โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของไทย เริ่มต้นคิดค่าเอฟทีในปี 2535

ข่าวทั่วไป Tuesday December 14, 2004 13:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ธ.ค.--สนพ.
แต่เดิมโครงสร้างค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชน การปรับค่าไฟฟ้าแต่ละครั้งต้องใช้ระยะเวลานานโดยเฉพาะหากต้องมีการปรับค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เพราะเกี่ยวข้องกับเสถียรภาพทางการเมืองและของรัฐบาล
ดังนั้น เพื่อให้การตัดสินใจเกี่ยวกับราคาค่าไฟแต่ละครั้งชัดเจนมากขึ้น และเป็นการแยกการปรับราคาค่าไฟฟ้าที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของราคาเชื้อเพลิงออกจากการตัดสินใจทางการเมือง การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2534 จึงมีมติเห็นชอบให้มีการนำสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (เอฟที) มาใช้ และได้เริ่มเรียกเก็บค่าไฟฟ้าตามสูตรเอฟทีมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2535 เพื่อให้ราคาค่าไฟสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง และลดผลกระทบของความผันผวนของราคาเชื้อเพลิง
ซึ่งโครงสร้างค่าไฟฟ้า ประกอบด้วย 2 ส่วน และได้มีการใช้มาจนถึงปัจจุบัน คือ
ค่าไฟฟ้าฐาน คำนวณจากค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างคงที่ ได้แก่ การลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า ระบบสายส่ง ระบบสายจำหน่าย และการผลิตพลังงานไฟฟ้า ภายใต้สมมติฐานความต้องการใช้ไฟฟ้า ราคาเชื้อเพลิง อัตราแลกเปลี่ยน อัตราเงินเฟ้อ ในระดับหนึ่ง โดยค่าไฟฟ้าฐานจะปรับทุก 3-5 ปี
และค่าเอฟที หรือค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ ซึ่งคำนวณจากค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง อัตราเงินเฟ้อ ผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนต่อภาระหนี้ของการไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายด้านการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (Demand Side Management : DSM) ที่เปลี่ยนแปลงไปจากค่าไฟฟ้าฐาน
รื้อสูตรค่าไฟใหม่ในปี 2543
ตั้งแต่การปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าเมื่อเดือนธันวาคม 2534 และการเรียกเก็บค่าเอฟทีในเดือนกันยายน 2535 เป็นต้นมา จนมาถึงเดือนตุลาคม 2543 เป็นเวลาเกือบ 10 ปี มีการปรับปรุงโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าเพียงเล็กน้อย โดยได้นำอัตราค่าไฟฟ้าที่แตกต่างกันตามช่วงเวลาของการใช้ (TOU) มาใช้ในปี 2540 การเปลี่ยนแปลงของค่าไฟในช่วงที่ผ่านมา จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงเพียงเฉพาะค่าเอฟทีเท่านั้น
การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2543 ได้เห็นชอบให้มีการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าและสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติใหม่ โดยให้มีการจำแนกต้นทุนค่าไฟฟ้าออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน โดยค่าไฟฟ้าฐาน และค่าเอฟที จะมีการจำแนกต้นทุนของ กิจการผลิต กิจการระบบส่ง กิจการระบบจำหน่าย และค้าปลีกไฟฟ้า
สำหรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐานยังคงเหมือนเดิม แต่ในส่วนของค่าเอฟทีได้มีการปรับปรุงรายละเอียดสูตรการคำนวณค่าเอฟทีให้มีความชัดเจน โปร่งใส ยิ่งขึ้น โดยนำค่าใช้จ่ายด้านการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (DSM) ออก รวมทั้งให้การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง มีส่วนร่วมในการรับภาระความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศด้วย ทั้งนี้ ภายหลังการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าฐานมีการปรับลดลงร้อยละ 2 ส่วนค่าเอฟทีมีการปรับใหม่ให้เท่ากับศูนย์ในรอบเดือนตุลาคม 2543 - มกราคม 2544 และเริ่มเรียกเก็บค่าเอฟทีตามสูตรใหม่ครั้งแรกในงวดเดือนกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม 2544 โดยอยู่ที่ระดับ 24.44 สตางค์ต่อหน่วย (สาเหตุหลักราคาก๊าซธรรมชาติได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก)
ตั้งคณะกรรมการฯ ตรวจสอบค่าไฟ
จากการที่ค่าเอฟทีได้มีการปรับขึ้นไปที่ระดับ 24.44 สตางค์ต่อหน่วย จึงทำให้มีกระแสเรียกร้องเพื่อให้ทบทวนโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ทั้งหมดอีกครั้ง
ดังนั้น เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2544 รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายจาตุรนต์ ฉายแสง ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน (กพง.) ซึ่งทำหน้าที่ดูแลนโยบายด้านพลังงานในขณะนั้น จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าและอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (เอฟที) เพื่อทำการศึกษาทบทวนโครงสร้างค่าไฟฟ้าทั้งหมดว่าเป็นธรรมและโปร่งใสหรือไม่ และผลการศึกษาฯ สรุปว่าโครงสร้างค่าไฟฟ้าและสูตรเอฟทีที่ใช้อยู่เป็นรูปแบบที่เหมาะสมแล้ว และได้มีข้อเสนอเพิ่มเติมที่นำไปสู่ข้อปฏิบัติต่างๆ และทำให้เกิดผลดังนี้
ภาครัฐสามารถปรับลดงบลงทุนของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ในปี 2544 - 2546 ลงได้ประมาณ 55,000 ล้านบาท ส่งผลให้ความต้องการรายได้ในการสมทบการลงทุนของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ลดลง 14,000 ล้านบาท โดยนำมาเฉลี่ยลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนปีละ 7,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นค่าไฟฟ้าที่ลดลง 7 สตางค์ต่อหน่วย เป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่การปรับค่าเอฟทีเดือนตุลาคม 2544 ถึงกันยายน 2546 และสิ่งนี้ทำให้กระแสการเรียกร้องได้ยุติลง
นอกจากนี้ ปตท. ได้ยอมกำหนดอัตราค่าดำเนินการสูงสุดในการจัดหาก๊าซฯ คงที่ ณ ราคาก๊าซฯ ที่ระดับ 123 บาท/ล้านบีทียู เพื่อขายก๊าซฯ ให้กับ กฟผ. IPP เท่ากับ 2.15 บาท/ล้านบีทียู และ SPP เท่ากับ 11.4759 บาท/ล้านบีทียู รวมถึงมีการกำหนดค่า Heat Rate และค่า Loss Rate นำมาปฏิบัติในโรงไฟฟ้าของ กฟผ. อย่างเป็นรูปธรรม และเห็นผลแล้ว
ส่วนในการสรรหาตัวแทนผู้บริโภครายย่อย จากการคัดสรรผู้มีคุณสมบัติทั่วประเทศ ทำให้ได้ตัวแทนผู้บริโภครายย่อย คือ นายธนาคม มหาชัยพงศ์กุล ทันแพทย์ระดับ 8 ประจำโรงพยาบาลวังทอง จังหวัดพิษณุโลก เข้ามาอยู่ในคณะอนุกรรมการเอฟทีแล้วเช่นกัน ขณะที่มีเพียงในส่วนของการปรับปรุงสูตรราคาก๊าซธรรมชาติและการกระจายแหล่งเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าซึ่งยังไม่ได้ดำเนินการ
ค่าเอฟทีปี 2546 - ปัจจุบัน
ตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2546 - มกราคม 2547 ภาครัฐไม่ได้มีการขึ้นราคาค่าเอฟทีแต่อย่างใด โดยค่าเอฟทีคงที่เท่ากับ 26.12 สตางค์/หน่วย ทำให้ค่าไฟที่ประชาชนต้องจ่ายอยู่ที่ระดับ 2.52 บาท/หน่วย เท่ากันทั้งปี โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รับที่จะเข้ามาช่วยเหลือโดยการบริหารราคาก๊าซธรรมชาติ จำนวน 1,800 ล้านบาท และ กฟผ. ประมาณ 4,800 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของ กฟผ. จะนำไปเกลี่ยในราคาค่าไฟฟ้าเมื่อราคาค่าไฟลดลงในอีก 3 ปี ต่อจากนี้ หรือภายในปี 2549 ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2546
ต้นปี 2547 มีการปรับขึ้นค่าเอฟที 1 ครั้ง ในรอบเดือนกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม 2547 โดยเพิ่มขึ้นอีก 12.16 สตางค์/หน่วย มาอยู่ที่ระดับ 38.28 สตางค์/หน่วย และในรอบเดือนมิถุนายน - กันยายน 2547 ไม่ได้มีการปรับขึ้นค่าเอฟที เนื่องจากมีค่าใกล้เคียงกับช่วงที่ผ่านมา โดยให้นำส่วนที่เกินไปรวมไว้ในการคิดค่าเอฟทีรอบถัดไป
สำหรับการคิดค่าเอฟทีในรอบเดือนตุลาคม 2547 - มกราคม 2548 ได้มีการปรับค่าเอฟทีขึ้นอีก 5 สตางค์/หน่วย ทำให้ค่าเอฟทีมาอยู่ที่ระดับ 43.28 สตางค์/หน่วย ซึ่งถ้าหากมีการเรียกเก็บจริง อาจต้องอยู่ที่ระดับ 11.42 สตางค์/หน่วย แต่กระทรวงพลังงานก็ได้มีการเตรียมการและบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน พร้อมกับคณะอนุกรรมการเอฟทีมีมติให้ กฟผ. และ ปตท. ช่วยบริหารต้นทุนส่วนที่เหลือ จึงส่งผลให้ค่าเอฟทีรอบใหม่เพิ่มขึ้นเพียง 5 สตางค์/หน่วย เท่านั้น
ความคืบหน้าการศึกษาโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่
สนพ. กระทรวงพลังงาน ได้มีการว่าจ้าง บริษัทที่ปรึกษา ดำเนินการศึกษาโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ มีระยะเวลาการศึกษา 8 เดือน โดยการศึกษาดังกล่าวจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลจากคณะอนุกรรมการกำกับการศึกษาการปรับปรุงโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า ที่มีรองปลัดกระทรวงพลังงาน (นายพรชัย รุจิประภา) เป็นประธาน ส่วนความคืบหน้าอยู่ระหว่างการศึกษาคาดว่าการศึกษาโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ดังกล่าว จะแล้วเสร็จ และสามารถประกาศใช้ได้ประมาณต้นปี 2548--จบ--

แท็ก ค่าไฟฟ้า  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ