กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ ดูงาน “ดอยตุงโมเดล” ลดความเสี่ยงภัยพิบัติต้นทาง

ข่าวทั่วไป Tuesday March 12, 2013 10:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--คิธ แอนด์ คิน ฯ กองทุนฯ ดูงาน “ดอยตุงโมเดล” ต้นแบบบริหารจัดการน้ำในการลดความเสี่ยงการเกิดภัยพิบัติแบบบูรณาการ พร้อมโชว์ผลงาน 10 เดือน ผลักดันภาคเอกชนซื้อประกันภัยพิบัติทั้งสิ้น 696,527 ฉบับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 10.77 เฉพาะ 5 จังหวัดเสี่ยงภัยตื่นตัวทำประกันภัยสูงถึง 310,540 ฉบับ แค่เดือนเดียวเพิ่มขึ้น 43,674 ฉบับ หรือร้อยละ 16.36 เดินหน้าช่วยเหลือทุกภาคส่วนให้สามารถเข้าถึงระบบประกันภัยได้อย่างทั่วถึงในอัตราเบี้ยประกันภัยพิบัติที่เหมาะสม นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติเปิดเผยหลังการนำคณะผู้บริหารกองทุนฯ และสื่อมวลชนเยี่ยมชมและศึกษาโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ. แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ว่า โครงการพัฒนาดอยตุงฯ มีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อการวางยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำเนื่องจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ได้เลือกเป็นต้นแบบในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ซึ่งมีผลต่อเนื่องไปถึงการป้องกันภัยพิบัติในระดับต้นทางอย่างแท้จริง การเยี่ยมชมและศึกษาโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ในครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจในกระบวนการเตรียมการป้องกันภัยพิบัติครบวงจรจากต้นน้ำ สู่ปลายน้ำ เพื่อลดความเสี่ยงจากอุทกภัยซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนของนักลงทุนทั้งคนไทยและต่างชาติดังนั้นหากนักลงทุนมีความเชื่อมั่นแล้วจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศซึ่งเป็นนโยบายหลักและวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ ทั้งนี้จากข้อมูลผลการดำเนินงานของกองทุนฯ ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2555 — 8 กุมภาพันธ์ 2556 กองทุนฯ มียอดจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติทั้งสิ้น 696,527 ฉบับ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าจำนวน 66,839 ฉบับหรือร้อยละ 10.77 เนื่องจากภาคเอกชนมีความตื่นตัวและเห็นประโยชน์ในการซื้อประกันภัยความเสี่ยงภัยพิบัติเพื่อรับความคุ้มครอง 3 ภัยพิบัติ ได้แก่ น้ำท่วม แผ่นดินไหว และลมพายุที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ประกอบกับภาคเอกชนมีการเข้าถึงระบบประกันภัยได้มากขึ้นในอัตราเบี้ยประกันที่เหมาะสม โดยกลุ่มบ้านอยู่อาศัยคิดเบี้ยประกันภัยพิบัติในอัตราร้อยละ 0.5 ของทุนเอาประกันต่อปี กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ( SMEs ) ทุนประกันภัยไม่เกิน 50 ล้านบาท คิดเบี้ยประกันภัยที่ร้อยละ 1 และภาคธุรกิจ คิดเบี้ยประกันภัยที่ร้อยละ 1.25 ของทุนเอาประกันภัยต่อปี นอกจากนั้นพบว่าภาคครัวเรือนและธุรกิจที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติ 5 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐมและกรุงเทพฯ ให้ความสนใจทำประกันภัยพิบัติถึง 310,540 ฉบับ เทียบกับการทำประกันภัยพิบัติทั้งระบบที่ 687,227 ฉบับหรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45.18 โดยเป็นเบี้ยประกันภัยต่อตามสัดส่วนของกองทุนฯ 201 ล้านบาทและเป็นทุนประกันภัยต่อตามสัดส่วนของกองทุนฯ รวมทั้งสิ้น 25,698 ล้านบาท สำหรับจังหวัดที่อยู่นอกเขตภัยพิบัติหรือ 72 จังหวัดที่เหลือทั่วประเทศ มีการซื้อประกันภัยพิบัติรวม 376,687 ฉบับ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 54.82 เป็นเบี้ยประกันภัยต่อตามสัดส่วนของกองทุนฯ 174 ล้านบาท และเป็นทุนประกันภัยต่อตามสัดส่วนของกองทุนฯ รวมทั้งสิ้น 23,196 ล้านบาท ซึ่งกองทุนฯ มีนโยบายส่งเสริมให้ภาคเอกชนในพื้นที่นี้มีการทำประกันภัยพิบัติมากขึ้นเพื่อลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากภัยพิบัติในอนาคต ประธานกองทุนฯ กล่าวว่า นโยบายการดำเนินงานของกองทุนฯ ในปี 2556 คือการเป็นตัวกลางในการผลักดันให้ประชาชนเข้าถึงความคุ้มครองภัยพิบัติได้อย่างเพียงพอ ทั่วถึง รวมทั้งสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนต่างชาติและผู้ประกอบการต่างๆ ให้ยังคงดำเนินกิจการและขยายการลงทุนต่อไปในประเทศไทย “กองทุนฯ ยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนให้ตลาดประกันภัยกลับสู่ภาวะที่ปกติมากที่สุด โดยยังคงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยทั้งภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมเข้าถึงการประกันภัยพิบัติเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมหากมีภัยพิบัติร้ายแรงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต” นายพยุงศักดิ์กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ