ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่ ‘BBB’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 11, 2013 10:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 มี.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Issuer Default Rating (LT IDR)) ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY ที่ ‘BBB’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (Long-Term National Rating) ที่ ‘AA-(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ สำหรับรายละเอียดอันดับเครดิตอื่น แสดงไว้ในส่วนท้าย ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและอันดับเครดิตภายในประเทศของ BAY พิจารณาจากความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร ซึ่งสะท้อนในอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating) ผลการดำเนินงานและคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารปรับตัวแข็งแกร่งเพิ่มขึ้น ในขณะที่เงินกองทุนของธนาคารยังคงอยู่ในระดับที่พอเพียง อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงการที่ BAY มีการพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากตลาดทุน (wholesale funding) และอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากที่สูง ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าธนาคารพาณิชย์อื่นในประเทศและธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่มีอันดับเครดิตเดียวกัน แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพสะท้อนถึงความคาดหมายของฟิทช์ที่มองว่าธนาคารน่าจะสามารถรักษาระดับความแข็งแกร่งโดยรวมต่อไปได้ อันดับเครดิตสนับสนุน (Support Rating) และอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor) สะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ที่มองว่ามีความเป็นไปได้ในระดับหนึ่งที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลหากมีความจำเป็น เนื่องจากธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ที่ 7%-8% ในด้านขนาดสินทรัพย์ สินเชื่อ และ เงินฝาก ห้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันสกุลเงินบาทของ BAY มีอันดับเครดิตอยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคาร เนื่องจากหุ้นกู้ประเภทดังกล่าวเป็นภาระผูกพันที่ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันของธนาคาร หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันสกุลเงินบาทของธนาคารมีอันดับเครดิตอยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตภายในประเทศของ BAY อยู่ 1 อันดับ ซึ่งสะท้อนถึงลักษณะด้อยสิทธิของหุ้นกู้ และสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของฟิทช์ในการจัดอันดับเครดิตตราสารประเภทด้อยสิทธิที่ออกโดยสถาบันการเงิน ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต — อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน และอันดับเครดิตภายในประเทศของ BAY มีความเป็นไปได้ค่อนข้างจำกัดในระยะปานกลาง เนื่องจาก BAY ยังคงมีเครือข่ายสินเชื่อและเงินฝากที่ไม่ครอบคลุมมากนักและมีการกระจุกตัวของสินเชื่ออุปโภคบริโภคในระดับสูง เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ในประเทศ อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและหุ้นกู้ด้อยสิทธิของ BAY จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคาร การปรับตัวดีขึ้นของเครือข่ายเงินฝาก วัดจากสัดส่วนของเงินฝากรายย่อยต่อเงินกู้ยืมรวมที่เพิ่มขึ้น อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (LDR) ที่ลดลง ในระดับใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ในประเทศไทย รวมทั้งระดับสินทรัพย์สภาพคล่องที่เพิ่มสูงขึ้น น่าจะช่วยให้ธนาคารสามารถดำรงอันดับเครดิตปัจจุบันได้อย่างมั่นคง รวมถึงการที่ธนาคารสามารถรักษาคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งและมีระดับเงินกองทุนที่พอเพียง อย่างไรก็ดี อัตราส่วนเงินกองทุนหรือคุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนแอลงอย่างมีสาระสำคัญ หรือหากความเสี่ยงด้านสภาพคล่องเพิ่มขึ้นอันเนื่องจากการเติบโตของสินทรัพย์อย่างก้าวกระโดด หรือการที่ธนาคารต้องพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากตลาดทุนเพิ่มมากขึ้น อาจส่งผลลบต่ออันดับเครดิต ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต — อันดับเครดิตสนับสนุน และอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ การเปลี่ยนแปลงของส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านสินทรัพย์ สินเชื่อ และ เงินฝาก อย่างมีนัยสำคัญ อาจส่งผลกระทบต่อความสำคัญของธนาคารต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจของประเทศ และอาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตสนับสนุน และอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ การเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตของอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของประเทศไทยเป็นจำนวนหลายระดับอาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตสนับสนุน และอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ อย่างไรก็ตามฟิทช์เชื่อว่าเหตุการดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น ผลการดำเนินงานในปี 2555 มีความแข็งแกร่ง โดยธนาคารมีกำไรสุทธิ 1.47 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 9.3 พันล้านบาทในปี 2554 และมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์อยู่ที่ 1.5% เพิ่มขึ้นจาก 1.0% ในปี 2554 สินเชื่อมีการเติบโตสูงถึง 15% โดยส่วนหนึ่งมาจากการซื้อพอร์ทสินเชื่อเครดิตการ์ดจากธนาคาร HSBC คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลงเหลือ 2.13 หมื่นล้านบาท (2.6% ของสินเชื่อรวม) ณ สิ้นปี 2555 จาก 2.95 หมื่นล้านบาท (4.1% ของสินเชื่อรวม) ณ สิ้นปี 2554 ในขณะที่อัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสิ้นเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 145.6% ณ สิ้นปี 2555 (106% ณ สิ้นปี 2554) ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ในประเทศไทย ฟิทช์คาดว่า ผลการดำเนินงานโดยรวม และคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารยังมีแนวโน้มแข็งแกร่ง เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศที่ยังอยู่ในสถานะที่ดี โดยฟิทช์คาดการณ์การเติบโตของ GDP ที่ระดับ 5% ในปี 2556 ทั้งนี้ การที่หนี้สินผู้บริโภคมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว อันเนื่องมาจากการเติบโตอย่างมากของสินเชื่ออุปโภคบริโภคตั้งแต่ปี 2553 โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ น่าจะส่งผลให้สถานะทางเครดิตของสินเชื่อผู้บริโภคมีความอ่อนไหวต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจมากขึ้น และอาจเป็นแรงกดดันต่อคุณภาพสินทรัพย์ในระยะปานกลาง อย่างไรก็ตามธนาคารมีอัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระดับสูง รวมถึงอัตราส่วนเงินกองทุนในระดับที่เพียงพอ ซึ่งน่าจะช่วยสามารถรองรับผลกระทบจากความเสี่ยงดังกล่าวได้ในระดับหนึ่ง อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของธนาคารที่ 121% ณ สิ้นปี 2555 อยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์อื่น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการพึ่งพาเงินทุนระยะยาวจากตลาดทุนเพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะของสินทรัพย์ อย่างไรก็ตามธนาคารคาดว่าอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากน่าจะปรับตัวลดลงได้อีก เนื่องจากคาดว่าผู้ถือตราสารหนี้ระยะสั้นจะยังคงเปลี่ยนมาลงทุนในเงินฝากเพิ่มมากขึ้นในปี 2556 อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 9.9% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 (งบการเงินรวม) และคาดว่าจะปรับตัวลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ประมาณ 9.8% ณ สิ้นปี 2555 สำหรับในปี 2556 อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 น่าจะยังคงอยู่ในระดับพอเพียงเนื่องจากกำไรสะสมที่น่าจะเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มผลการดำเนินงานที่เติบโตต่อเนื่อง และคาดว่าการเติบโตของสินเชื่อน่าจะชะลอตัวลง BAY ก่อตั้งขึ้นในปี 2488 และเป็นธนาคารพาณิชย์มีขนาดสินทรัพย์และสินเชื่อใหญ่เป็นอันดับ 5 ของประเทศไทย GECIH ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ General Electric Capital Corporation Inc ปัจจุบันถือหุ้นในสัดส่วน 25.3% ขณะที่กลุ่มตระกูลรัตนรักษ์ถือหุ้นในสัดส่วน 25% บริษัทในเครือหลักของธนาคารมีการดำเนินกิจการในธุรกิจต่างๆ เช่น สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่ออุปโภคบริโภค ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจจัดการกองทุน อันดับเครดิตของ BAY ได้รับการคงอันดับดังนี้: - อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวคงอันดับที่ ‘BBB’; แนวโน้มอันดับเคดริตมีเสถียรภาพ - อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ ‘F3’ - อันดับความเข็งแกร่งทางการเงินคงอันดับที่ ‘bbb’ - อันดับเครดิตสนับสนุนคงอันดับที่ ‘3’ - อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำคงอันดับที่ ‘BB+’ - อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวคงอันดับที่ ‘AA-(tha)’; แนวโน้มอันดับเคดริตมีเสถียรภาพ - อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ ‘F1+(tha)’ - อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันคงอันดับที่ ‘AA-(tha)’/‘F1+(tha)’ - อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันคงอันดับที่ ‘A+(tha)’

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ