สรุปภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์กรุงเทพฯ ปี 2547 และแนวโน้ม

ข่าวทั่วไป Tuesday December 14, 2004 15:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ธ.ค.--ซีบี ริชาร์ด เอลลิส
นายเดวิด ซีมิสเตอร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีบี ริชาร์ด เอลลิส ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำ ได้เปิดเผยถึงภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงเทพมหานครปี พ.ศ.2547 นี้ว่า ยังมีความมั่นคงดีอยู่ รวมทั้งความต้องการของตลาดต่อโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีคุณภาพยังคงมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงระยะ 6 เดือนที่ผ่านมามีทั้งการพัฒนาโครงการใหม่ๆ และการพัฒนาโครงการที่เคยหยุดการก่อสร้างเกิดขึ้นย่านศูนย์กลางธุรกิจ (ซีบีดี) อย่างต่อเนื่อง
เศรษฐกิจมหภาค
ในปี พ.ศ.2547 การขยายตัวของจีดีพีประมาณการว่าเพิ่มขึ้นประมาณ 6.5% กระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ แม้ว่าในปีที่ผ่านมาจะมีปัญหาด้านราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ความต้องการอสังหาริมทรัพย์ทั้งเพื่อซื้อขายและเพื่อให้เช่าได้รับการกระตุ้นจากทั้งจากภาวะอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำและจากการลงทุนของภาครัฐในโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค
ตลาดที่อยู่อาศัย
ในปี พ.ศ.2547 ตลาดที่อยู่อาศัยโดยรวมในเขตกทม.และปริมณฑลเติบโตขึ้นประมาณ 15% เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยวัดจากตัวเลขจำนวนที่อยู่อาศัยจดทะเบียนใหม่ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อเทียบกับปีพ.ศ. 2546 มีการขยายตัวถึงเกือบ 50% ความแตกต่างดังกล่าวเป็นผลมาจากการสิ้นสุดนโยบายสนับสนุนทางภาษีต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยตัวเลขประมาณการของตัวเลขที่อยู่อาศัยจดทะเบียนเพิ่มขึ้นในปี พ.ศ.2547 อยู่ที่ 60,000 หน่วยต่อปี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียง 34% ของจำนวนตัวเลขที่อยู่อาศัยจดทะเบียนในปี พ.ศ.2538
จากการคาดการณ์ของบริษัท ซีบี ริชาร์ด เอลลิส (ประเทศไทย) จำกัด สิ่งที่น่าสนใจคือภายในปี พ.ศ.2547 จำนวนบ้านเดี่ยวที่สร้างโดยผู้ประกอบการคาดว่าจะมีจำนวนมากกว่า 26,000 หน่วย ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขในช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ.2537-2539 ที่มีอยู่ประมาณ 20,000 หน่วยต่อปี ในขณะที่ตัวเลขทาวเฮ้าส์และอาคารพาณิชย์จดทะเบียนใหม่มีสัดส่วนเพียง 20% ของตัวเลขในช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจากการที่ตลาดบ้านเดี่ยวมีการแข่งขันอยู่ในระดับสูง จึงทำให้โครงการบ้านเดี่ยวบางโครงการอาจมีความล่าช้าทางด้านยอดขาย ในขณะที่ยังมีอีกหลายโครงการที่ประสบความสำเร็จเนื่องจากการวางแผนในการพัฒนาโครงการเป็นอย่างดีจากตัวเลขดัชนีราคาที่อยู่อาศัยที่จัดทำโดยธนาคารประเทศไทยแสดงให้เห็นว่า ในไตรมาสที่ 3 ของปี พ.ศ.2547 ราคาที่อยู่อาศัยของบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดินมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
นายณัฐพล อัศว์วิเศษศิวะกุล ทีมงานฝ่ายวิจัย บริษัท ซีบี ริชาร์ด เอลลิส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า "ในปี พ.ศ.2547 อัตราการขายคอนโดมิเนียมเปิดใหม่ในย่านใจกลางเมืองมีความล่าช้ากว่าในปีพ.ศ. 2546 แม้ว่าอัตราพื้นที่ว่างของคอนโดมิเนียมในย่านใจกลางเมืองจะลดลงเหลือต่ำกว่า 16% เนื่องจากภาวะการแข่งขันและราคาขายที่เพิ่มสูงขึ้น โดยในปี พ.ศ.2547 จำนวนคอนโดมิเนียมที่เสนอขายในเขตใจกลางกทม.มีประมาณ 11,000 หน่วย เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.2546 ที่มีเสนอขายประมาณ 6,000 หน่วย แม้ว่า ในปี พ.ศ.2547"
"จากการที่ตลาดที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียมมีการแข่งขันสูงขึ้น รวมทั้งความระมัดระวังในการให้สินเชื่อโครงการของสถาบันการเงิน ทำให้เราเห็นการชะลอตัวของการเปิดโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ๆ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีบ่งบอกถึงภาวะความต้องการที่แท้จริงของตลาด"
นอกจากนี้ นายเดวิด ยังได้กล่าวเสริมอีกว่า "ความต้องการที่อยู่อาศัยราคาระดับกลางยังมีอยู่สูง เนื่องมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจรวมถึงการขยายตัวของการให้สินเชื่อสำหรับผู้ซื้อบ้านของสถาบันการเงิน นอกจากนี้โครงการในระดับพรีเมี่ยมยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดเช่นกัน
ตลาดอพาร์ตเมนท์และเซอร์วิสอพาร์ตเมนท์สำหรับชาวต่างชาติค่อนข้างคงที่ เมื่อเทียบกับตลาดที่อยู่อาศัยประเภทอื่นๆ โดยจำนวนอพาร์ตเมนท์ในย่านใจกลางเมืองเพิ่มขึ้นเพียง 0.5% เป็น 9,400 หน่วยในปี พ.ศ.2547 แต่สิ่งที่น่าสังเกตสำหรับตลาดอพาร์ตเมนท์คือ การที่ค่าเช่าของอพาร์ตเมนท์เกรดเอ และเกรดบี แตกต่างกันถึงประมาณ 30%-40% กระตุ้นให้เจ้าของโครงการอพาร์ตเมนท์ที่อยู่ในทำเลที่ดีทำการปรับปรุงโครงการ เช่น โครงการ ทิพมาศสวีท (โครงการบ้านมิราบุก เดิม) โครงการ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ พร้อมพงษ์ (โครงการ ยู แอนด์ ไอ ทาวเวอร์ เดิม) โครงการ ใจดี แมนชั่น (โครงการ จันทร์ เฮ้าส์ เดิม) โครงการ พาร์ค รอยัล เรสซิเดนส์ (อาคารสำนักงาน บิวดิ่ง วัน เดิม) โดยตลาดอพาร์ตเมนท์ที่มีอัตราการเข้าพัก 90%
ในทางตรงข้าม จำนวนเซอร์วิสอพาร์ตเมนท์ในย่านใจกลางเมืองกลับเพิ่มสูงขึ้นถึง 11% เป็น 7,900 หน่วยในปี พ.ศ.2547 จากการที่มีโครงการเซอร์วิสอพาร์ตเมนท์เปิดใหม่หลายโครงการ เช่น โครงการ เมอริตัส สวีท สเตท ทาวเวอร์ โครงการ เซอร์วิส อพาร์ตเมนท์ของ โรงแรม แชงกรีลา โครงการ แอสคอท สาทร โครงการ จัสมิน เอ็กเซ็กคิวทีฟ สวีท โครงการเซ็นเตอร์พ้อยท์ ศาลาแดง เป็นต้น อย่างไรก็ดี แม้ว่าจำนวนเซอร์วิสอพาร์ตเมนท์จะเพิ่มสูงขึ้น แต่อัตราการเข้าพักค่อนข้างคงที่อยู่ที่ประมาณ 84% ตลอดปี พ.ศ.2547
ตลาดอาคารสำนักงาน
ในปี พ.ศ.2547 อัตราการเข้าใช้พื้นที่สำนักงานคาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 300,000 ตารางเมตร หรือเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.2546 ประมาณ 20% ซึ่งส่งผลให้อัตราพื้นที่ว่างของอาคารสำนักงานในกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ.2547 ลดลงเหลือ 17% จาก 20% ในปี พ.ศ.2546 แม้ว่าในปีนี้จะมีพื้นที่อาคารสำนักงานสร้างเสร็จเพิ่มขึ้นประมาณ 96,000 ตารางเมตร รวมเป็นพื้นที่สำนักงานทั้งสิ้น 7.2 ล้านตารางเมตร ณ สิ้นปี 2547 หลังจากที่การก่อสร้างอาคารเซ็นทรัลเวิร์ลทาวเวอร์ และอาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารกรุงไทย
ณ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2547 ค่าเช่าพื้นที่สำนักงานระดับเกรดเอโดยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น 9% และเกรดบีเพิ่มขึ้น 16% ค่าเช่าพื้นที่สำนักงานระดับเกรดเอที่ตั้งอยู่ในซีบีดี ปรับตัวสูงขึ้นเป็น 505 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน ทั้งนี้เป็นผลมาจากปริมาณความต้องการสำนักงานระดับเกรดเอที่มีอยู่มากนับตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา ในขณะที่แทบจะไม่มีพื้นที่สำนักงานใหม่ๆเพิ่มเข้ามาในตลาดเลยในช่วงเวลาดังกล่าว
ราคาค่าเช่าพื้นที่สำนักงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งดำเนินการก่อสร้างอาคารใหม่ขึ้น ซึ่งพื้นที่สำนักงานราว 330,000 ตารางเมตรจะเพิ่มเข้ามาในตลาดช่วงปี 2548-2549 โดยพื้นที่ 31,000 ตารางเมตรมาจากอาคาร เดอะ คอลัมน์ ทาวเวอร์ที่แล้วเสร็จกลางปี 2548 และอีก 60,000 ตารางเมตรจากอาคารคิวเฮาส์ ลุมพินี ในช่วงสิ้นปี 2548
นายณัฐพลกล่าวเพิ่มเติมว่า "ผลจากอัตราค่าเช่าที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เราเชื่อว่าจะมีการดำเนินงานก่อสร้างในโครงการที่เคยหยุดพักไปและจะมีการปรับปรุงอาคารสำนักงานเก่าที่ตั้งอยู่ในทำเลที่ดีในช่วงปี พ.ศ.2548 ทำเลที่อยู่ใกล้กับระบบขนส่งมวลชนกำลังกลายเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการเช่าพื้นที่สำนักงาน" อย่างไรก็ตาม ราคาค่าเช่าในปัจจุบันยังไม่อยู่ในระดับที่จะกระตุ้นให้มีการพัฒนาโครงการใหม่
ธุรกิจโรงแรม
ธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมของไทยปรับตัวดีอย่างมากนับจากปี 2546 จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทยคาดว่าจะมีทั้งสิ้น 12 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 20% หรือเพิ่มขึ้น 11% จากปี 2545 ขณะเดียวกัน การเปิดตัวของสายการบินต้นทุนต่ำ และการส่งเสริมการขายของธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศคาดว่าจะช่วยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยให้เป็น 73 ล้านคน ภายในสิ้นปี 2547 และทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวได้หลายแห่งมากขึ้น สำหรับอัตราการเข้าพักโดยเฉลี่ยในโรงแรมหรูและระดับเฟิร์สคลาสในย่านใจกลางเมืองกรุงเทพฯ น่าจะอยู่ที่ระดับใกล้เคียง 80% และอัตราค่าห้องพักโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่มากกว่า 123 เหรียญสหรัฐ หลังจากที่เคยลดลงเหลือ 116 เหรียญสหรัฐในปี 2546 นอกจากนี้ยังมีห้องพักอีก 2,500 ห้องที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง และตั้งอยู่ในย่านใจกลางเมืองกรุงเทพฯ และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2548-2549 หรือเพิ่มขึ้น 18% จากจำนวนห้องพักในโรงแรมระดับหรูและเฟิร์สคลาสที่มีอยู่ในตลาด
นอกเหนือไปจากตลาดในเขตกรุงเทพฯ ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ในประเทศ อาทิ ภูเก็ต เชียงใหม่ กระบี่ เกาะช้าง พังงา หัวหิน ที่มีโรงแรมใหม่ๆ เกิดขึ้น และอยู่ในระหว่างการดำเนินงานก่อสร้างเครือโรงแรมต่างชาติ และโรงแรมแบบบูทีคต่างก็ได้รับการพัฒนาขึ้นในทำเลดังกล่าว สำหรับโรงแรมที่มีเครือจากต่างประเทศที่แล้วเสร็จในช่วงปี 2547 ได้แก่ โซฟิเทล แมจิค ลากูน รีสอร์ต แอนด์ สปา พังงา เลอ เมอร์ริเดียน เขาหลัก บีช รีสอร์ต ศิลา เอวาซอน ไฮด์อะเวย์ แอนด์ สปา สมุย และเอวาซอน ไฮด์อะเวย์ หัวหิน จำนวนห้องพักที่มีอยู่ในปัจจุบัน และความหลากหลายของโรงแรมที่ตั้งอยู่ทั้งเหนือ-ใต้ มีคุณภาพของห้องพักดีขึ้น และจำนวนห้องพักที่มากขึ้น
ตลาดค้าปลีก
ในเดือนมีนาคม ปี 2547 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศควบคุมการพัฒนาศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตโดยเฉพาะอย่างยิ่งศูนย์การค้าประเภทซุปเปอร์สโตร์ ในอนาคตการเติบโตของห้างสรรพสินค้าที่มีทั้งพื้นที่ค้าส่งและค้าปลีกจะถูกจำกัดในหลายพื้นที่ของกทม.และต่างจังหวัด ในปีพ.ศ.2547 พื้นที่ค้าปลีกในเขตกทม.มีเพิ่มขึ้นอีก 65,000 ตารางเมตร ทำให้พื้นที่รวมในตลาดทั้งหมดมีอยู่ประมาณ 4.1 ล้านตารางเมตร ในขณะที่ปีที่แล้วมีพื้นที่ค้าปลีกเพิ่มขึ้น 91,000 ตารางเมตร
ผลจากการเติบโตของเศรษฐกิจไทยและยอดขายสินค้าที่เพิ่มขึ้นถึง 18% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2547 ได้ทำให้ความต้องการพื้นที่ค้าปลีกสูงขึ้นรวมทั้งอัตราการเข้าใช้พื้นที่โดยเฉลี่ยในศูนย์การค้าปรับตัวสูงขึ้นเกินกว่าระดับ 95% พื้นที่ค้าปลีกระดับเกรดเอมีอัตราการเข้าใช้พื้นที่มากกว่า 98% ซึ่งส่งผลให้พื้นที่ค้าปลีกในย่านซีบีดีอยู่ระหว่าง 2,000-2,500 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้ง ขนาดพื้นที่ และประเภทธุรกิจ ในขณะที่ค่าเช่าพื้นที่ศูนย์การค้าในย่านชานเมืองที่ได้รับความนิยมจะอยู่ระหว่าง 800-1,500 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน
นายเดวิดกล่าวเพิ่มเติมว่า "เราเห็นว่ามีศูนย์การค้าจำนวนหนึ่งอยู่ในขั้นวางแผนพัฒนาโครงการ หรือไม่ก็กำลังดำเนินการก่อสร้าง แต่อย่างไรก็ดี การเติบโตของซูเปอร์สโตร์ในอนาคตจะถูกจำกัดมากขึ้นด้วยข้อกฎหมายดังกล่าวศูนย์การค้าใหม่ๆ ในปัจจุบันดำเนินการก่อสร้างตามใบอนุญาตการก่อสร้างที่ได้รับก่อนที่จะมีการประกาศบังคับใช้กฎหมาย และเราอาจจะได้เห็นศูนย์การค้าเก่าๆ เป็นซุปเปอร์สโตร์ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการหลักในธุรกิจประเภทซุปเปอร์สโตร์กำลังเปลี่ยนแนวโน้มในการเจาะตลาดเป็นการก่อสร้างในขนาดที่เล็กลงหรือทำเป็นเนเบอร์ฮูดเซ็นเตอร์"
ธุรกิจอุตสาหกรรม
สำหรับธุรกิจอุตสาหกรรมยังคงมีการเคลื่อนไหวที่ดีตามสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ในปี 2547 คาดว่าจะมีจำนวนพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมที่ขายได้มากกว่า 2,500 ไร่ หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 15% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ยอดขายส่วนใหญ่มาจากนิคมชั้นดี ในระยอง ชลบุรี และอยุธยาเป็นต้น ปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรมเหล่านี้กำลังขยายตัว นอกจากนี้ปริมาณพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเป็น 89,000 ไร่ คิดเป็นเพิ่มขึ้น 3% จากปี 2546
เหมราชได้มีการขยายตัวโดยเข้าซื้อหุ้นจากผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมรายหนึ่ง ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาขนาด 6,800 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับอีสเทิร์นซีบอร์ดในขณะเดียวกัน ด้านอมตะก็วางแผนที่จะพัฒนาพื้นที่ขนาด 1,000-1,500 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ชลบุรี ในช่วงปีหน้า
นอกจากนี้ ยังเป็นที่คาดว่าตลาดให้เช่าโรงงานสำเร็จรูปจะเติบโตมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอยุธยา และบริเวณอีสเทิร์นซีบอร์ด โรงงานสำเร็จรูปที่เพิ่มมากขึ้นจะมาจากผู้ประกอบการรายใหญ่อย่างไทคอน ทีเอฟดี และเหมราช อมตะเองก็ให้ความสนใจที่เข้ามาทำตลาดนี้เช่นกัน
แนวโน้มในปี 2548
เศรษฐกิจมหาภาค (การเติบโตภายในประเทศอย่างมั่นคง)
ต้นทุนด้านการก่อสร้างและอัตราดอกเบี้ยอาจจะปรับตัวสูงขึ้น ข้อกำหนดเรื่องผังเมืองกรุงเทพมหานครฉบับใหม่จะส่งผลกระทบต่อศักยภาพของที่ดินที่จะนำมาพัฒนาในหลายพื้นที่ แต่ก็จะเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับระบบขนส่งมวลชน
ตลาดที่พักอาศัย
ความเติบโตจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2547 เพราะความต้องการของตลาดและจำนวนที่พักอาศัยที่มีอยู่ในตลาดมีความสมดุลกัน แต่อย่างไรก็ตาม การที่ภาวะการแข่งขันในตลาดมีสูง ก็จะทำให้ผู้ประกอบการเปิดโครงการใหม่น้อยลง ด้านนโยบายของธนาคารในเรื่องการปล่อยสินเชื่อ และอัตราดอกเบี้ยจะเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อความเติบโตของตลาดสำหรับตลาดเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์สำหรับชาวต่างชาติจะมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น เนื่องจากปริมาณห้องพักเพิ่มขึ้นอย่างมาก ความต้องการที่อยู่อาศัยระดับบนสุดในย่านซีบีดี ยังคงมีอยู่สูง โดยโครงการดังกล่าวควรเป็นโครงการที่ตรงกับความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง
ตลาดอาคารสำนักงาน
อัตราการเข้าใช้พื้นที่สำนักงานและค่าเช่าจะยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่สำนักงานที่มีอยู่ในตลาดโดยเฉพาะสำนักงานระดับเกรดเอจะมีจำนวนจำกัด จะมีการดำเนินการก่อสร้างในโครงการที่เคยหยุดพักไป รวมทั้งอาคารสำนักงานเก่าบางแห่งอาจนำมาปรับปรุงให้ดีขึ้น ทั้งนี้การเติบโตของเศรษฐกิจ โลกและเศรษฐกิจไทยจะส่งผลให้ความต้องการพื้นที่สำนักงานเพิ่มสูงขึ้น
ตลาดค้าปลีก
ปัจจุบันมีพื้นที่ค้าปลีกจำนวน 360,000 ตารางเมตร หรือคิดเป็น 9% ของพื้นที่ที่มีอยู่ในตลาด อยู่ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้างและคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2548 นี้ โดยพื้นที่จำนวน 215,000 ตารางเมตร จะมาจากโครงการ สยามพารากอน ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ได้ถูกปล่อยเช่าเรียบร้อยแล้ว และพื้นที่อีก 22,000 ตารางเมตร จากโครงการเซ็นจูรี่ เดอะมูฟวี่พลาซ่า ในขณะเดียวกัน เนเบอร์ฮูด เซ็นเตอร์ และศูนย์การค้าขนาดย่อมบางแห่งก็มีการขยายตัว แต่อย่างไรก็ดี บริษัท ซีบี ริชาร์ด เอลลิส (ประเทศไทย) จำกัด เชื่อว่า ราคาค่าเช่าพื้นที่ค้าปลีกในศูนย์การค้าที่ได้รับความนิยมจะยังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากอัตราพื้นที่ว่างอยู่ในระดับที่ต่ำมาก รวมทั้งศูนย์การค้าเก่าบางแห่งที่ตั้งอยู่ในทำเลที่ดีของกรุงเทพฯ จะเริ่มพิจารณาถึง การปรับปรุงศูนย์การค้าให้ดียิ่งขึ้น
ธุรกิจโรงแรม
มีโรงแรมใหม่เกิดขึ้นจำนวนมากในย่านที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว และการแข่งขันจะอยู่ในระดับที่สูงขึ้น ภาวะเศรษฐกิจของโลกและแถบภูมิภาคเอเชีย และสถานการณ์ความไม่สงบภาคใต้ ประกอบกับการเปิดสนามบินสุวรรณภูมิจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อ ความต้องการของตลาดในปี 2548-2549
ธุรกิจอุตสาหกรรม
บรรยากาศทางการเมืองที่มีเสถียรภาพและภาวะการณ์ที่มีความปลอดภัยของไทย รวมทั้งความเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีอย่างต่อเนื่อง ได้ทำให้ประเทศไทยมีความน่าสนใจในฐานะที่เป็นแหล่งลงทุนที่ดีแห่งหนึ่ง บริษัท ซีบี ริชาร์ด เอลลิส (ประเทศไทย) จำกัด เชื่อว่ายอดขายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมโดยส่วนใหญ่จะยังคงกระจุกตัวอยู่เฉพาะในนิคมอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพดี การเปิดให้สนามบินสุวรรณภูมิในเดือนกันยายน 2548 นี้จะส่งผลต่อนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในแถบตะวันออก
นักวิเคราะห์เศรษฐกิจคาดการณ์กันว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและไทย จะมีแนวโน้มที่ลดลงในปี 2548 แต่อย่างไรก็ตาม บริษัท ซีบี ริชาร์ด เอลลิส (ประเทศไทย) จำกัด ก็เชื่อว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทยในปี 2548 จะยังคงเติบโตในระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2547 การประกาศใช้บังคับด้านผังเมืองของกรุงเทพมหานคร จะผลักดันให้ผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งเร่งยื่นขอใบอนุญาติการก่อสร้าง แต่เป็นไปด้วยความระมัดระวังมากขึ้นในเรื่องศักยภาพทางการตลาดของโครงการนั้นๆ
ด้านตลาดอาคารสำนักงานจะเป็นตลาดที่มีความเคลื่อนไหวมากที่สุด เนื่องจากความต้องการที่มีอยู่มาก ส่วนยอดขายของโครงการห้องชุดพักอาศัยหรือคอนโดมิเนียม และบ้านเดี่ยวจะปรับตัวดีขึ้น หากธนาคารพิจารณาปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง และชอลการปล่อยสินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการใหม่ ในบางภาคของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีปริมาณโครงการเพิ่มขึ้นอย่างมาก อาทิตลาดเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ และธุรกิจโรงแรม จะมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นท่าอัตราพื้นที่ว่างและราคาค่าเช่าจะมิได้เปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจากอัตราการเข้าใช้พื้นที่อยู่ในระดับที่สูง
บริษัท ซีบี ริชาร์ด เอลลิส (ประเทศไทย) จำกัด เชื่อว่าภาวะโดยรวมของตลาดจะผลักดันให้ผู้ประกอบการมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น มีการศึกษาการตลาดและวางแผนอย่างระเอียดรอบรอบ ให้ความสำคัญในด้านคุณภาพโครงการ และสร้างสรรค์สินค้าที่มีคุณภาพที่ดีขึ้นกว่าเดิม ตามความต้องการที่แท้จริงของผู้ซื้อ
เกี่ยวกับบริษัท ซีบี ริชาร์ด เอลลิส
บริษัท ซีบี ริชาร์ด เอลลิส เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำระดับโลก ที่ให้บริการแบบครบวงจร มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในนครลอสแองเจลลิส ให้บริการแก่ เจ้าของโครงการ นักลงทุน และผู้ซื้อรายย่อย ครอบคลุมตลาดมากกว่า 300* แห่ง ใน 50* ประเทศทั่วโลก
บริษัท ซีบี ริชาร์ด เอลลิส เริ่มเปิดให้บริการในประเทศไทยครั้งแรกในปีพ.ศ.2531 โดยให้บริการด้านการเป็นตัวแทนในการซื้อ ขาย และให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ประเภทบ้าน คอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนท์ เซอร์วิส อพาร์ตเมนท์ อาคารสำนักงาน ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจอุตสาหกรรม โรงแรม ที่ดิน และให้บริการด้านการให้คำปรึกษา ซึ่งรวมถึง การให้บริการให้คำปรึกษาด้านการลงทุน การวิจัยตลาด และการประเมินราคาทรัพย์สิน นอกจากนี้ ยังให้บริการในด้านการบริหารอสังหาริมทรัพย์ด้วยมาตรฐานในระดับสากล หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการให้บริการ สามารถเข้าชมได้ที่ www.cbre.co.th
รวมสำนักงานที่เป็นหุ้นส่วน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
นายเดวิด ซีมิสเตอร์
กรรมการผู้จัดการ
โทร. 02 654 1111
นายณัฐพล อัศว์วิเศษศิวะกุล
ผู้ช่วยผู้จัดการ ฝ่ายวิจัยและพัฒนา
โทร. 02 654 1111 ต่อ 609
นางสาวงามใจ เจียรจรัส
ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร
โทร. 02 654 1111 ต่อ 522--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ