กรุงเทพฯ--8 มิ.ย.--ปภ.
นายสุนทร ริ้วเหลือง อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม เป็นต้นไปของทุกปี ประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วงฤดูฝน หรือฤดูมรสุม ทำให้มีฝนตกกระจาย ถึงตกหนักมากในภาคต่างๆ ซึ่งลักษณะดังกล่าวอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง หรือดินถล่ม ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณที่ราบลุ่ม หรือบริเวณเชิงเขา เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกัน แก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย โคลนถล่ม การช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัย การฟื้นฟูบูรณะสิ่งสาธารณประโยชน์ที่ชำรุดเสียหายให้คืนสู่สภาพเดิม กรมป้องกันฯ จึงได้แจ้งให้ทุกจังหวัด จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และโคลนถล่ม ขึ้น ณ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และตั้งศูนย์ฯ ของอำเภอ/ กิ่งอำเภอ ณ กองอำนวยการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนอำเภอ พร้อมจัดตั้งเจ้าหน้าที่รับผิดชอบตลอด 24 ชั่วโมง โดยให้ดำเนินการ จัดทำ ปรับปรุงข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัย พื้นที่ปลอดภัยเพื่อรองรับการอพยพ พร้อมเตรียมกำลังคน วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องสูบน้ำ เครื่องมือให้พร้อมใช้การได้ทันที และติดตามข่าวพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบปริมาณน้ำฝน ระดับน้ำทะเล ระดับน้ำในแม่น้ำ รวมทั้งบริเวณที่อาจจะเกิดน้ำท่วม ตลอดจนแจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความสำคัญกับการจัดหาพื้นที่รองรับน้ำ และจัดงบประมาณเพื่อขุดลอก คู คลอง แหล่งน้ำสาธารณะ ให้สามารถระบายน้ำออกจาก พื้นที่ที่เกิดอุทกภัยได้อย่างรวดเร็ว ตลอดจนติดตั้งเครื่องแจ้งเตือนภัย และเครื่องวัดประมาณน้ำฝน ณ พื้นที่เสี่ยงภัย โดยจัดให้มีผู้ดูแลและบันทึกข้อมูลเป็นประจำอย่างต่อเนื่องตลอดฤดูฝน รวมทั้งให้มีการฝึกซ้อมตามแผนเฉพาะกิจฯ ที่จัดทำขึ้น ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และอาสาสมัครในพื้นที่ โดยงบประมาณในการฝึกซ้อมให้ขอรับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่ร่วมฝึกซ้อมตามความจำเป็นและเหมาะสม และเนื่องจากการเกิดอุทกภัยในแต่ละครั้ง ล้วนสร้างความสูญเสีย และส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่ จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ ให้ความสนใจในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ต่อเนื่องเป็นกรณีพิเศษ จนกว่าสถานการณ์จะยุติ--จบ--