กรุงเทพฯ--11 มี.ค.--ปตท.
ราคาน้ำมันเฉลี่ยในสัปดาห์ที่ 4-8 มี.ค. 2556 น้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูปลดลงทุกชนิด โดยน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ปรับตัวลดลง 1.89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 106.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 1.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 110.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบเวสท์ เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 1.27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 90.98 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาเฉลี่ยน้ำมันน้ำมันเบนซินออคเทน 95 ลดลง 3.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 125.70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 3.41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 125.76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่ :
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ
- สำนักงานสถิตติแห่งชาติ (National Bureau of Statistics) ของจีนรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Managers' Index (PMI)) เดือน ก.พ. 2556 ลดลงจากเดือนก่อน 0.3 จุด อยู่ที่ระดับ 50.1 นับเป็นจุดต่ำสุดในรอบ 5 เดือน
- Markit Economics รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของฝรั่งเศส (Manufacturing PMI) เดือน ก.พ. 56 เพิ่มขึ้น 0.3 จุด อยู่ที่ระดับ 43.9 จุด โดยที่ฝรั่งเศสประเทศที่มีเศรษฐกิจรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของกลุ่มประเทศยูโรโซนแม้ว่าดัชนีภาคการผลิตปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 43.9 จุด แต่ยังคงอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 50 จุด บ่งชี้ถึงการหดตัวในกิจกรรมภาคการผลิตเป็นเดือนที่ 13 ติดต่อกัน
- สำนักงานสารสนเทศพลังงานของสหรัฐฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาส่งออกน้ำมันดิบไปยังประเทศเม็กซิโก เนื่องจากสหรัฐฯมีกำลังการผลิตน้ำมันดิบชนิดเบาและกำมะถันต่ำ (Light Sweet Crude) ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง (เดือน ธ.ค. 2555 ปริมาณผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ปัจุบันกฎหมายและข้อกำหนดของประเทศสหรัฐฯ ห้ามไม่ให้ส่งออกน้ำมันดิบ
- สำนักงานสารสนเทศพลังงานของสหรัฐฯ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 มี.ค. 2556 เพิ่มขึ้น 3.8 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 381.4 ล้านบาร์เรล สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน 10.3% และสูงกว่าปริมาณสำรองเฉลี่ย 5 ปี ที่ 11.5%
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก
- กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 2 มี.ค. 56 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 7,000 ราย อยู่ที่ 340,000 ราย นับเป็นจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเฉลี่ยรายเดือนต่ำสุดในรอบ 5 ปี
- ทางการญี่ปุ่นรายงานอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาสที่ 4/2555 อยู่ที่ระดับ 0.2% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่หดตัว 0.4%
- 4 มี.ค. 2556 ประธานาธิบดี Hugo Chavez ประเทศเวเนซูเอลาเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ภายหลังจากการปกครองประเทศมาเป็นระยะเวลา 14 ปี ส่งผลต่อความไม่แน่นอนทางการเมืองและทิศทางพลังงานในประเทศ โดยเวเนซูเอลาเป็นสมาชิก OPEC ที่มีการผลิตน้ำมันดิบในเดือน ก.พ. 56 ที่ระดับ 2.34 ล้านบาร์เรลต่อวัน และที่ผ่านมาเวเนซูเอลาจำหน่ายน้ำมันในราคาต่ำกว่าราคาตลาดแก่ประเทศพันธมิตร เช่น คิวบา ทั้งนี้จะมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 30 วัน
- Royal Dutch Shell ประกาศเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) หยุดการส่งมอบน้ำมันดิบ Bonny Light จากประเทศไนจีเรียภายหลังพบท่อขนส่งน้ำมัน Nembe Creek Trunkline 150,000 บาร์เรลต่อวัน รั่วจากการกลุ่มโจรทำการจารกรรมน้ำมันทางท่อขนส่งน้ำมันดิบ ทั้งนี้ในจีเรียประสบปัญหาการลักลอบขโมยน้ำมันในประเทศ เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้นักลงทุนสนใจการลงทุนแหล่งผลิตปิโตรเลียมในประเทศไนจีเรียลดลง
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงภายหลังสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch Ratings ลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศอิตาลี จากเดิมที่ระดับ A- สู่ BBB+ เพราะคาดว่าอิตาลีจะไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ภายใน 2-3 สัปดาห์นี้ ทำให้การบริหารประเทศหยุดชะงักกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจส่งผลให้กลุ่มผู้จัดการกองทุนลดการถือสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ( Net Long Position) ของตลาดนิวยอร์คและลอนดอนสัปดาห์สิ้นสุด 5 มี.ค. 2556 ลดลง 5,468 สัญญา มาอยู่ที่ 195,992 สัญญา ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจของจีนที่ไม่แข็งแกร่งอีกทั้งปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบของจีนในเดือน ก.พ. 2556 ลดลงอยู่ที่ระดับ 5.42 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ลดลงจากเดือนก่อน -8.4% และลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน -8.9%) เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้นและการใช้ในประเทศลดลงหลังช่วงเทศกาลตรุษจีน อย่างไรก็ตามโรงกลั่นของอินเดียประกาศอาจต้องระงับการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านที่มีมูลค่ากว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯต่อเดือน เพราะมาตรการคว่ำบาตรของบรรดาชาติตะวันตก ทำให้โรงกลั่นอินเดียที่กลั่นน้ำมันดิบจากอิหร่านจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ส่งผลให้โรงกลั่นหลายแห่ง เช่น MRPL ต้องจัดหาน้ำมันดิบทดแทนจากตลาดจรกว่า 2 ล้านบาร์เรล ส่วนจีนที่เพิ่งเปลี่ยนผู้นำประเทศมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานคณะรัฐมนตรี อาทิยุบกระทรวงรถไฟเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการการบริหารและการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ คาดว่าในสัปดาห์นี้ราคาน้ำมันดิบ Brent และ WTI จะเคลื่อนไหวในกรอบ 108.33 - 113.68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ 90.17 - 94.91 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ