กรุงเทพฯ--11 มี.ค.--ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) จัดประชุมระดมความเห็นอนาคตอุตสาหกรรมหุ่นยนต์การแพทย์ไทย
“นเรศ ดำรงชัย” ผู้อำนวยการ TCELS มั่นใจหุ่นยนต์ทางการแพทย์ไทยมีอนาคต เตรียมเดินหน้าหาพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนวิจัย พัฒนาให้ได้มาตรฐาน สากล พร้อมเปิดตัวศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตหุ่นยนต์ทางการแพทย์ชั้นสูง 9 เมษายนนี้ ยันวิศวกรไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก
ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการ TCELS กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ TCELS ได้จัดประชุม Thailand Life Sciences Business Forum ครั้งที่ 5 โดยหารือกันถึง อนาคตอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ทางการแพทย์ไทย โดยเชิญภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมหารือ เพื่อรับทราบถึงความคืบหน้าในการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการแพทย์ในประเทศไทย รวมไปถึงปัญหาอุปสรรคที่พบ เพื่อหาทางออกร่วมกัน ทั้งนี้ ผู้เข้าประชุมได้สะท้อนถึง ความสามารถในการผลิตหุ่นยนต์ในทุกประเภทของคนไทยว่า วิศวกรของไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก ขอเพียงสำรวจให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค และพัฒนาให้เป็นมาตรฐานระดับสากล เชื่อว่าหากทุกภาคส่วนผนึกกำลังกันจะสามารถผลักดันหุ่นยนต์ทางการแพทย์ของไทยไปสู่ระดับอาเซียนและระดับโลกได้
ดร.นเรศ กล่าวว่า ขณะนี้ TCELS ดำเนินโครงการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการแพทย์ชั้นสูง โดยร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลและศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) เพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์และเทคโนโลยีชีววิศวกรรมศาสตร์ เนื่องจากมีเป้าหมายการผลิตและบริการคนไทยในราคาที่เหมาะสม อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางรักษาพยาบาล การแพทย์ฉุกเฉิน และการดูแลฟื้นฟูผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และผู้พิการในระดับแนวหน้าของอาเซียน โดยจะทำงานเชื่อมโยงกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์ โดยจะเปิดตัวศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการแพทย์ชั้นสูง วันที่ 9 เมษายน นี้
โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายผลิตและบริการคนไทยในราคาที่เหมาะสม และอีก 7 ปีข้างหน้าจะสามารถลดค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าหุ่นยนต์ทางการแพทย์ที่นำเข้าตัวละ 100 ล้านบาท ได้ร้อยละ 50 และเป็นศูนย์กลางการรักษาพยาบาล การแพทย์ฉุกเฉิน และการดูแลฟื้นฟูผู้ป่วย ผู้สูงอายุในระดับแนวหน้าของอาเซียน โดยจะมีการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างกระทรวงมากขึ้น เช่น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์
ทั้งนี้ จากข้อมูล Business Report San Jose, California ระบุถึงมูลค่าของหุ่นยนต์ทางการแพทย์ชั้นสูงในตลาดโลกคือ 1.53 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2018 เมื่อเทียบกับประชาคม ASEAN ประเทศไทยมีความพร้อมสูง โดยเฉพาะเรามี บุคลากร องค์ความรู้ ความชำนาญ ด้านการแพทย์และนักประดิษฐ์ หุ่นยนต์ แต่ยังขาดการบูรณาการให้เกิดผลผลิตจนถึงระดับอุตสาหกรรมการตลาดและพาณิชย์
ติดต่อ:
www.tcels.or.th, 02-6445499