กรุงเทพฯ--8 มี.ค.--กรมทรัพยากรน้ำบาดาล
นายศักดา นพสิทธิ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดการอบรมสัมมนาเผยแพร่ผลงานวิชาการน้ำบาดาล ในด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรน้ำบาดาลที่ถูกปนเปื้อนจากเหตุอุทกภัย ณ โรงแรมเอ-วัน เดอะ รอยัล ครูส เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี มีผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และประชาชนผู้สนใจในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 9 จังหวัดระยอง จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ตราด และจังหวัดสระแก้ว เข้าร่วมอบรมกว่า 400 คน
สืบเนื่องจากเมื่อปลายปี 2554 เกิดเหตุการณ์มหาอุทกภัยครอบคลุมพื้นที่ 58 จังหวัด ของประเทศไทย ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังเป็นเวลานานมากกว่า 2 เดือน ทำให้น้ำเน่าเสียและสารพิษที่ปะปนมากับน้ำท่วมไหลลงสู่ชั้นน้ำบาดาลผ่านทางบ่อน้ำบาดาล หากปล่อยไว้เป็นเวลานานโดยไม่ได้รับการแก้ไขอาจเป็นเหตุให้ชั้นน้ำบาดาลที่ถูกปนเปื้อนมีการแพร่กระจายมากยิ่งขึ้น กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจึงได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบาดาลที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย โดยการพัฒนาเป่าล้างบ่อน้ำบาดาล เพื่อกำจัดสิ่งสกปรกและเชื้อโรคที่ปะปนออกจากบ่อน้ำบาดาล เพิ่มประสิทธิภาพการให้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของบ่อน้ำบาดาล รวมถึงการอุดกลบบ่อน้ำบาดาลที่ชำรุดไม่สามารถใช้งานได้ และการติดตั้งวัสดุปิดปากบ่อน้ำบาดาลเพื่อป้องกันน้ำท่วมบ่ออย่างถาวร และเหตุน้ำสกปรกไหลเข้าบ่อน้ำบาดาล เพื่อประหยัดงบประมาณด้านการฟื้นฟูแหล่งน้ำบาดาลที่ประชาชนใช้ประโยชน์ในอนาคต ซึ่งปัจจุบัน การดำเนินกิจกรรมดังกล่าวเพื่อฟื้นฟูแหล่งน้ำบาดาลที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ได้สำเร็จลุล่วง ตามเป้าหมายแล้ว
การอบรมสัมมนาครั้งนี้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล โดย สำนักอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากร น้ำบาดาล และสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 9 ได้ร่วมกันจัดขึ้น เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย มีความรู้ ความเข้าใจ และรับทราบถึงผลการดำเนินงานฟื้นฟูแหล่งน้ำบาดาลในพื้นที่ภาคตะวันออก และเสริมสร้างจิตสำนึกที่ดีในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบาดาลให้สามารถใช้ได้อย่างยั่งยืน รวมถึงเป็นการเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับคุณค่าน้ำบาดาล ขั้นตอนการพัฒนาบ่อน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ประโยชน์ การดูแลบำรุงรักษาบ่อน้ำบาดาลให้ปราศจากสารพิษ ซึ่งเป็นอันตรายในการนำไปใช้อุปโภค-บริโภค พร้อมเป็น การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ สภาพปัญหาในแต่พื้นที่ เพื่อนำมาสู่แนวทางการแก้ไขปัญหา และสร้างเครือข่ายในการอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำบาดาลในอนาคต