กรุงเทพฯ--11 มี.ค.--ธนาคารกรุงเทพ
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขานรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) และการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ จับมือ 2 เอกชนยักษ์ใหญ่ “สยามกลการและธนาคารกรุงเทพ” โดยให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดตัวโครงการ Auto TU เร่งผลิตบัณฑิตออกสู่ตลาดโลก จัดหลักสูตร “วิศวกรรมยานยนต์” ภาคภาษาอังกฤษ ทุ่มงบกว่า 200 ล้านบาท พัฒนาอาคารปฏิบัติการ สื่อการเรียนการสอนอันทันสมัย อาคารหอพักพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก ขึ้นที่ มธ.ศูนย์พัทยา ตั้งเป้าร่วมผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของโลก
ศาสตราจารย์ ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เนื่องจาก อุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยมีอัตราการเจริญเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พบว่ายอดการผลิตรถยนต์ไทยในปี 2555 มีปริมาณ 2.45 ล้านคัน เพิ่มจากปี 2554 ถึง ร้อยละ 68.32 ส่งผลให้ไทยเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่จากเดิมอันดับที่ 14 มาเป็นอันดับที่ 10 ของโลก และในปี 2556 คาดว่าจะผลิตรถยนต์ได้ในปริมาณ 2.5-2.6 ล้านคัน และก้าวขึ้นเป็นผู้นำการผลิตรถยนต์อันดับที่ 9 ของโลก อีกทั้งรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ในภูมิภาคเอเชีย ส่งผลให้เกิดความต้องการบุคลากรจำนวนมากในอุตสาหกรรมยานยนต์ ทำให้ประเทศไทยประสบกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านวิศวกรยานยนต์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนบุคลากรดังกล่าว จึงได้ก่อตั้งโครงการหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมยานยนต์ ขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ซึ่งเป็นหลักสูตรภาคภาษาอังกฤษ เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558
โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนงบลงทุนจาก บริษัท สยามกลการ จำกัด และ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในการก่อสร้างอาคารปฏิบัติการวิศวกรรมยานยนต์ สื่อการเรียนการสอนอันทันสมัย อาคารหอพัก พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก มูลค่า 100 ล้านบาท ซึ่งต่างก็มีความเห็นสอดคล้องกันในการร่วมกันผลิตบัณฑิตสาขาวิศวกรรมยานยนต์ หลักสูตรภาคภาษาอังกฤษ เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์และพัฒนาคุณภาพของบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการอย่างแท้จริง และบัณฑิตของภาควิชาวิศวกรรมยานยนต์ยังสามารถนำความรู้ความสามารถไปประกอบวิชาชีพส่วนตัวได้เป็นอย่างดี
โครงการนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับภาคอุตสาหกรรม หลักสูตรจึงตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้อย่างแท้จริง มีคณาจารย์ของภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลเป็นผู้สอนหลัก ร่วมกับอาจารย์พิเศษมีความรู้ความสามารถตรงสาขา และมีผู้เชี่ยวชาญจากภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ จากบริษัทเอกชนชั้นนำหลายแห่ง เป็นผู้สนับสนุนและร่วมให้ความรู้
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมยานยนต์ เป็นหลักสูตร 4 ปี มีเนื้อหาพื้นฐานทางด้านวิศวกรรมเครื่องกล โดยเน้นการเพิ่มวิชาเฉพาะทางด้านวิศวกรรมยานยนต์ที่ครอบคลุมภาคทฤษฏี ภาคปฏิบัติ ทั้งในด้านการออกแบบ และด้านการผลิต และมีการสนับสนุนให้นักศึกษาไปฝึกปฏิบัติงานเพื่อสร้างประสบการณ์จริงในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ และภาคอุตสาหกรรมแขนงต่างๆ นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ เช่น University of New South Wales, University of Nottingham และ Nagaoka University of Technology เป็นต้น นักศึกษาจะมีโอกาสเข้าสู่โครงการแลกเปลี่ยน ทำให้นักศึกษามีความพร้อมด้านภาษา และสามารถทำงานในต่างประเทศเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดร. พรเทพ พรประภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามกลการ จำกัด กล่าวว่า “กลุ่มสยามกลการ” ได้ริเริ่มและบุกเบิกดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นกลุ่มแรกของเมืองไทย และธุรกิจสินค้าแบรนด์ระดับโลกอีกหลายสินค้า โดยเฉพาะได้ดำเนินธุรกิจรถยนต์ และเครื่องจักรกลหนักในประเทศไทย มาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 60 ปีแล้ว อาทิ รถยนต์นิสสัน, เครื่องดนตรียามาฮ่า, เครื่องจักรกลหนักโคมัตสุ, นอกจากนี้ ยังรวมถึงธุรกิจชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์อื่นๆ อีกหลายสินค้าด้วยกัน ซึ่งอุตสาหกรรมต่างๆ เหล่านั้นล้วนเกี่ยวข้อง และสอดคล้องกับหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์
ที่สำคัญ ในโอกาสครบรอบ 60 ปี สยามกลการ ได้มีแนวความคิดเรื่องการศึกษาร่วมกันกับมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จับมือสนับสนุนการศึกษา “โครงการ Auto TU” ขึ้นโดยใช้ที่ดินเดิมที่ท่านประธานกิตติมศักดิ์ ดร.ถาวร พรประภา ได้มอบแก่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 565 ไร่ เมื่อปี 1987 ซึ่งปัจจุบันเป็น “วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา” โดยปีนี้ “กลุ่มสยามกลการ” สนับสนุนเงินสมทบทุนเพื่อก่อสร้างอาคารปฏิบัติการวิศวกรรมยานยนต์ จำนวน 60 ล้านบาท เพื่อเป็นศูนย์การผลิตและพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางด้านวิศวกรรมยานยนต์ ขึ้น และมั่นใจว่าบุคลากรคนไทยเหล่านี้ จะมีศักยภาพทางด้านวิศวกรยานยนต์เพิ่มมากขึ้น
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมสนับสนุนงบประมาณ จำนวน 30 ล้านบาท ให้กับโครงการจัดตั้งหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมยานยนต์ (หลักสูตรภาษาอังกฤษ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อใช้สำหรับก่อสร้างอาคารปฏิบัติการวิศวกรรมยานยนต์ สื่อการเรียนการสอนให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมยานยนต์ที่มีศักยภาพสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดยานยนต์ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง และมองเห็นศักยภาพที่จะขยายตัวมากยิ่งขึ้นเมื่อเข้าสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเป็นทางการในปลายปี 2558 หลักสูตรดังกล่าวนี้จึงเป็นประโยชน์ทั้งต่อนักศึกษา อุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบ ตลอดจนภาพรวมทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ นับเป็นหนึ่งหลากหลายกิจกรรมที่ธนาคารมุ่งมั่นส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศไทยไทยพัฒนาสู่ความยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม