การประกวดนิยายวิทยาศาสตร์รางวัล จันตรี ศิริบุญรอด ครั้งที่ 1 ประจำปี 2548

ข่าวเทคโนโลยี Monday December 13, 2004 13:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ธ.ค.--สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ
การประกวดนิยายวิทยาศาสตร์รางวัลจันตรี ศิริบุญรอด ประจำปี 2548 จัดโดย ชมรมนักเขียนและผู้จัดทำหนังสือวิทยาศาสตร์ (นจวท.) สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ , โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กและเยาวชน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และบริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด
ชมรมนักเขียนและผู้จัดทำหนังสือวิทยาศาสตร์ (นจวท.) สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ ตระหนักดีว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ ก่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ปัจจุบันรัฐบาลได้มีความเข้าใจและเริ่มให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการจัดตั้งองค์กรและคณะกรรมการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้นเป็นการเฉพาะหลายแห่ง แม้กระนั้นก็ตามการปลูกฝังให้เด็กไทยและคนไทยมีแนวคิดอย่างวิทยาศาสตร์ นำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันยังไม่มากเท่าที่ควรและพัฒนาค่อนข้างช้า
กลไกต่าง ๆ ของรัฐมุ่งไปในด้านการวางนโยบายส่งเสริมการพัฒนาวิทยาศาสตร์เป็นส่วนใหญ่ ยังขาดปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการปฏิบัติที่ชัดเจน ซึ่งจะส่งผลให้คนไทยโดยเฉพาะเยาวชนไทยคิดอย่างวิทยาศาสตร์ สร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำจนกลายเป็นนิสัยประจำชาติได้
ปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนของชาติที่มีจิตสำนึกทางด้านวิทยาศาสตร์ คือการที่หนังสือวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพแพร่หลายให้ได้อ่านกันอย่างทั่วถึง ขณะนี้บ้านเรายังมีหนังสือดังกล่าวไม่มากนักเพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีหนังสือวิทยาศาสตร์มากขึ้นและได้คุณภาพ
การจัดประกวดนิยายวิทยาศาสตร์ รางวัลจันตรี ศิริบุญรอด ประจำปี 2548 มีวัตถุประสงค์ 3 ข้ออันได้แก่ เพื่อส่งเสริมให้มีนิยายวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้นในวงการตลาดหนังสือของไทย , สนับสนุนให้มีนักเขียนใหม่ ๆ ทางด้านวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะนักเขียนไทย และให้เกียรติและยกย่องนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์
ด้วยเหตุนี้ ชมรมนักเขียนและผู้จัดทำหนังสือวิทยาศาสตร์ (นจวท.) ภายใต้สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ จึงได้จัดการประกวดนิยายวิทยาศาสตร์รางวัลจันตรี ศิริบุญรอด ขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจาก 3 องค์กร อันได้แก่ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ , บริษัท นานมีบุ้คส์ จำกัด และโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กและเยาวชน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงเห็นสมควรจัดให้มีการประกวดการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ขึ้น โดยในชั้นต้นนี้ จะเริ่มจากนิยายวิทยาศาสตร์ก่อน โดยเล็งเห็นว่านิยายวิทยาศาสตร์สามารถเข้าถึงประชาชนทั่วไปได้เร็วกว่าข้อเขียนประเภทอื่น นอกจากนี้ เพื่อเป็นการยกย่องและเชิดชูเกียรตินักเขียนเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ยุคบุกเบิกคนสำคัญของไทย คือ นายจันตรี ศิริบุญรอด จึงสมควรจัดการประกวดการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ ภายใต้รางวัลจันตรี ศิริบุญรอด
การจัดประกวดนิยายวิทยาศาสตร์รางวัลจันตรี ศิริบุญรอด ครั้งนี้ ได้รับเงินสนับสนุนจาก 3 องค์กร คือ โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กและเยาวชน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้การสนับสนุนเงินรางวัลพร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 75,000 บาท(เจ็ดหมื่นห้าพันบาทถ้วน) บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด ให้การสนับสนุนค่าดำเนินการ และสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยชมรมนักเขียนและผู้จัดทำหนังสือวิทยาศาสตร์ (นจวท.) เป็นองค์กรหลักที่เป็นแกนกลางประสานงานในการจัดประกวดนิยายวิทยาศาสตร์ รางวัลจันตรี ศิริบุญรอด ประจำปี 2548 ขึ้น และหากโอกาสอำนวยก็จะพยายามจัดให้มีการประกวดเช่นนี้เป็นประจำต่อไป
รองศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า “สวัสดีท่านแขกผู้มีเกียรติและท่านสื่อมวลชนในนามของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ ได้ตระหนักดีว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ ก่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ปัจจุบันรัฐบาลได้มีความเข้าใจและเริ่มให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการจัดตั้งองค์กรและคณะกรรมการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้นเป็นการเฉพาะหลายแห่ง แม้กระนั้นก็ตามการปลูกฝังให้เด็กไทยและคนไทยมีแนวคิดอย่างวิทยาศาสตร์ นำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันยังไม่มากเท่าที่ควรและพัฒนาค่อนข้างช้ากลไกต่าง ๆ ของรัฐมุ่งไปในด้านการวางนโยบายส่งเสริมการพัฒนาวิทยาศาสตร์เป็นส่วนใหญ่ ยังขาดปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการปฏิบัติที่ชัดเจน ซึ่งจะส่งผลให้คนไทยโดยเฉพาะเยาวชนไทยคิดอย่างวิทยาศาสตร์ และสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำจนกลายเป็นนิสัยประจำชาติได้
โครงการประกวดนิยายวิทยาศาสตร์ รางวัลจันตรี ศิริบุญรอด ประจำปี 2548 ที่ได้จัดขึ้นนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยส่งเสริมให้มีนิยายวิทยาศาสตร์ที่คุณภาพเพิ่มขึ้นในวงการตลาดหนังสือของไทย อีกทั้ง
สนับสนุนให้มีนักเขียนใหม่ ๆ ทางด้านวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะนักเขียนไทย และเป็นการให้เกียรติยกย่องครูจันตรี ศิริบุญรอด นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์คนแรกของไทย จึงจัดการประกวดนิยายวิทยาศาสตร์รางวัลภายใต้ชื่อของท่านด้วย ปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนของชาติที่มีจิตสำนึกทางด้านวิทยาศาสตร์ คือ การที่หนังสือวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพได้แพร่หลายให้ได้อ่านกันอย่างทั่วถึง ขณะนี้บ้านเรายังมีหนังสือดังกล่าวไม่มากนักเพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีหนังสือวิทยาศาสตร์มากขึ้นและได้คุณภาพ จึงสมควรจัดให้มีการประกวดขึ้นโดยในชั้นต้นนี้ จะเริ่มจากนิยายวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะจุดประกายผู้คนให้มีความสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์ได้เร็วกว่าข้อเขียนวิทยาศาสตร์ประเภทอื่น ๆ”
รองศาสตราจารย์ ดร.ธีรวัฒน์ มงคลอัศวรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนการวิจัย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) “บทบาทของ สวทช. ในการสนับสนุนโครงการประกวดนิยายวิทยาศาสตร์รางวัลจันตรี ศิริบุญรอด ประจำปี 2548 รับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานต่าง ๆ ได้ให้ความสำคัญกับโครงการนี้ เพราะจะเป็นการกระตุ้นให้เยาวชนสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้นในการที่จะปลูกฝังวิทยาศาสตร์ ควรจะมีการปูพื้นตั้งแต่ในวัยเยาว์ โครงการนี้นอกจากจะช่วยส่งเสริมทางด้านการเขียนแล้ว ยังส่งเสริมให้เด็กมีจินตนาการและสามารถนำจินตนาการมาผนวกกับการเขียน อันเป็นศาสตร์อย่างหนึ่ง ที่จะช่วยให้คนเข้าใจวิทยาศาสตร์ได้มากขึ้น ซึ่งทาง สวทช. ได้เห็นถึงความสำคัญของเยาวชนว่าจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดังจะเห็นได้จากโครงการต่าง ๆ ที่ สวทช. สนับสนุน เยาวชนทางด้านวิทยาศาสตร์และการเขียน เช่น การประกวดบทความสรรค์สร้างนาโนของเด็กและเยาวชนหรือการส่งเสริมทางด้านจินตนาการของเยาวชน อาทิ โครงการประกวดวาดภาพชีวิตใหม่ที่ดาวอังคาร และโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน ที่สนับสนุนเด็กและเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์ จากการที่ สวทช. ได้ตระหนักถึงความสำคัญด้านนี้ จึงได้
ร่วมสนับสนุนรางวัลเป็นเงินสด 70,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ผู้ที่ชนะการประกวดในครั้งนี้
ผมหวังว่าผลจากการสนับสนุนในครั้งนี้ จะเป็นเวทีที่สร้างนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์หน้าใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในบ้านเราตลอดจนเผยแพร่ผลงานวิทยาศาสตร์ที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ให้มีโอกาสเผยแพร่ออกไปได้อย่างกว้างขวาง”
นางสุวดี จงสถิตย์ วัฒนา กรรมการผู้จัดการบริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด “ในนามของบริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานแถลงข่าวการจัดประกวดนิยายวิทยาศาสตร์ รางวัลจันตรี ศิริบุญรอด ครั้งที่ 1 ประจำปี 2548 ครั้งนี้ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีคุณภาพ เราเชื่อว่าการปลูกฝังความสนใจการเรียนวิทยาศาสตร์ตั้งแต่วัยเยาว์จะช่วยส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนรักการอ่านและการเรียนรู้ไปตลอดชีวิต ด้วยปณิธานที่แน่วแน่ นานมีบุ๊คส์ จึงสะท้อนภาพสู่สังคมด้วยการผลิตหนังสือเสริมการอ่านและการเรียนรู้ด้านวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสร้างสรรค์ ผลักดันกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อบรรลุความคิดและอุดมคติดังกล่าว
ช่วงเวลา 12 ปีที่ผ่านมา บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด เห็นว่านโยบายส่งเสริมให้เยาวชนรักการอ่านว่าเป็นเรื่องสำคัญเป็นการส่งเสริมการอ่านให้แก่เด็ก เป็นการส่งเสริมให้เด็กรู้จักแยกแยะวิเคราะห์ว่าวรรณกรรมเยาวชนกับนิยายวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชน มีความแตกต่างกันอย่างไร ปัจจุบันยังขาดองค์ความรู้และคนที่จะทำด้วย
นางสาวกรเกษ ศิริบุญรอด หลานสาวซึ่งเป็นทายาทของครูจันตรี ศิริบุญรอด “คุณพ่อ เคยเล่าให้ฟังเสมอเมื่อยังเด็กว่าคุณปู่รักงานเขียนมากจนกระทั่งลาออกจากงานประจำมาเขียนหนังสืออย่างจริงจัง ประวัติโดยสังเขปของนายจันตรี ศิริบุญรอด เป็นคนธนบุรีโดยกำเนิด บ้านเกิดอยู่แถว ๆ กรมอู่ทหารเรือ เกิดเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2460 ปีเถาะ เป็นบุตรคนโตของเรือโทเสงี่ยมและนางละม้าย ในช่วงวัยรุ่นพักอยู่ที่วัดระฆังโฆษิตาราม ข้ามมาเรียนหนังสือที่ฝั่งพระนคร เรียนกวดวิชาด้วยตนเองจนสามารถสอบเทียบ ม.8 ได้ในสมัยนั้น ศิษย์วัดระฆังฯ ที่สนิทในรุ่นเดียวกันคือ คุณชอบ ศรีสุกปลั่ง
หลังจากที่ครูจันตรี จบชั้นมัธยมปีที่ 8 ก็สอนหนังสือเลี้ยงชีพที่โรงเรียนแถวท่าช้าง ต่อมาได้เข้าทำงานในกรมเชื้อเพลิงได้ศึกษาวิชาพิเศษที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในยุคตลาดวิชาด้วย แต่เรียนไม่จบเนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจและเรื่องครอบครัว
จากนั้นได้ย้ายไปอยู่ลำปาง เมื่อปี พ.ศ. 2493 เป็นครูสอนวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมปลาย ที่โรงเรียนเคนเน็ตแมคเคนซี จนถึงปี พ.ศ. 2496 ระหว่างที่เป็นครูสอนวิทยาศาสตร์ที่ลำปาง มีบทความทางวิทยาศาสตร์และนิยายวิทยาศาสตร์ รวมทั้งนิยายรักลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอยู่เนือง ๆ และยังร่วมมือกับลูกศิษย์เปิดร้านหนังสือเล็ก ๆ ชื่อว่า เบสต์ เซลเลอร์ ขึ้นด้วย ระหว่างนั้นได้ติดต่อกับอาจารย์ปรีชา อมาตยกุล ผู้ช่วยเลขาธิการสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ ได้ร่วมกันทำ นิตยสาร วิทยาศาสตร์มหัศจรรย์ ขึ้นมา เล่มแรกเมื่อปี พ.ศ. 2498 โดยการจัดพิมพ์ของ สำนักพิมพ์ ไทยวัฒนาพานิชในนามของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ
นายจันตรี ศิริบุญรอด แต่งงานเมื่ออายุ 24 ปี กับคุณสอางค์ ม่วงสุวรรณ มีบุตรด้วยกัน 10 คน เสียชีวิตไป 2 คน บุตรทั้ง 8 คน มีชื่อปรากฏในนิยายวิทยาศาสตร์แบบไทย ๆ ที่เขาเคยเขียน เรียงลำดับดังนี้ นางกรองกาญจน์ , นางกิ่งแก้ว , นายกรมัย , นายยัตรมัน , นายยันตรมัย , นางกรองแก้ว , น.ส. กิ่งกาญจน์, น.ส. เกษแก้ว”
ช่วงที่ทำหนังสือได้ย้ายเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ เขียนบทความและนิยายวิทยาศาสตร์ให้กับนิตยสารวิทยาศาสตร์ - มหัศจรรย์ และ ประกอบอาชีพเป็นครูพิเศษที่โรงเรียนศรีอักษร ต่อมาย้ายมาสอนที่โรงเรียนแสงอรุณเป็นโรงเรียนสุดท้าย ภายหลังลาออกจากการสอนแล้วอุทิศตนเองให้กับการทำหนังสืออย่างเต็มที่ถึงกับลงทุนพิมพ์หนังสือขึ้นมาเองในครอบครัวศิริบุญรอด เมื่อปี พ.ศ. 2501 พ็อกเกตบุ้ค เล่มที่ชื่อ ผู้สร้างอนาคต เป็นหนังสือเล่มแรกจึงได้ถือกำเนิดขึ้น โดยมีบุตรสาวคนที่สอง คือ กิ่งแก้ว ศิริบุญรอด เป็นผู้รวบรวมจัดพิมพ์ ในช่วงที่ทำหนังสือของตนเอง ครูจันตรี ศิริบุญรอด ก็ยังคงทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการเขียนเรื่องให้กับวิทยาศาสตร์- มหัศจรรย์มาโดยตลอดจนครบ 75 เล่ม ระยะเวลาการทำทั้งสิ้น 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 — 2502 ยุติลงเนื่องจากประสบปัญหาการล่าช้าและขาดทุน
จากนั้น ครูจันตรี ศิริบุญรอด ได้ทำนิตยสารขึ้นมาใหม่ โดยย้ายไปพิมพ์ที่โรงพิมพ์ชัยชนะ ออกหนังสือ วิทยาศาสตร์ — อัศจรรย์ กว่า 35 เล่ม ประสบปัญหาเรื่องการกระจายหนังสือในตลาด จึงต้องเลิกไปในที่สุด เมื่อปี พ.ศ. 2505 และได้หาเลี้ยงชีพโดยการเขียนหนังสือส่งตามสำนักพิมพ์ต่าง ๆ และออกหนังสือของตัวเองมาโดยตลอด จนกระทั่งจบชีวิตลงท่ามกลางงานเขียนหนังสือที่ยังทำไม่เสร็จ เมื่ออายุ 51 ปี ในวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2511 ด้วยโรคไตพิการ”
ผลงานเด่นของครูจันตรี ศิริบุญรอด “ผลงานที่เด่น ๆ มีวารสารวิทยาศาสตร์เล่มแรกของไทย คือ วิทยาศาสตร์ — มหัศจรรย์ จำนวน 75 เล่ม และนิตยสารวิทยาศาสตร์ — อัศจรรย์ อีกจำนวน 35 เล่ม และพ็อกเกตบุ้คอีกหลายเล่ม อาทิ ผู้สร้างอนาคต ผู้ดับดวงอาทิตย์ มนุษย์คู่ โลกถล่ม ผู้พบแผ่นดิน เป็นต้น”
“เมื่อครั้งที่ครูจันตรี ศิริบุญรอดมีชีวิตอยู่เพื่องานเขียนหนังสือ เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์โดยแท้จริงในจำนวนหนังสือนับเป็นจำนวนร้อย ๆ เล่มที่เขาผลิตขึ้นมา ไม่มีแม้แต่เล่มเดียวที่ครูจันตรี จะเขียนเกี่ยวกับชีวิตของตนเอง จนแม้แต่การพูดคุยเกี่ยวกับชีวิตของตนเองก็ไม่ค่อยได้เปิดเผยออกมา หนทางเดียวที่จะเข้าใกล้ชิดครูจันตรีมากที่สุดก็คือ การทำความรู้จักกับผลงานของเขานั่นเอง และในจำนวนผลงานของครูจันตรี ศิริบุญรอดนั้น นิตยสารในชุดวิทยาศาสตร์ — มหัศจรรย์ จำนวน 75 เล่ม ใช้เวลาทำ 5 ปี และนิตยสารวิทยาศาสตร์ — อัศจรรย์ อีก 35 เล่ม ใช้เวลาทำ 3 ปี ได้เปรียบเสมือนส่วนหนึ่งของชีวิตครูจันตรีเลยทีเดียว ผู้ที่ได้อ่านหนังสือดังกล่าว จะได้รับรู้ถึงความตั้งใจจริงในการเผยแพร่วิทยาการทางวิทยาศาสตร์อย่างจริงจังของครูจันตรี ตั้งแต่หน้าปกแรกของหนังสือจนกระทั่งหน้าสุดท้าย
วิทยาศาสตร์ - มหัศจรรย์ เป็นนิตยสารทางวิทยาศาสตร์รายเดือน และเป็นรายปักษ์ในช่วงหลังเนื้อเรื่องส่วนใหญ่ ครูจันตรี จะเป็นคนเขียนหลัก โดยใช้นามปากกามากมายหลายชื่อ อาทิ ศศิธร , จันทรา —ราตรี เขียนเกี่ยวกับประวัตินักวิทยาศาสตร์ , สุวรรณี ศิริบุญรอด เขียนเกี่ยวกับสารคดี , ยันตรมัย , กิ่งแก้ว ซึ่งเป็นชื่อของลูกชายและลูกสาวของครูจันตรี ก็ถูกใช้เป็นนามปากกาเช่นเดียวกัน แต่สำหรับการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์แล้ว ครูจันตรี ศิริบุญรอด จะใช้ชื่อจริงทั้งสิ้น
นิตยสารวิทยาศาสตร์ — มหัศจรรย์ ออกติดต่อกันมาเป็นรายเดือนจนถึงฉบับที่ 24 เดือนพฤษภาคม 2500 ตั้งแต่ฉบับครบรอบปีที่ 3 เดือน มิถุนายน 2500 วิทยาศาสตร์ — มหัศจรรย์ จึงได้มีกำหนดออกเป็นรายปักษ์ จึงทำให้ต้องทำงานหนักยิ่งขึ้นไปอีกเป็นเท่าตัว แต่หนังสือก็มิได้ด้อยคุณค่าลงไปเลย และในฉบับที่ 24 นั้น ได้มีการเปลี่ยนตัวบรรณาธิการวิทยาศาสตร์ — มหัศจรรย์ เป็นครูจันตรี ศิริบุญรอด แทนอาจารย์ปรีชา อมาตยกุล
วิทยาศาสตร์ — มหัศจรรย์ ได้ปิดตัวลงในฉบับที่ 75 ด้วยเหตุผลที่ว่าหนังสือไม่สามารถออกตรงเวลาโดยมีสาเหตุสองประการ ปัญหาหนึ่งเป็นปัญหาของโรงพิมพ์ที่ต้องพิมพ์แบบเรียนจำนวนมาก จึงต้องเอาวิทยาศาสตร์ — มหัศจรรย์ออกจากแท่นก่อน กว่าจะได้พิมพ์ก็ต้องรอไป 15 วันเป็นอย่างน้อย ปัญหาที่สองคือ เรื่องปก ตามที่ตกลงไว้ปกต้องมีอย่างน้อย 3 สี ซึ่งทำให้เสียเวลามาก สาเหตุจากการออกหนังสอืไม่ตรงตามกำหนดยอดขายจึงลดลง จนในที่สุดต้องปิดตัวเองลง
วิทยาศาสตร์ — อัศจรรย์ เป็นนิตยสารที่เกิดขึ้นหลังปิดตัวลงของวิทยาศาสตร์ - มหัศจรรย์ โดยมีนายเริ่ม ศรีสาคร เจ้าของโรงพิมพ์ชัยชนะ บล็อกเป็นคนจัดพิมพ์ ครูจันตรียังคงเป็นหัวเรือใหญ่เช่นเคย และยังได้นายชอบ ศรีสุกปลั่ง ช่างวาดฝีมือดีมาช่วยวาดรูปปกและประดิษฐ์ตัวอักษรให้กับเนื้อเรื่องภายในเล่ม จัดว่าวิทยาศาสตร์ — อัศจรรย์ เป็นนิตยสารที่สมบูรณ์ทั้งด้านเนื้อหาและการจัดรูปเล่มทีเดียว แต่ในที่สุดเมื่อออกมาได้ถึงเล่มที่ 27 เป็นระยะเวลาประมาณ 3 ปี ก็เริ่มประสบปัญหาเกี่ยวกับโรงพิมพ์อีก”
แม้ครูจันตรี ศิริบุญรอด จะจากโลกนี้ไปอย่างเงียบเชียบ แต่ผลงานของท่านนั้นยังคงดังก้องอยู่ภายในจิตใจของเราเสมอ สำหรับวงการหนังสือด้านวิทยาศาสตร์ด้วยกันแล้ว ท่านเปรียบเสมือนบุคคลที่ช่วยปูทางเอาไว้ให้อย่างแน่นหนาที่สุด คำสอนของท่านมีอยู่แล้วในตัวหนังสือของท่าน ผู้ที่ใฝ่รู้ก็พึงจะรับรู้ได้โดยไม่มีขีดจำกัด สิ่งที่ชนรุ่นหลังจะพึงกระทำเพื่อแสดงความกตัญญูต่อท่าน คอื การหวนกลับไปดูเข็มทิศของท่าน เข็มทิศแห่งการเผยแพร่วิทยาศาสตร์อันแน่วแน่แล้วก้าวตามเข็มที่ท่านตั้งเอาไว้ ทำความเจริญก้าวหน้าให้กับการเผยแพร่วิทยาศาสตร์ต่อไป อันเป็นความมุ่งหวังของคุณครูจันตรี ศิริบุญรอด นักเขียนเรื่องมหัศจรรย์ที่คนไทยภาคภูมิใจ โครงการประกวดนิยายวิทยาศาสตร์ รางวัลจันตรี ศิริบุญรอด เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ส่งเสริมให้เกิดนิยายวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้นในวงการตลาดหนังสือของไทย และสนับสนุนให้มีนักเขียนใหม่ ๆ ทางด้านวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเขียนไทยเพิ่มมากขึ้น และเพื่อเป็นการยกย่องและเชิดชูเกียรตินักเขียนเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ยุคบุกเบิกคนสำคัญของไทย คือ นายจันตรี ศิริบุญรอด จึงได้จัดการประกวดการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ ภายใต้รางวัล “จันตรี ศิริบุญรอด” หวังว่าโครงการนี้ จะสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนทั่วไป ได้เกิดความคิดสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์และให้เกิดนิยายวิทยาศาสตร์ที่มีอรรถรสชวนอ่านและมีคุณภาพในเชิงวรรณศิลป์ของไทยสืบต่อไป
นานาทัศนะเกี่ยวกับ “จันตรี ศิริบุญรอด”
“เห็นได้ชัดเจนถึงความพยายามจะเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารความรู้ที่ทันสมัยทางด้านวิทยาศาสตร์ของครูจันตรี ศิริบุญรอด ซึ่งในยุคนี้ รัฐบาลไทย โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ให้ความสำคัญและมีการจัดตั้งโครงการสร้างความตระหนักทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้นมา การเขียนเรื่องทางวิทยาศาสตร์ก็เป็นแนวทางสำคัญอันหนึ่งที่เป็นการสร้างความตระหนักทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่ประชาชน ให้ความรู้แก่นักเรียน นักศึกษา ครูที่สอนวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะส่งผลต่อเด็กและเยาวชนซึ่งจะเป็นกำลังของชาติต่อไปในอนาคต”
รองศาสตราจารย์ ดร.กำจัด มงคลกุล อดีตนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ
“เห็นได้ชัดทีเดียวว่า หนังสือวิทยาศาสตร์ - มหัศจรรย์ ในสมัยนั้น เป็นยาบำรุงสติปัญญาบำรุงสมองแก่นักเรียนผู้ใฝ่แสวงหาความรู้ และก็ควรจะหาคนเขียนขึ้นมาใหม่ที่มีความสามารถน้อง ๆ คุณจันตรี เพราะหนังสือแบบนี้ไม่ใช่บ้านเราจะมีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ในเอเชีย ที่เมืองจีน เขาก็มี นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์เด่น ๆ อยู่หลายคน ญี่ปุ่น ก็มี อินเดียวก็มี แล้วทำไมของไทยเราจะปล่อยให้มันเงียบหายไป เราจะต้องสร้างขึ้นมา”
ดร.ปรีชา อมาตยกุล อดีตบรรณาธิการนิตยสารวิทยาศาสตร์ — มหัศจรรย์
“ผมมีความรู้สึกต่อคุณจันตรีว่า เราจะหาบุคคลอย่างนี้ยากมาก คือหลักการเขียนของนักเขียนที่ผลิตงานทุกวันสามารถหาเกร็ดมาเขียนได้เรื่อย ๆ ไม่ใช่ง่าย มันจะต้องเป็นคุณสมบัติพิเศษคล้ายว่าเป็นพรสวรรค์อย่างหนึ่ง ที่สามารถทำให้เขาเขียนได้ในสไตล์ของเขา ผมเชื่อว่าคนที่เขียนเรื่องทำนองนี้ทุกคนจะต้องเป็นผู้ที่ได้อ่านหนังสือมามาก การเขียนแนวนี้ต้องอาศัยความสามารถพิเศษมาก ๆ คนที่มีความรู้มาก ๆ อาจจะไม่สามารถเขียนได้ในทำนองนี้ อย่างนี้ต้องเรียกว่า นาน ๆ เราจะเจอคนประเภทนี้เข้าซะที”
ดร.วิรุฬ สายคณิต นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2528
“ผมถือว่าคุณจันตรี ศิริบุญรอด เป็นผู้ที่เขียน เป็นผู้ที่เล่นกับการเขียนเชิงนิยายวิทยาศาสตร์ไทยมากกว่าทุกคน โดยเหตุนี้เอง ผมจึงเขียนไว้ในคำนำของหนังสือที่ผมรวบรวมผลงานของคุณจันตรี ว่าเป็นเสมือนบิดาแห่งนิยายวิทยาศาสตร์ไทย ซึ่งในความหมายแล้วหลายคนอาจเข้าใจว่าหมายถึงคนแรกใช่หรือไม่ ความหมายของคำว่าบิดาในกรณีนี้ ไม่ได้ถือว่าคุณจันตรีเป็นคนแรกที่เขียนวรรณกรรมประเภทนิยายวิทยาศาสตร์ขึ้นในแวดวงวรรณกรรมไทย แต่ในฐานะที่ท่านเป็นผู้ที่เขียนผลงานในแนวนี้เอาไว้อย่างชัดเจนและมากมาย ฝากผลงานทิ้งไว้เป็นมรดกที่ล้ำค่าของวงการวรรณกรรมไทยมากที่สุด จึงถือว่าท่านเป็นบิดานิยายวิทยาศาสตร์ไทยได้”
สุชาติ สวัสดิ์ศรี นักเขียนและอดีตบรรณาธิการสังคมศาสตร์ปริทัศน์
“คุณจันตรี เป็นคนที่สนใจเรื่องทางวิทยาศาสตร์มากและมีความตั้งใจจริงที่จะเผยแพร่ความรู้และเป็นผู้กระตุ้นให้คนรุ่นใหม่เกิดความสนใจทางวิทยาศาสตร์ทุก ๆ สาขา เรื่องของคุณจันตรี ผมจะอ่านทุกเรื่องรู้สึกว่าแกมีแนวคิดที่ดี เป็นแนวคิดที่สร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ไม่น้อยทีเดียว แทบทุกเรื่องที่เขียนมันให้ความคิดแปลก ๆ อยู่เสมอ”
นายแพทย์สิริ พัฒนกำจร นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์
โครงการประกวดนิยายวิทยาศาสตร์ รางวัลจันตรี ศิริบุญรอด เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ส่งเสริมให้เกิดนิยายวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้นในวงการตลาดหนังสือของไทย และสนับสนุนให้มีนักเขียนใหม่ ๆ ทางด้านวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเขียนไทยเพิ่มมากขึ้น และเพื่อเป็นการยกย่องและเชิดชูเกียรตินักเขียนเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ยุคบุกเบิกคนสำคัญของไทย คือ นายจันตรี ศิริบุญรอด จึงได้จัดการประกวดการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ ภายใต้รางวัล “จันตรี ศิริบุญรอด” หวังว่าโครงการนี้ จะสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนทั่วไป ได้เกิดความคิดสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์และให้เกิดนิยายวิทยาศาสตร์ที่มีอรรถรสชวนอ่านและมีคุณภาพในเชิงวรรณศิลป์ของไทยสืบต่อไป
การประกวดนิยายวิทยาศาสตร์
รางวัล จันตรี ศิริบุญรอด ครั้งที่ 1 ปี พ.ศ. 2548
คณะกรรมการโครงการ
1. รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ
ประธานกรรมการ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ
2. นางสุวดี จงสถิตย์วัฒนา
รองประธานกรรมการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด
3. นายพงษ์เทพ บุญศรีโรจน์
รองประธานกรรมการประธานชมรมนักเขียนและผู้จัดทำหนังสือวิทยาศาสตร์ (นจวท.)
4. นายจุมพล เหมะคีรินทร์
ที่ปรึกษาชมรมนักเขียนและผู้จัดทำหนังสือวิทยาศาสตร์ (นจวท.)
5. นางฤทัย จงสฤษด์
กรรมการ โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพสำหรับเด็กและเยาวชน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
6. นายบำรุง ไตรมนตรี
หัวหน้าโครงการฯ
7. นางสาวเสาวลักษณ์ พิพัฒนานุกูลชัย
ผู้จัดการกิจกรรมประกวด
8. นางรุ่งนภา ทัดท่าทราย
กรรมการและเลขานุการ
9. นางสาววรรณนิการ์ ลิ้มสุวรรณ
กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการกรรมการพิจารณาตัดสินรางวัล
1. นางนัยนา นิยมวัน
รองประธานชมรมนักเขียนและผู้จัดทำหนังสือวิทยาศาสตร์ (นจวท.)
2. นางประภาศรี เทียนประเสริฐ
ที่ปรึกษาชมรมนักเขียนและผู้จัดทำหนังสือวิทยาศาสตร์ (นจวท.)
3. นายจุมพล เหมะคีรินทร์
ที่ปรึกษาชมรมนักเขียนและผู้จัดทำหนังสือวิทยาศาสตร์ (นจวท.)
4. ศ.บุญถึง แน่นหนา
ที่ปรึกษาชมรมนักเขียนและผู้จัดทำหนังสือวิทยาศาสตร์ (นจวท.)
5. นางสาวสุภารัตน์ ภูไตรรัตน์
บรรณาธิการ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด
การจัดประกวดนิยายวิทยาศาสตร์ รางวัลจันตรี ศิริบุญรอด ประจำปี 2548 มีระยะเวลาดำเนินการ 12 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน 2547 ถึง ตุลาคม 2548 กำหนดระยะเวลาส่งผลงานเริ่มต้นเดือน พฤศจิกายน — 30 เมษายน 2548 ประกาศผลวันที่ 1 กันยายน 2547 มอบรางวัลในเดือน ตุลาคม 2548
ลักษณะของผลงานที่จะส่งเข้าประกวด
1. เป็นงานประเภท “นิยายวิทยาศาสตร์”
2. เป็นงานเขียนภาษาไทย เหมาะสำหรับเยาวชนอายุ 12-25 ปี
3. เป็นเรื่องที่เขียนขึ้นใหม่ ไม่ได้ลอกเลียนหรือดัดแปลงมาจากเค้าโครงเรื่องอื่น
4. ไม่เคยตีพิมพ์หรือเผยแพร่ในสื่อใด ๆ มาก่อน
5. ต้นฉบับเป็นภาษาไทย ตัวพิมพ์ใช้ font Cordia New ขนาด 16 point มีความยาวไม่ต่ำกว่า 60 หน้าและไม่เกิน 100 หน้า กระดาษ A4 ส่งสำเนาต้นฉบับ 5 ชุด พร้อมแผ่นดิสก์ หรือแผ่น CD ระบุชื่อ ที่อยู่ รหัสไปรษณีย์ หมายเลขโทรศัพท์ โทรสาร หรือ E-mail ของผู้ส่งผลงานอย่างชัดเจน
6. เนื้อหาไม่ขัดต่อความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยของชาติและศีลธรรมอันดี
เงื่อนไขในการส่งผลงานเข้าประกวด
1. ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดมีสิทธิส่งได้ไม่เกิน 1 ผลงาน
2. ผลงานที่ส่งเข้าประกวดต้องไม่ส่งเข้าประกวดวรรณกรรมรางวัลอื่น ๆ ที่จัดประกวดในช่วงเดียวกัน
3. กรณีใช้นามปากกาหรือนามแฝง ผู้ส่งผลงานต้องแจ้งชื่อและที่อยู่จริงที่สามารถติดต่อได้สะดวก
4. ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดจะต้องทำสำเนาต้นฉบับเก็บไว้เอง ผู้จัดการประกวดจะไม่คืนต้นฉบับให้
5. ผลงานที่เข้ารอบสุดท้าย คณะกรรมการชมรม นจวท. เป็นผู้มีสิทธิในการจัดพิมพ์ครั้งแรก รวมทั้งสิทธิ์การตรวจแก้ไขต้นฉบับด้วย
6. ต้นฉบับที่ผ่านการตัดสินให้รับรางวัลทุกรางวัล บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด ถือสิทธิ์ในการพิจารณาเป็นผู้จัดพิมพ์เป็นบริษัท ฯ แรก โดยผู้เขียนจะได้รับลิขสิทธิ์ 10 % ของการจัดพิมพ์ครั้งแรก จำนวน 3,000 เล่มและมอบค่าตอบแทน 2% ในการจัดพิมพ์ครั้งแรกให้ชมรม นจวท. เพื่อเป็นทุนสำรองให้ดำเนินโครงการต่อไป
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ