เสนอ กทค. ออกมติเร่งด่วน เยียวยา ๓๔๕ เรื่องร้องเรียน

ข่าวทั่วไป Friday March 8, 2013 11:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 มี.ค.--กทค. “สารี” ไม่ปล่อยให้เรื่องร้องเรียน 345 กรณีถูกลืม เสนอ กทค. มีมติเร่งด่วนเยียวยาความเสียหายผู้ร้อง ระบุ หากเรื่องร้องเรียนยังไม่ได้ข้อยุติห้ามตัดสัญญาณโทรศัพท์ ชี้สำนักงาน กสทช. ควรลดขั้นตอนจัดการเรื่องร้องเรียน หลังจากที่พบว่าเรื่องร้องเรียนต้องฝ่าด่าน 10 กว่าขั้นตอนกว่าจะเข้าสู่ที่ประชุม กทค. ได้ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง ประธานอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีเรื่องร้องเรียนจำนวน ๓๔๕ เรื่องซึ่งได้ผ่านการพิจารณาจากที่ประชุมคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๕ - มกราคม ๒๕๕๖ ซึ่งล่าสุดเลขาธิการ สำนักงาน กสทช. ระบุว่า จะได้นำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกระบวนการดำเนินการเสนอต่อ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เพื่อพิจารณา นั้น มีความเห็นว่า ประเด็นดังกล่าว ควรพิจารณาใน ๒ กรณี คือ ๑) การพิจารณาเพื่อหาแนวทางเยียวยาแก้ไขเรื่องร้องเรียนทั้ง ๓๐๐ กว่าเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วน หากล่าช้าออกไปผู้ร้องอาจถูกตัดสัญญาณและถูกยึดเลขหมายโทรศัพท์ได้ และ ๒) คือพิจารณาเรื่องขั้นตอนในการจัดกรเรื่องร้องเรียนที่ควรลดน้อยลง “ขณะนี้ ผู้ร้องใน ๓๔๕ กรณีดังกล่าวได้โทรไปติดตามเรื่องแล้วหลายราย คณะอนุกรรมการฯ จึงเห็นว่า กทค. ควรเร่งนำเรื่องทั้งหมดขึ้นพิจารณาเพื่อเยียวยาความเสียหายให้กับผู้ร้องเรียนเป็นการเร่งด่วนก่อนโดยเฉพาะในกรณีที่เกี่ยวข้องกับสัญญาณการใช้บริการ มิฉะนั้นผู้ร้องจะถูกบริษัทตัดสัญญาณได้ ซึ่ง กทค. ควรมติดังเช่นที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. เดิม เคยมีมติไว้ในการประชุมครั้งที่ ๒๕/๒๕๕๒ ที่เห็นชอบเป็นหลักการให้ถือเป็นแนวปฏิบัติต่อจากนี้ไปว่า หากเรื่องร้องเรียนได้เข้าสู่กระบวนการร้องเรียนตามประกาศ กทช. เรื่อง กระบวนการรับเรื่องร้องเรียนและพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการแล้ว ผู้ให้บริการต้องเปิดสัญญาณโทรศัพท์ให้แก่ผู้ใช้บริการ เพื่อเยียวยาความเสียหายเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะได้ข้อยุติในเรื่องร้องเรียนนั้น “ นางสาวสารีกล่าว นางสาวสารี กล่าวต่อไปว่า เรื่องร้องเรียนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องร้องเรียนประเด็นเดิมและเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายอย่างชัดเจน เช่น การกำหนดระยะเวลาการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบชำระค่าบริการล่วงหน้า (พรีเพด) ซึ่งเป็นกรณีร้องเรียนที่ประจักษ์ชัดอยู่แล้วว่า บริษัทมีการกำหนดระยะเวลาการใช้บริการ ตัดสัญญาณโทรศัพท์ผู้ร้อง แถมยังยึดเงินในระบบและยึดเลขหมายโทรศัพท์ไปด้วย ในจำนวนเรื่องร้องเรียนเหล่านี้มีเกือบ ๓๐๐ เรื่องที่เป็นกรณีเร่งด่วน และหากไม่เร่งดำเนินการแก้ไขก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ร้อง เช่น ผู้ร้องอาจถูกตัดสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือถูกยึดเลขหมายโทรศัพท์ได้ ดังนั้น คณะอนุกรรมการฯ จึงได้รวบรวมเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับกรณีพรีเพดทั้งหมดเสนอให้ กทค. พิจารณา เนื่องจากเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อผู้ร้องโดยตรง เพื่อขอให้ กทค. มีคำสั่งให้เยียวยาความเสียหายแก่ผู้ร้อง โดยให้บริษัทเปิดสัญญาณให้ผู้ร้องสามารถใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ตามปกติ จนกว่าเรื่องร้องเรียนจะได้ข้อยุติ ประธานอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม เผยด้วยว่า นอกจากนี้ กทค. ควรพิจารณาเพื่อหาแนวทางทำให้การจัดเรื่องร้องเรียนมีประสิทธิภาพและรวดเร็วกว่าปัจจุบัน โดยสำนักงาน กสทช. ควรลดขั้นตอนในการจัดการเรื่องร้องเรียนให้มากที่สุด เพราะทราบมาว่าสิ่งที่ปฏิบัติกันอยู่ขณะนี้คือ เมื่อเรื่องร้องเรียนผ่านขั้นตอนการให้ความเห็นจากคณะอนุกรรมการฯ แล้ว จะต้องผ่านขั้นตอนอื่นอีกกว่า 10 ขั้นตอน กว่าเรื่องร้องเรียนเหล่านั้นจะได้บรรจุเข้าเป็นวาระในการประชุม กทค. “ ในช่วงปี ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา กลุ่มงานรับเรื่องร้องเรียนด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ สามารถแก้ปัญหาได้สูงถึง ๘๒ เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่เป็นกลุ่มงานที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับงานฝั่งกระจายเสียงฯ แถมยังขาดกฎระเบียบ ประกาศ และกฎหมายรองรับ ขณะที่การจัดการเรื่องร้องเรียนด้านโทรคมนาคมมีผลดำเนินการตรงกันข้าม ทั้งที่มีกฎหมายในการใช้กำกับที่สมบูรณ์กว่า ซึ่งสะท้อนประสิทธิภาพการจัดการเรื่องร้องเรียนของกลุ่มงานรับเรื่องร้องเรียนด้านโทรคมนาคมอย่างชัดเจน “ นางสาวสารีกล่าวทิ้งท้าย
แท็ก กสทช.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ