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดการค้าโลก ดังนั้น สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ จึงยินดีและภูมิใจที่ได้เป็นตัวแทนของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานโครงการเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนในอุตสาหกรรมสิ่งทอขนาดกลางและขนาดเล็ก เพราะนอกจากจะเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กให้เลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนแล้ว ยังเป็นการเตรียมรับสถานการณ์การเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนในปี พ.ศ.2552 รวมทั้งการเตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขันในเวทีการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งมีกระแสรณรงค์เกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อีกทั้งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบในการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมร่วมกับนานาประเทศ”
นายวิรัตน์ ตันเดชานุรัตน์ ยังกล่าวถึงความช่วยเหลือที่จะมอบให้แก่โรงงานต่างๆ ภายใต้โครงการฯ นี้ ว่า “สำหรับโรงงานที่มีการใช้สาร 1,1,1-TCA อยู่นั้น เราจะแนะนำให้ใช้สารตัวอื่นทดแทน เช่น สาร 1,1,2-ไตรคลอโรเอธิลีน (1,1,2-TCE) ซึ่งมีข้อดีคือเป็นสารที่ไม่ทำลายบรรยากาศโอโซน และสามารถหาทดแทนได้ง่าย มีราคาไม่สูง แต่อย่างไรก็ตาม การใช้สารทดแทนตัวนี้จะมีละอองของสารฟุ้งกระจาย ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนงานได้ ดังนั้น เราจึงมีมาตรการในการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปริมาณการใช้สารดังกล่าวด้วย ตลอดจนให้ความช่วยเหลือแก่โรงงานในการติดตั้งระบบป้องกันมลพิษทางอากาศ ฟรี! เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพคนงาน
นอกจากนั้นแล้ว นายวิวัตน์ ยังกล่าวถึงคุณสมบัติของโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่จะยื่นขอรับความช่วยเหลือจากโครงการด้วยว่า “เรามุ่งให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่เคยใช้หรือกำลังใช้สาร 1,1,1-TCA และได้เปลี่ยนหรือจะเปลี่ยนมาใช้สาร 1,1,2-TCE แต่ยังไม่มีระบบป้องกันมลพิษทางอากาศที่เหมาะสม โดยจะต้องเป็นกิจการที่ตั้งขึ้นก่อน ปี พ.ศ.2545 ซึ่งสถาบันฯ จะจัดทำวารสารเพื่อแผนแพร่ข้อมูลและความช่วยเหลือจากโครงการไปยังกลุ่มเป้าหมาย ขณะเดียวกันผู้สนใจก็สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดมายังสถาบันฯ ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2713-5492
ด้านนายวิม ทยาพัชร เจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจลูกค้าขนาดกลางและพัฒนาลูกค้า ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นับตั้งแต่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ไอเอฟซีที) ได้รวมกิจการเข้ากับธนาคารทหารไทยและธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ ภารกิจต่างๆ ของไอเอฟซีทีได้ถูกโอนมายังธนาคารทหารไทย รวมถึงการบริหารกองทุนลดและเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน ซึ่งได้มีการให้ความร่วมมือกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมและธนาคารโลกมาตั้งแต่ปี 2537 โดยได้บริหารเงินสนับสนุนให้เปล่าแก่ผู้ประกอบการรวม 447 ราย คิดเป็นมูลค่า 814 ล้านบาท และเงินกู้โครงการปรับเปลี่ยนเครื่องซิลเลอร์อีก 8 ราย จำนวน 99 ล้านบาท รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 913 ล้านบาท
สำหรับโครงการเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปนี้ นับเป็นโครงการสำคัญอีกโครงการหนึ่งที่ธนาคารได้รับเกียรติจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมและธนาคารโลก ให้เป็นผู้บริหารเงินช่วยเหลือมูลค่า 41 ล้านบาท ซึ่งธนาคารยินดีให้ความร่วมมือแก่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันธนาคารก็ได้ขยายบทบาทในการพัฒนากองทุนและบริการต่างๆ ให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ