กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--เดอะบิ๊กพอตเตอร์ คอมมิวนิเคชั่น
นมไทย-เดนมาร์ค ผนึกตัวแทนจำหน่ายภาคเหนือ รับนโยบายรุกเต็มสูบหลังภาพรวมภาคเหนือรายได้เติบโตต่อเนื่อง เน้นเข้าถึงเป็นครอบครัวเดียวกันกับตัวแทนจำหน่าย และขยายเข้าโมเดิร์นเทรด เชื่อสองขาช่วยส่งให้สิ้นปีเหนือโตขึ้นเป็น 30%
นายนพดล ตันวิเชียร รองผู้อำนวยการทำการแทนผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ผู้ผลิตและจัดจำหน่าย นมไทย-เดนมาร์ค เปิดเผยภายหลังเป็นประธาน การจัดประชุมสัมมนาตัวแทนจำหน่ายในเขตพื้นที่ภาคเหนือกว่า 100 คน ว่าในรอบปีที่ผ่านมา ตัวเลขความเติบโตของการจัดจำหน่าย นม ยู.เอช.ที ในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและตอนล่างมีความเติบโตต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยจากการเกิดขึ้นของชุมชนเมืองมีประชากรเพิ่มขึ้น และมีการเปิดจุดจำหน่ายสินค้าเป็นโมเดิร์นเทรด ร้านสะดวกซื้อเพิ่มมากขึ้น และผลกระทบจากอุทกภัยใหญ่ที่ผ่านมาทำให้คู่แข่งสำคัญ มีปัญหาเรื่องการขนส่งและการผลิต ประกอบกับมีการปรับกลยุทธ์การจัดจำหน่ายของคู่แข่งทำให้ส่งผลบวกต่อนมไทย-เดนมาร์คในพื้นที่ภาคเหนือ ในขณะที่ อ.ส.ค. มีโรงงานผลิตในทุกภาคสามารถบริหารจัดการเรื่องการผลิตและการขนส่งได้ดี ปัญหาน้ำท่วมที่ผ่านมาจึงไม่ส่งผลต่อการจัดจำหน่ายของนมไทย-เดนมาร์คในภูมิภาคแต่อย่างใด
“ขนาดชุมชนที่โตขึ้น และการเข้าถึงผู้บริโภคที่มากขึ้นของ อ.ส.ค. ที่ยังคงให้ความสำคัญกับรูปแบบการตลาดผ่านตัวแทนจำหน่ายและโมเดิร์นเทรดเท่าๆกัน ผู้บริโภคสามารถถามถึงนมไทย-เดนมาร์คได้ทุกที่ ทำให้ในช่วงปีที่ผ่านมายอดขายของนมไทย-เดนมาร์คของเรามาเป็นอันดับ 2 ในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งในปีนี้เราได้ทุ่มงบประมาณในด้านการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรให้กับโรงงานในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ จ.สุโขทัย ซึ่งจะสามารถช่วยเสริมประสิทธิภาพการผลิตให้เพิ่มขึ้น รองรับน้ำนมดิบไม่น้อยกว่า 150 ตันต่อวัน ในขณะที่โรงงานใหม่ ที่จะก่อสร้างที่ จ.ลำปาง จะสามารถเริ่มดำเนินการได้ภายในปี 2556 และจะแล้วเสร็จราวปี 2558 ซึ่งจะสามารถผลิตได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 140 ตันต่อวัน นี่คือนมโคสดแท้ 100% ที่มาจากเครือข่ายเกษตรกรของ อ.ส.ค.ทั้งหมด” รองผอ.กล่าว
โดยเหตุผลสำคัญในการรุกปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและสร้างโรงงานนมแห่งใหม่ในภาคเหนือนั้น รองผอ.นพดล ขยายว่า จากคุณภาพน้ำนมดิบที่ อ.ส.ค. รับซื้อจากเกษตรกรทั้งหมด น้ำนมดิบจากสมาชิกสหกรณ์ในพื้นที่ภาคเหนือมีคุณภาพน้ำนมสูงกว่าในภูมิภาคอื่น เนื่องจากมีปัจจัยสำคัญ คือ มีหญ้าเลี้ยงสัตว์และผลิตผลการเกษตรเหลือใช้ เช่น กากถั่ว ต้นข้าวโพดอ่อน ที่อุดมสมบูรณ์ ระบบชลประทานที่เอื้อต่อการเลี้ยงโคนม ตลอดจนสภาพภูมิอากาศที่ไม่ร้อนจัดทำให้โคนมให้ปริมาณน้ำนมดิบที่สูงและ มีคุณภาพสูงกว่า ที่สำคัญ คือ เกษตรกรมีความพร้อมในการขยายพื้นที่การเลี้ยงโคนมมากที่สุด ในอนาคตจึงเป็นพื้นที่คุ้มค่าต่อการลงทุนและเหมาะแก่การส่งเสริมเกษตรกรเลี้ยงโคนมเพิ่มขึ้น
“อ.ส.ค.ได้แบ่งพื้นที่รับผิดชอบสำหรับโรงงานนมในภูมิภาคไว้ชัดเจนเพื่อรองรับการรุกตลาดอาเซียน โดยพื้นที่ภาคเหนือ มีโรงงานที่จังหวัดเชียงใหม่ สุโขทัย และจะมีที่ลำปางเพิ่มขึ้นนี้จะให้รับผิดชอบทำตลาดในพม่า ไปจนถึงจีนตอนใต้ ซึ่งตอนนี้อยู่ในช่วงของการดำเนินการขอ อ.ย. และจัดทำกล่องเป็นภาษาจีน คาดว่าจะสามารถจัดจำหน่ายในจีนตอนใต้ได้ภายในปีนี้ สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีโรงงานที่จังหวัดขอนแก่น รับผิดชอบพื้นที่ภาคอีสาน 14 จังหวัด และรับผิดชอบตลาดอินโดจีนที่มี ลาว กัมพูชาและเวียดนาม
ส่วนโรงงานที่ภาคกลาง คือ อ.มวกเหล็ก จ. สระบุรี รับผิดชอบภาคกลาง อีสานตอนใต้ ภาคกลางที่ต้องขนส่งสินค้าออกต่างประเทศทางเรือ เพราะขนส่งสะดวกกว่าที่อื่น สำหรับโรงงาน อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ รับผิดชอบภาคใต้ทั้งหมด พร้อมรุกตลาดมาเลเซีย ซึ่งเป็นตลาดที่น่าสนใจมาก ตอนนี้อ.ส.ค. ร่วมมือกับสหกรณ์โคนมพัทลุง ให้สามารถเป็นฐานการผลิตให้กับ อ.ส.ค. ได้อีกแห่งหนึ่งเพื่อรุกตลาดภาคใต้อย่างจริงจังยิ่งขึ้น” และลดค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติก
ทางด้าน นายสุชาติ จริยาเลิศศักดิ์ รองผู้อำนวยการ อ.ส.ค.ได้เสริมกลยุทธ์การตลาดที่ นมไทย-เดนมาร์ค จะรุกในปี 2556 นี้ว่า ได้ตั้งงบประมาณไว้กว่า 130 ล้านบาท สำหรับดำเนินกิจกรรมทางการตลาดโดยจะมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นโยเกิร์ตพร้อมดื่ม ยู.เอช.ที พร้อมกับเปิดตัวพรีเซ็นเตอร์และภาพยนตร์โฆษณาชุดใหม่ พร้อมกับการจัดโปรโมชั่นชิงรางวัลครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยจัดมาก่อนของ นมไทย-เดนมาร์ค ซึ่งจะเปิดตัวราวเดือน เม.ย.นี้ ในขณะเดียวกันยังได้พัฒนากิจกรรมทางการตลาด ในยุค Social Media Marketing โดยสร้างเกมส์แอพลิเคชั่น และกิจกรรมสำหรับแฟนคลับ ของนมไทย-เดนมาร์ค ใน Social Network ต่างๆ ซึ่งจะเปิดตัวในปลายเดือนมีนาคมนี้ โดยคาดว่าจะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นมากยิ่งขึ้น
“ในแง่ของการรุกตลาดในพื้นที่นั้น เราจะจัดให้มี Road Show ส่งเสริมการขายในแต่ละภูมิภาค เพื่อช่วยกระตุ้นยอดขาย โดยจะจัดคอนเสิร์ตในพื้นที่ภาคใต้ก่อน และจะไปเริ่มในภาคอื่นตามมา รวมถึงจัดโปรโมชั่นสำหรับตัวแทนจำหน่ายในรายพื้นที่ส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันเราได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงเพื่อศึกษาวิจัยกลยุทธ์ทางการตลาด โดยจะพัฒนาระบบการตลาดและ การขาย กำหนดค่า KPI สำหรับตัวแทนจำหน่าย กำหนดผลตอบแทนที่ สร้างแรงจูงใจแก่ตัวแทนจำหน่าย ตลอดจนกลยุทธ์การตลาดรายพื้นที่ว่าแต่ละแห่งเป็นอย่างไร เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคในแต่ละภูมิภาคแตกต่างกัน” นายสุชาติกล่าว
โดยเป้าหมายความเติบโตในภาพรวมรายได้คาดหวังกำไรในสิ้นปีที่ 400 ล้านบาท ทำให้ภาพรวมรายได้โตขึ้นจากปัจจุบันที่มียอดขายรวมที่ 6,500 ล้านบาทเป็น 7,000 ล้านบาทในที่สุด ในขณะที่พื้นที่ภาคเหนือคาดหวังให้โตเบียดคู่แข่งให้ได้ ส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น จาก 27 % เป็น 30 %