กรุงเทพฯ--7 มี.ค.--เอแบคโพลล์
โดย ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้เริ่มทำการสำรวจข้อมูลความคิดเห็น พฤติกรรมและข้อเท็จจริงทางสังคมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 จนถึงปัจจุบันเพราะเห็นว่าเป็นการฝึกงานภาคสนามของนักศึกษาจากทุกสถาบันด้านการวิจัยโดยมีจุดยืนทางการเมืองคือ “ไม่ฝักใฝ่รับใช้นักการเมือง” แต่ต้องการทำให้เสียงสะท้อนของประชาชนทุกชนชั้นมีความสำคัญ
เอแบคโพลล์ขอขอบคุณกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมซึ่งถือว่าเป็นเสียงของผู้ใหญ่ดุ ในสังคมที่จะช่วยให้คณาจารย์ นักวิจัยและนักศึกษาทุกคนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มาฝึกงานที่เอแบคโพลล์ประพฤติประครองตนอยู่ในหนทางที่ถูกต้องไม่อิงแอบผลประโยชน์ทางการเมือง
วันนี้ขอโอกาสพูดบ้างเพราะวันเลือกตั้งวันที่ 3 มีนาคม ประชาชนคนกรุงเทพมหานครไม่ได้รับรู้ข้อมูลที่เอแบคโพลล์ได้นำเสนอทันทีหลังปิดหีบเลือกตั้ง วันนั้นเวลาบ่ายสามโมง เอแบคโพลล์บอกว่าจะมีคนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 66% มีคนไปใช้สิทธิจริง 64% และระบุว่าผู้สมัครสองท่านมีโอกาสได้เกินล้านคะแนนทั้งคู่โดยมีความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 5 และทุกครั้งเอแบคโพลล์บอกว่าคลาดเคลื่อนร้อยละ 7 ซึ่งก็มีโอกาสพลิกได้เพราะเก็บตัวอย่างมาเพียงห้าพันกว่าคนจากสี่ล้านสามแสนคน
เอแบคโพลล์ยังเชื่อว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังให้ข้อมูลที่เป็นจริงอยู่ แต่มีบ้างบางคนที่อาจจะไม่ได้ให้ข้อมูล เพราะเอแบคโพลล์เชื่อว่าผู้ใหญ่ในสังคมไทยยังให้ความเมตตาต่อการฝึกงานของนักศึกษา และเอแบคโพลล์เชื่อว่าคนกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่ไม่ยอมทำตามขบวนการทางการเมืองที่สอนหรือบอกให้ “ทำผิดศีล” ในเรื่องการโกหกกับนักศึกษาที่ลงเก็บข้อมูลเพราะถ้าผิด นักศึกษาเหล่านั้นก็จะรู้สึกไม่ดีต่อผู้ใหญ่ในสังคมด้วย
เอแบคโพลล์ทำสำรวจโพลล์เลือกตั้งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของงานด้านการศึกษา มีถูกบ้าง มีผิดบ้าง เป็นเรื่องธรรมดา “ถ้าทำถูกก็เอาไว้สอนศิษย์ ถ้าผิดก็ถือว่าเป็นครู จะได้นำมาปรับปรุงแก้ไข” เมื่อเอแบคโพลล์ได้ทำทุกอย่างตามระเบียบวิธีวิจัย เช่น เพิ่มขนาดตัวอย่าง ปรับเรื่องเวลาการเก็บข้อมูล บริหารจัดการงานวิจัย เป็นต้น
อนาคตของเอแบคโพลล์จึงขอแจ้งต่อสาธารณชนว่าเอแบคโพลล์จะหันกลับมาทำ Exit Poll ในการเลือกตั้งให้บ่อยขึ้น และจะทำการบันทึกให้สาธารณชนรับทราบว่า ถูกกี่ครั้ง ผิดกี่ครั้ง เหมือนกับ ปี พ.ศ. 2554 เอแบคโพลล์ทำนายทั้งประเทศจำนวน 500 ที่นั่ง ผิด 17 ที่นั่งในกรุงเทพมหานคร แต่กลับเป็นเรื่องใหญ่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ผิดมากอย่างไม่น่าให้อภัย และมาครั้งที่สองเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ปี พ.ศ. 2556 มีถูกบ้างผิดบ้าง ก็ถูกวิจารณ์อย่างรุนแรง
ดังนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ เอแบคโพลล์จึงจะหันกลับมาทำ Exit Poll ใหม่ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปอย่างแน่นอนและจะทำให้บ่อยขึ้นเพราะเชื่อมั่นในความเมตตาของประชาชนคนกรุงเทพมหานครว่าจะช่วยสนับสนุนงานด้านการศึกษาของเอแบคโพลล์ที่ไม่ต้องการรับใช้นักการเมืองฝ่ายใดทั้งสิ้น “ไม่รับใช้สีของนักการเมือง” แต่จะรับใช้สีที่อยู่บนผืนธงไตรรงค์ เพราะสีของนักการเมืองล้วนอนิจจัง มีอำนาจใหญ่คับประเทศ โกงอย่างกว้างขวาง และตอนนี้เป็นอย่างไรสังคมมองเห็นกันอยู่ แต่สีทั้งสามสีบนผืนธงชาติอยู่ยาวนานกว่า เอแบคโพลล์จึงจะทำโพลล์ต่อไปทุกสัปดาห์เพราะต้องการทำให้เสียงของประชาชนทุกชนชั้นมีความสำคัญสะท้อนไปยังผู้มีอำนาจในสังคมเพื่อรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยหวังว่าทุกฝ่ายคงได้รับสัญญาณที่ชัดเจนจากเอแบคโพลล์ในวันนี้