กรุงเทพฯ--8 มี.ค.--GIZ
สํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน หรือ GIZ เปิดตัวโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานและบรรเทาผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคการขนส่งทางบก ในภูมิภาคอาเซียน โดยโครงการฯ จะสนับสนุนประเทศไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ในการพัฒนาแผนปฎิบัติการและกลยุทธ์การดำเนินงานในภาคการขนส่งพร้อมกับปรับปรุงศักยภาพการติดตามผลการพัฒนานโยบายดังกล่าว
โครงการฯ มีระยะเวลาดำเนินการจนถึงปลายปี 2558 ด้วยทุนสนับสนุนจากกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี นอกจากสํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว หน่วยงานอื่นที่ร่วมโครงการได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรมควบคุมมลพิษ และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก
เนื่องจากอัตราการใช้ยานพาหนะในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงส่งผลให้หลายเมืองต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ อาทิ ปัญหาการจราจรคับคั่ง การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลปริมาณสูง มลพิษทางอากาศ และอุบัติเหตุทางจราจร และนับวันปัญหาเหล่านี้ทวีความรุนแรงมากขึ้น นอกจากนั้น ภาคการขนส่งในประเทศไทยยังเป็นแหล่งปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณสูง เพื่อที่จะรับมือกับปัญหาเหล่านี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการส่งเสริมและนำนโยบายการขนส่งอย่างยั่งยืนมาใช้อย่างเร่งด่วน อาทิ การพัฒนาระบบขนส่งมวลชน การกำหนดมาตรฐานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของยานพาหนะที่ใช้สำหรับการเดินทางและยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่ง และการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ (Non-Motorised Transport)
นางรวีวรรณ ภูริเดช รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “โครงการนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้เรียนรู้ประสบการณ์ของนานาประเทศ เพื่อพัฒนายุทธศาสตร์การขนส่งทางบก รวมทั้งปรับปรุง การตรวจวัด การรายงานผล และการทวนสอบ (Measurement Reporting and Verification, MRV) ในประเทศไทย โครงการฯ ยังเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างผู้เชี่ยวชาญระดับท้องถิ่นและนานาชาติเพื่อร่วมกันพัฒนานโยบายการขนส่งทางบกที่เหมาะสมต่อบริบทของประเทศไทยต่อไป”
มร. สเตฟาน บัคเคอร์ หัวหน้าโครงของ GIZ กล่าวว่า “การปฏิบัติงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการขนส่งจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการพัฒนาคุณภาพอากาศ ลดความหนาแน่นทางการขนส่ง และพัฒนาความมั่นด้านพลังงาน ทั้งนี้ ประเทศไทยได้มีการบรรจุนโยบายด้านการขนส่งอย่างยั่งยืนไว้ในแผนแม่บทแล้ว ดังนั้นนโยบายการขนส่งที่ยั่งยืนจะทำให้ประเทศในภูมิภาคอาเซียนรวมทั้งประเทศไทยได้รับประโยชน์อย่างมาก”
“เพื่อพัฒนานโยบายดังกล่าว GIZ จะทำงานร่วมกับกระทรวงคมนาคมและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการขนส่งสินค้าสีเขียว (Green freight) ซึ่งยังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร” มร. บัคเคอร์ กล่าวเสริม
Caption รูปภาพ
ในภาพ ดร. โทมัส มูลทอปป์ (แถวหน้า ที่สามจากซ้าย) ที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย นางรวีวรรณ ภูริเดช (แถวหน้า ที่สองจากซ้าย) รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมร. โรลันด์ ฮาส ผู้อำนวยการโปรแกรมความร่วมมืออาเซียน-เยอรมนี ด้านพัฒนาเมือง สิ่งแวดล้อม และการขนส่ง องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน ในงานเปิดตัวโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานและบรรเทาผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคการขนส่งทางบก ในภูมิภาคอาเซียน โดยโครงการฯ จะสนับสนุนประเทศไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ในการพัฒนาแผนปฎิบัติการและกลยุทธ์การดำเนินงานในภาคการขนส่งพร้อมกับปรับปรุงศักยภาพการติดตามผลการพัฒนานโยบายดังกล่าว
โครงการฯ มีระยะเวลาดำเนินการจนถึงปลายปี 2558 ด้วยทุนสนับสนุนจากกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ คุณ ศิริพร ตรีพรไพรัช ผู้จัดการฝ่ายงานประชาสัมพันธ์
องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)
โทรศัพท์: 66 2 661 9273 ต่อ 33 อีเมล์: siriporn.treepornpairat@giz.de