กรุงเทพฯ--11 มี.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กสอ. โชว์โครงการ TEM กลยุทธ์ช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมลดการใช้ไฟฟ้าใน 30 วัน ได้กว่า 10%
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โชว์แนวคิดโครงการ การจัดการพลังงานแบบสมบูรณ์เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงานสำหรับอุตสาหกรรม (TotalEnergy Management: TEM) แนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในช่วงวิกฤตพลังงานเดือนเมษายนนี้ เน้นกระบวนการผลิตที่มีการประหยัดพลังงานมากขึ้น ลดการสูญเสียจากการใช้พลังงานที่เกินความจำเป็น โดยโครงการ TEM เป็นโครงการที่มุ่งเน้นงานด้านพลังงานโดยตรง เพื่อให้วิสาหกิจสามารถลดต้นทุนด้านปริมาณการใช้พลังงานได้ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 5 เพื่อให้มีต้นทุนการผลิตต่ำที่สุด และเพิ่มคุณค่าในตัวสินค้าให้มากที่สุด นับเป็นการช่วยลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าในภาพรวมของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการลดภาวะวิกฤติในช่วงต้นเดือนเมษายนที่จะมาถึง โดยตั้งเป้ารณรงค์ให้โรงงานอุตสาหกรรม ที่มีอัตราการใช้พลังงานสูง 5 อันดับ อาทิ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก ฯลฯ ขณะที่ กสอ. ขอนำเสนอบริษัทผู้ผลิตพลาสติก บริษัท คอทโก้ พลาสติกส์ จำกัด บริษัทต้นแบบในการลดใช้พลังไฟฟ้าในโรงงาน หนึ่งในอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการ TEM กับ กสอ. ซึ่งก่อนเข้าร่วมโครงการฯบริษัทใช้พลังงานไฟฟ้าในการผลิตต่อปีสูงถึง 3.5 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง แต่หลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ ทำให้บริษัทเกิดแนวทางในการบริหารจัดการพลังงานในทิศทางที่เป็นระบบมากขึ้น เช่น Quality Control , Concurrent Engineering และ Value Engineer ฯลฯ ทำให้บริษัทสามารถลดใช้พลังงานไฟฟ้าในการผลิตต่อปีลดลงเหลือเพียง 3 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง คิดเป็นปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่ลดลงกว่า 15%พร้อมกันนี้บริษัทฯ ยังได้ร่วมมือกับ กสอ. ออก 8 มาตรการ รับมือสถานการณ์การขาดแคลนพลังงานในวันที่ 5 - 14 เมษายนนี้ สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม ที่สนใจเข้าร่วมโครงการและขอรับคำปรึกษาแนะนำในด้านการลดการใช้พลังงาน กับทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หมายเลขโทรศัพท์ 0 2367 8145 , 8128 หรือเข้าไปที่ www.dip.go.th
นายสามัคคี โพธิ์เจริญ ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาการใช้พลังงานและสิ่งแวดล้อม สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากกรณีที่พม่าจะหยุดส่งก๊าซธรรมชาติมายังประเทศไทย ในช่วงวันที่ 5 - 14 เมษายนนี้ เนื่องจากพม่าซ่อมท่อส่งก๊าซ ซึ่งอยู่ในช่วงเดียวกับวันที่มีอัตราการใช้พลังงานสูงสุดในรอบปี
พอดี ส่งผลให้ปริมาณไฟฟ้าสำรองของประเทศไทยลดลงเหลือเพียง 750 เมกะวัตต์ ทำให้มีโอกาสสูงที่ไฟฟ้าจะไม่พอใช้ และเกิดปัญหาไฟดับบางพื้นที่ได้ โดยสัดส่วนการใช้พลังงานไฟฟ้าเมื่อแยกตามสาขาพบว่าภาคอุตสาหกรรมมีการใช้ไฟฟ้ามากที่สุดถึง 43 % ของกำลังการผลิตทั้งประเทศ รองลงมาเป็นสาขาธุรกิจ รวมถึงการใช้ของภาครัฐและองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร 34 % , บ้านที่อยู่อาศัย 22.1% , สาขาเกษตรกรรม 0.2% , สาขาอื่น ๆ ที่มีการใช้ฟ้าชั่วคราว 0.6% และ สาขาขนส่งอย่างรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์0.1% ซึ่งเมื่อพม่าหยุดจ่ายก๊าซฯ แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคอุตสาหกรรม สำหรับอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรง 6 อันดับ ได้แก่
1. อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ
2. อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ
3. อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก
4. อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์
5. อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน
6. อุตสาหกรรมเครื่องเรือนและเครื่องตกแต่งในอาคาร
โดยปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมกว่า 70,000 แห่ง คิดเป็นปริมาณการใช้ไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมรวม 12,000 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ตาม ทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้หาแนวทางในการรับมือ กับเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นพร้อมการบริหารจัดการและบริหารความเสี่ยงให้กับภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมสามารถรับมือ และปรับตัวรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ตลอดจนการมีแนวทางในการประหยัดพลังงาน ลดการสูญเสียการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็นได้ต่อไปในอนาคต กสอ. จึงได้จัดทำโครงการการจัดการพลังงานแบบสมบูรณ์ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงานสำหรับอุตสาหกรรม (Total Energy Management: TEM ) ขึ้น ซึ่งเป็นโครงการ ที่ได้ดำเนินการมากว่า 10 ปี โดยเล็งเห็นถึงประโยชน์ของภาคอุตสาหกรรมในการลดการใช้พลังงาน จึงมีการจัดทำโครงการและกำหนดมาตรการในการใช้พลังงานขึ้น เพื่อผลประโยชน์ทั้งของผู้ประกอบการเองและของประเทศชาติด้วย ซึ่งที่ผ่านมามีภาคอุตสาหกรรมหลายสาขาได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวกับ กสอ. มาแล้วกว่า 700 กิจการ ส่งผลให้ทุกกิจการสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานได้จนนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน นายสามัคคีกล่าว
นายสามัคคีกล่าวต่อว่า สำหรับโครงการการจัดการพลังงานแบบสมบูรณ์เพื่อยกระดับประสิทธิภาพ การใช้พลังงานสำหรับอุตสาหกรรม คือ โครงการที่มุ่งเน้นงานด้านพลังงานโดยตรง เพื่อให้วิสาหกิจสามารถลดต้นทุน ด้านปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกส่วนในองค์กร ทั้งพนักงาน ฝ่ายสำนักงาน ฝ่ายผลิต ฝ่ายออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกแบบกระบวนการผลิต ซึ่งทุกส่วนงานจะต้อง มีจิตสำนึกร่วมกันในการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ในภาวะที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรงในตลาดโลก ทำให้บริษัททุกแห่ง ต้องลดต้นทุนการผลิตทุกทาง เพื่อให้มีต้นทุนการผลิตต่ำที่สุด และเพิ่มคุณค่าในตัวสินค้าให้มากที่สุด ความร่วมมือจากทุกฝ่ายจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยการผสมผสานแนวคิดทางการบริหารจัดการ เช่น Total Quality Control Engineering และ Value Engineering และสรุปเป็นแนวทางที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปประยุกต์ใช้ร่วมกับกิจกรรมอื่น ๆ ในโรงงานได้โดยง่าย ซึ่งที่ผ่านมามีภาคอุตสาหกรรมได้เข้าร่วมโครงการกับ กสอ. เป็นจำนวนมากและสามารถเรียนรู้วิธีการรับมือกับสถานการณ์วิกฤติพลังงานได้เป็นอย่างดีพร้อมมีแนวทางใน
การประหยัดพลังงานแบบสมบูรณ์ ยกตัวอย่างเช่น บริษัท คอทโก้ พลาสติกส์ จำกัด หนึ่งในบริษัทที่ได้รับรางวัลการจัดการพลังงานดีเด่น (TEM Award) จาก กสอ. ที่อาจได้รับผลกระทบสูง แต่บริษัทได้มีการเตรียมมาตรการรับมือไว้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามในเดือนเมษายนนี้ โดยเฉพาะวันที่ 5 - 14 เมษายน 2556 ที่จะถึงนี้ กสอ. ตั้งเป้าให้โรงงานอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการสามารถลดการใช้ไฟฟ้าลงให้ได้อย่างน้อย 10%
นางอุษณี มีประเสริฐสกุล ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท คอทโก้ พลาสติกส์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้ดำเนินงานด้านการผลิตแผ่นหนังเทียมและแผ่นพลาสติกพีวีซี ด้วยระบบ COATING และ CALENDERING เพื่อจำหน่ายและส่งออกให้กับภาคธุรกิจ ซึ่งในการผลิตนั้นจะมีการใช้พลังงานไฟฟ้าและพลังงานความร้อนเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตค่อนข้างสูง และบริษัทเองเห็นว่าทาง กสอ. มีโครงการประหยัดพลังงาน จึงได้เข้าร่วมโครงการ TEM กับ กสอ. ซึ่งหลังจากทีได้เข้าร่วมโครงการฯ ทำให้บริษัทเกิดแนวทางในการบริหารจัดการพลังงานในทิศทางที่เป็นระบบมากขึ้น เช่น Quality Control , Concurrent Engineering และ Value Engineer ฯลฯ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ร่วมกับกิจกรรมการประหยัดพลังงาน นอกจากนี้ยังสามารถปรับปรุงกระบวนการผลิต วัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับนโยบายการประหยัดพลังงานของกิจการได้ โดยมีการรับรู้และกระทำร่วมกันของทุกฝ่ายในบริษัทและจัดตั้งกลุ่มการประหยัดพลังงานขึ้นอย่างจริงจัง ตลอดจนบริษัทสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ ซึ่งก่อนเข้าร่วมโครงการนั้นบริษัทใช้พลังงานไฟฟ้าในการผลิต ต่อปีสูงถึง 3.5 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง แต่พอได้เรียนรู้วิธีการประหยัดพลังงานจากโครงการฯ พลังงานไฟฟ้าในการผลิตต่อปีลดลงเหลือเพียง 3 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง คิดเป็นปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่ลดลงกว่า 15 %
นางอุษณีกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับช่วงวิกฤติพลังงานที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายนนี้ บริษัทก็ได้มีแนวทางรับมือกับวิกฤตดังกล่าว 8 มาตรการ โดยได้รับความร่วมมือจาก กสอ. เพื่อเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ ด้วยมาตรการอย่างเป็นระบบ
ระยะสั้น ดังนี้
1. ให้พนักงานใส่ชุดทำงาน ที่สบายตัวไม่ร้อน (ผ้าฝ้าย หรือ เสื้อผ้าที่บางหน่อย)
2. เลื่อนเวลาทำงานจากเวลาปกติ (เฉพาะ พนง. PD1) จาก 08.00-16.00 น. เป็น 06.00-14.00 น. ส่วน PD2 ช่วงเวลา 13.00 — 15.00 น. ที่วางแผนงานให้เป็นช่วงเวลาเปลี่ยนออเดอร์และเตรียมการผลิต
3. มาตรการสลับวันหยุด วันที่ 5 - 14 เม.ย. 56 ประมาณ 2 วัน แล้วไปชดเชยในวันหยุดถัดไป
ระยะยาว ดังนี้
4. ลดไฟฟ้าแสงสว่างที่ไม่จำเป็นในอาคารโรงงานและในสำนักงาน เปิด สลับปิด เป็นระยะ
5. ลดการใช้เครื่องปรับอากาศโดยปรับอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 25?c ปิดเครื่องก่อนพักเที่ยงและก่อนเลิกงาน 15 นาที
6. ปิดหน้าจอคอมฯ ที่ไม่ใช้งาน ในเวลาเที่ยง- บ่ายโมง พร้อมกับให้ปิดเครื่องคอมฯ ด้วย
7. ปิดไฟที่ไม่ใช้งาน ,ถอดปลั๊กกระติกน้ำร้อน , ปิดตู้เย็น 1 เครื่องจาก 3 เหลือ 2
8. หลีกเลี่ยงการใช้พลังงานเปิดเครื่องจักรช่วงเวลา peak
พร้อมอยากฝากให้โรงงานภาคอุตสาหกรรมทุกแห่งเริ่มต้นการประหยัดพลังงานในภาคอุตสาหกรรมของตน ซึ่งต้องไม่ใช่เพียงระยะสั้นที่จะมีวิกฤติพลังงานเท่านั้น หากแต่มองในแง่การประหยัดพลังงานในระยะยาว เพราะอย่างน้อยก็ทำให้ต้นทุนในการผลิตลดลง อีกทั้งยังเป็นการช่วยเหลือประเทศชาติอีกทางหนึ่งด้วย
สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่สนใจ สามารถเข้าร่วมโครงการกับทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และขอรับคำปรึกษาแนะนำ ในด้านการลดใช้พลังงาน สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หมายเลขโทรศัพท์ 0 2367 8145 , 8128 หรือเข้าไปที่ www.dip.go.th