คำแถลงข่าวการปรับเพิ่มระดับเครดิตของประเทศไทย โดยบริษัท Japan Credit Rating Agency (JCR)

ข่าวทั่วไป Thursday December 9, 2004 14:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--กระทรวงการคลัง
Japan Credit Rating Agency (JCR) ได้มีการแถลงข่าวผลการวิเคราะห์เครดิตของประเทศไทย โดย JCR ได้ปรับเพิ่มระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินบาท (Domestic Currency Long Term Senior Debts) จาก A เป็น A+ และปรับเพิ่มระดับเครดิตพันธบัตรสกุลเงินต่างประเทศ (Foreign Currency Bonds) สำหรับพันธบัตรสกุลเงินเยนของรัฐบาลไทย จำนวน 4 รุ่น (Yen Bond Series 17-20) จาก BBB+ เป็น A- ซึ่งเป็นการจัดระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศในระดับ single A range เป็นครั้งแรกหลังเกิดเหตุการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ พร้อมทั้งปรับแนวโน้มของเครดิต (Outlook) จากระดับที่เป็นบวก (Positive) เป็น ระดับที่มีเสถียรภาพ (Stable) สำหรับเหตุผลที่ JCR ได้ปรับเพิ่มระดับเครดิตดังกล่าวข้างต้นสรุปได้ ดังนี้
1.สถานะด้านต่างประเทศของไทยได้ปรับตัวดีขึ้น จนส่งผลให้สามารถรองรับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก (External Shocks) ได้ดีขึ้น โดยคาดว่า ประเทศไทยจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2547 ได้ติดต่อกันเป็นปีที่ 7 แม้ว่าการเกินดุลการค้าจะปรับตัวลดลง เนื่องจากการนำเข้าสินค้าทุนที่เพิ่มขึ้น และการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ในขณะเดียวกันบัญชีทุนของประเทศ (Capital Account) อยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ โดยมีการไหลเข้าของการลงทุนโดยตรงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การชำระหนี้ต่างประเทศสุทธิก็เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งการที่ประเทศไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดติดต่อกัน ทำให้สามารถชำระคืนหนี้ต่างประเทศทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2547 ประเทศไทยมีสินทรัพย์ต่างประเทศสุทธิคิดเป็นร้อยละ 9.4 ของมูลค่าการส่งออก ทุนสำรองระหว่างประเทศสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 48.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 4.1 เท่าของยอดหนี้ต่างประเทศระยะสั้น และร้อยละ 97 ของยอดรวมหนี้ต่างประเทศ ทำให้ฐานะภาคต่างประเทศสามารถรองรับต่อผลกระทบจากการแปรปรวนของราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยน
ในระยะปานกลางดุลบัญชีเดินสะพัดซึ่งคาดว่าจะอยู่ในระดับสมดุล หรือขาดดุลเล็กน้อย เพราะการลงทุนเริ่มฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง แต่ภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบันที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาด้านเสถียรภาพด้านต่างประเทศ เหมือนกับก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ
2.ภาคธนาคารพาณิชย์ของไทยยังคงมีปัญหาของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan) อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการทำกำไรที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงมากขึ้น โดยตัวเลข NPLs ของธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นเดือนกันยายนอยู่ที่ระดับร้อยละ 14 ของวงเงินสินเชื่อรวม อย่างไรก็ตาม JCR เชื่อว่าตัวเลข NPLs น่าจะสูงกว่าประมาณร้อยละ 5-6 หากมีการนำหนี้ที่ได้มีการปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้วและยังไม่ได้มีการชำระหนี้จริงรวมไว้ด้วย แม้ว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา NPLs ของธนาคารพาณิชย์ จะปรับตัวลดลงช้า แต่ JCR เห็นว่า เป็นเพราะธนาคารพาณิชย์จัดชั้นสินเชื่อตามสภาพความเป็นจริงยิ่งขึ้นตามกฎของธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารเอกชนมี NPLs ลดลงเหลือร้อยละ 20 จากสูงสุดร้อยละ 50
ในช่วง 2542 รวมทั้งธนาคารสามารถจัดการสินเชื่อที่มีปัญหาได้ดีกว่าและกำไรเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของรัฐบาลได้รายงานการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของ NPLs ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้จัดชั้นสินเชื่อใหม่ แต่ JCR เห็นว่าปัญหา NPLs ใหม่ดังกล่าว เป็นกรณีเฉพาะไม่ได้เป็นปัญหาของระบบโดยรวม
3.ฐานะทางการคลังของรัฐบาลปรับตัวดีขึ้น โดยที่รายได้จากภาษีเพิ่มขึ้นจากการเติบโตทางเศรษฐกิจและกำไรในภาคธุรกิจ ทำให้รัฐบาลสามารถจัดทำงบประมาณสมดุลได้ในปีงบประมาณ 2548 ถึงแม้ว่าราคาน้ำมันอาจส่งผลให้กองทุนน้ำมันมีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้การอุดหนุนด้านพลังงานเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อฐานะทางการคลังโดยรวม นอกจากนี้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2548 จะมีการยกเลิกมาตรการอุดหนุนน้ำมันดีเซล
ใน 5 ปีข้างหน้า รัฐบาลมีนโยบายที่จะลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะปานกลาง โดยมีมูลค่ารวมประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 22 ของ GDP แต่ JCR คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะทางการคลังของรัฐบาล เนื่องจากรัฐบาลมีช่องทางในการระดมเงินทุนได้อย่างหลากหลาย
4. หนี้สาธารณะที่อยู่ระดับค่อนข้างสูงนั้น คาดว่าจะสามารถปรับตัวลดลงได้อย่างต่อเนื่องในระยะปานกลาง ปัจจุบันหนี้ของรัฐบาลกลางรวมกับหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ตามสัดส่วนต่อ GDP ที่ร้อยละ 32 คาดว่าจะไม่เพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่ามูลค่าอาจเพิ่มขึ้นบ้างจากการที่ตั๋วที่อาวัลโดย FIDF จะครบกำหนดในปี 2548 และ 2549 แต่การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง จะช่วยชดเชยผลกระทบดังกล่าว โดย JCR คาดว่าระดับหนี้สาธารณะจะเริ่มปรับตัวลดลงตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นไป
สำหรับภาระผูกพันของเงินนอกงบประมาณและการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินของรัฐใน 2-3 ปีที่ผ่านมา อาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงทางการคลังแก่รัฐบาลอยู่บ้าง แต่ JCR เชื่อว่าภาระผูกพันดังกล่าวยังอยู่ในระดับที่จำกัดและสามารถบริหารจัดการได้
5. JCR ได้ปรับแนวโน้มของเครดิต (Outlook) อยู่ที่ระดับเสถียรภาพ (Stable) เพราะเชื่อว่ารัฐบาลสามารถควบคุมภาระผูกพันของเงินนอกงบประมาณ รวมทั้งธนาคารเอกชนจะสามารถบริหารจัดการ NPLs ในระบบลงได้ อย่างไรก็ตาม หลังจากการเลือกตั้ง รัฐบาลควรที่จะดูแลและควบคุมภาระผูกพันให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และในส่วนของคุณภาพสินทรัพย์ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ก็ควรจะมีการบริหารอย่างรอบคอบเช่นกัน ในขณะเดียวกัน เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะคงมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาของธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งการเร่งรัดการลด NPLs ในขณะที่กำไรของภาคการธนาคารน่าจะปรับตัวดีขึ้น
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ