กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ผู้ลงทุนสถาบัน 5 กลุ่ม ได้แก่ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สำนักงานประกันสังคม สมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย และสมาคมประกันชีวิตไทย ประกาศจับมือต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น พร้อมประกาศเจตนารมณ์ที่จะร่วมมือในการกำหนดแนวทางการลงทุนที่ดี ในวันนี้ (11 มีนาคม 2556) ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ จะมีการกำหนดแนวปฏิบัติในการดำเนินงานและการลงทุนของผู้ลงทุนสถาบัน ในการสนับสนุนให้เกิดบรรษัทภิบาลที่ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคม และต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นในบริษัทจดทะเบียนและธุรกิจในตลาดทุน โดยผู้ลงทุนสถาบันทุกกลุ่มถือปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน ซึ่งจะเป็นการยกระดับตลาดทุนไทยรวมทั้งภาคธุรกิจของไทยให้มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
นางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย เลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวว่า กบข. ให้ความสำคัญกับการลงทุนระยะยาวและบริหารเงินลงทุนกว่า 580,000 ล้านบาท ในฐานะเจ้าของกิจการ จึงส่งเสริมกิจการที่มีบรรษัทภิบาล ด้วยเชื่อมั่นว่า จะเป็นภูมิคุ้มกันให้กิจการสร้างผลตอบแทนที่ดีและยั่งยืนต่อผู้ลงทุน การร่วมมือกันของนักลงทุนสถาบันครั้งนี้จะเป็นพลังขับเคลื่อนให้เกิดผลในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมเป็นเครือข่ายกับภาครัฐและเอกชนในการต่อต้านคอร์รัปชั่นที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้
นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคมซึ่งบริหารกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนรวมกันมากกว่า 1 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นเงินออมของผู้ประกันตนจำนวนกว่า 10 ล้านคน ที่ออมไว้กับกองทุนประกันสังคมในระหว่างทำงานเพื่อรอรับสิทธิประโยชน์บำเหน็จหรือบำนาญหลังเกษียณ ในฐานะนักลงทุนสถาบันที่มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม สำนักงานประกันสังคมจึงได้ร่วมกับนักลงทุนสถาบันอื่นๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกาศจุดยืนในการสนับสนุนให้เกิดบรรษัทภิบาลที่ดี และต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ในกลุ่มบริษัทที่สำนักงานนำเงินไปลงทุน
ดร.สมจินต์ ศรไพศาล นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน กล่าวว่า ในฐานะผู้จัดการกองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนส่วนบุคคล รวมกันทั้งสิ้น 5.7 ล้านบัญชี ด้วยขนาดสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร 3.7 ล้านล้านบาท พวกเราตั้งใจจะเป็นนักลงทุนที่ร่วมรับผิดชอบต่อสังคม เราเชื่อว่าธุรกิจที่จะเจริญก้าวหน้าได้อย่างยั่งยืนนั้น นอกจากการทำกำไรที่ดีแล้วยังต้องรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวมด้วย และหวังใจว่าการร่วมมือกันของพวกเราจะมีส่วนในการโน้มนำให้เกิดกระแสแห่งการดำเนินธุรกิจด้วยความชอบธรรมและรับผิดชอบต่อสังคมในหมู่บริษัทต่างๆที่พวกเราได้เข้าลงทุน และส่งผลให้สังคมและประเทศชาติของเราก็เจริญวัฒนาไปด้วย ดังคำขวัญที่ว่า "ธุรกิจก็เติบใหญ่ ชาติไทยก็พัฒนา"
นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย กล่าวว่า สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทยจะสนับสนุนและส่งเสริมให้บริษัทหลักทรัพย์ตระหนักถึงความสำคัญของการมีบรรษัทภิบาลที่ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงมีมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นที่ปรึกษาการเงินในการระดมทุนและทำธุรกรรมในตลาดทุน และบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่จะต้องให้คำแนะนำการลงทุน จัดทำและเผยแพร่บทวิเคราะห์หลักทรัพย์ จะเน้นความสำคัญในการดำเนินการแนวทางดังกล่าวของบริษัทที่ไปให้คำปรึกษาและบริษัทที่บริษัทหลักทรัพย์จัดทำบทวิเคราะห์
นางบุษรา อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า ธุรกิจประกันชีวิตเป็นแหล่งระดมเงินออมระยะยาวที่สำคัญของประเทศ ในปี 2555 มีสินทรัพย์ลงทุนถึง 1.64 ล้านล้านบาท โดยเงินลงทุนส่วนใหญ่มาจากเบี้ยประกันภัยที่ได้รับจากประชาชนผู้ทำประกันชีวิต ที่บริษัทประกันชีวิตนำไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ที่ระบุไว้ในสัญญาประกันภัย สมาคมประกันชีวิตไทยจึงร่วมแสดงจุดยืนในวันนี้ และขอให้รับทราบว่าบริษัทประกันชีวิตให้ความสำคัญอย่างจริงจังในเรื่องบรรษัทภิบาลที่ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคม และการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นในกิจการที่ลงทุน
ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการที่ผู้ลงทุนสถาบันในประเทศจะร่วมสนับสนุนให้เกิดบรรษัทภิบาลที่ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคม และให้ความสำคัญของการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นให้เกิดเป็นรูปธรรม ซึ่งการประกาศจุดยืนนี้ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงาน ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับและพัฒนาตลาดทุนไทย มีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมและยกระดับบรรษัทภิบาล ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ตลาดทุนไทยเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติมากยิ่งขึ้น โดยที่ผู้ลงทุนสถาบันนับเป็นนักลงทุนที่สำคัญในตลาดทุนที่จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการยกระดับบรรษัทภิบาลในตลาดทุนได้เป็นอย่างมาก การประกาศจุดยืนของกลุ่มผู้ลงทุนสถาบันในวันนี้ เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมและสมควรได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้เกิดขึ้นในสังคมว่า กลุ่มผู้ลงทุนสถาบันไม่อาจยอมรับการคอร์รัปชั่น ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นอย่างเป็นรูปธรรม สร้างแรงกระตุ้นและสนับสนุนให้กิจการในตลาดทุนพัฒนาคุณภาพให้เกิดบรรษัทภิบาลที่ดี มีความรับผิดชอบต่อประเทศชาติและสังคมด้วยการดำเนินธุรกิจที่โปร่งใส แข่งขันอย่างเป็นธรรม เพื่อสร้างศักยภาพให้แก่ธุรกิจและประเทศชาติอย่างยั่งยืน
นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยินดีที่ผู้ลงทุนสถาบันมีแนวทางส่งเสริมบรรษัทภิบาลที่ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคม และไม่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่น ขณะเดียวกัน เมื่อบริษัทจดทะเบียนได้ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงแนวทางดังกล่าว จะช่วยสร้างคุณค่าเพิ่มให้แก่องค์กร ส่งผลให้องค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน และช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นและความน่าสนใจในสายตาผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยออกหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน เพื่อเป็นแนวทางให้บริษัทปฏิบัติตั้งแต่ปี 2545 รวมถึงส่งเสริมให้สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) เป็นสถาบันหลักในการพัฒนาความรู้แก่บริษัทจดทะเบียนไทย ให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม พร้อมผลักดันสู่การลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อสร้างคุณค่าแก่องค์กร ผู้มีส่วนได้เสีย และสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้จัดทำคู่มือ 2 ฉบับ ได้แก่ แนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม และการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน ซึ่งเป็นคู่มือการจัดทำรายงานด้าน CSR และกรอบการรายงานของ Global Reporting Initiative หรือ GRI
นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า สำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัย ให้การสนับสนุนการสร้างความร่วมมือให้เกิดธรรมาภิบาลที่ดีในธุรกิจ รวมถึงการต่อต้านการคอร์รัปชั่นที่เป็นรูปธรรมนี้ กรอบแนวทางปฏิบัติที่เห็นชอบร่วมกันในกลุ่มผู้ลงทุนสถาบัน จะสร้างมาตรฐานการประกอบธุรกิจในตลาดทุนที่ใสสะอาด มีการบริหารงานที่ดี มีความโปร่งใส และเป็นธรรม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างยั่งยืน