เรื่องย่อ ภาพยนตร์ "นเรศวร"

ข่าวกีฬา Wednesday December 15, 2004 13:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ธ.ค.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์
เรื่องย่อ
พุทธศักราช 2106 พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ทรงกรีฑาทัพเข้าตีราชอาณาจักรอยุธยาทางด่านระแหงแขวงเมืองตาก ทัพพม่ารามัญซึ่งมีรี้พลเหลือคณานับได้เข้ายึดครองหัวเมืองฝ่ายเหนือของราชอาณาจักรอยุธยาอันมีเมืองพิษณุโลกเป็นประหนึ่งเมืองราชธานีได้เป็นผลสำเร็จ ครั้งนั้นสมเด็จพระมหาธรรมราชาพระราชบิดาสมเด็จพระนเรศวรหรือพระองค์ดำซึ่งเป็นเจ้าแผ่นดินครองเมืองพิษณุโลก จำต้องยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าบุเรงนองเพื่อรักษาไวซึ่งชีวิตอาณาประชาราษฎร์มิให้ต้องมีภยันตราย และจำต้องยอมร่วมกระบวนทัพพม่าเข้าตีกรุงศรีอยุธยา ศึกครั้งนั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเจ้าแผ่นดินอยุธยาทรงยอมเจรจาหย่าศึกกับพม่ารามัญ และยอมถวายช้างเผือก 4 เชือก ทั้งให้สมเด็จพระราเมศวรราชโอรส โดยเสด็จพระเจ้าบุเรงนองไปประทับยังนครหงสาวดีตามพระประสงค์ของกษัตริย์พม่า ข้างสมเด็ยพระมหาธรรมราชาซึ่งได้ยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าบุเรงนองก็ได้ถวายสมเด็จพระนเรศวรราชโอรสองค์โต ให้ไปเป็นองค์ประกันประทับยังหงสาประเทศเฉกเช่นกัน ครั้งนั้นพระองค์ทรงมีพระชนม์มายุได้เพียง 9 พระชันษา
สมเด็จพระนเรศวรทรงเป็นที่รักใคร่ของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองประดุจพระราชบุตรร่วมสายสันตติวงศ์ ด้วยองค์ยุพราชอยุธยาทรงมีพระปรีชาสามารถด้านพิชัยยุทธ ทั้งยังองอาจกล้าหาญ สบพระทัยกษัตริย์พม่าซึ่งก็ทรงเป็นนักการทหาร นิยมผู้มีคุณสมบัติเป็นนักรบเยี่ยงพระองค์ พระเจ้าบุเรงนองทรงมีสายตาพระเนตรยาวไกล แลเห็นว่าสืบไปเบื้องหน้าสมเด็จพระนเรศวรจะได้ขึ้นเป็นใหญ่ในอุษาคเนย์ประเทศ จึงทรงคิดใคร่ปลูกฝังให้สมเด็จพระนเรศวรผูกพระทัยรักแผ่นดินหงสา เพื่อจะได้อาศัยพระองค์เป็นผู้สืบอำนาจอุปถัมภ์ค้ำชูราชอาณาจักรซึ่งพระองค์ทรงสถาปนาขึ้นด้วยความยากลำบาก เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าพระเจ้าบุเรงนองนั้นหาได้วางพระทัยในพระราชโอรส คือ มังเอิน (พระเจ้านันทบุเรง) และพระราชนัดดามังสามเกลียดนักถึงแม้ทั้งสองพระองค์จะทรงเป็นเลือดเนื้อเชื่อไขโดยตรง ด้วยทรงเล็งเห็นว่าราชนิกุลทั้งสองพระองค์นั้นหาได้เป็นผู้ทรงคุณธรรมอันจะน้อมนำเป็นพื้นฐานให้เติบใหญ่เป็นบูรพกษัตริย์ปกป้องครองแผ่นดินที่พระองค์ทรงสร้างและทำนุบำรุงมาด้วยกำลังสติปัญญาและความรักใคร่หวงแหน เหตุทั้งนี้เป็นชนวนให้พระเจ้านันทบุเรงและราชโอรสมังสามเกลียดขัดพระทัย ทั้งผูกจิตริษยาสมเด็จพระนเรศวรซึ่งเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองกว่าราชนิกุลข้างพม่าทั้งหลายทั้งสิ้น
พระเจ้าบุเรงนองทรงโปรดให้พระมหาเถรคันฉ่อง พระรามัญผู้มากด้วยวิทยาคุณและเจนจบในตำราพิชัยสงครามเป็นพระอาจารย์ถ่ายทอดศิลปะวิทยาการแก่สมเด็จพระนเรศวรนับแต่เริ่มเข้าประทับในหงสาวนคร ยังผลให้ยุพราชอยุธยาเชี่ยวชาญการยุทธกลช้าง กลม้า กลศึก ทั้งข้างอยุธยาและข้างพม่ารามัญหาผู้เสนอเหมือนมิได้ ข้อได้เปรียบตามกล่าวเป็นเสมือนทุกทางปัญญาอันส่งผลให้สมเด็จพระนเรศวร สามารถกอบกู้เอกราช แก้ทางศึกจนมีชัยเหนือพม่ารามัญในภายภาคหน้า
พุทธศักราช 2112 ปรากฏข่าวระบือไปถึงหงสาวดีว่า หัวเมืองพิษณุโลกฝ่ายเหนือแลกรุงศรีอยุธยาราชธานีฝ่ายใต้ของราชอาณาจักรสยามครั้งนั้นเกิดขึ้นแย้งปีนเกลียวกัน เหตุเนื่องมาจากสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเจ้าแผ่นดินอยุธยาเสด็จออกผนวช แลสถาปนาสมเด็จพระมหินทร์ราชโอรสองค์รองขึ้นเสวยพระราชสมบัติสืบแทน สมเด็จพระมหินทร์ทรงคลางแคลงพระทัยในความจงรักภักดีของสมเด็จพระมหาธรรมราชาแต่ครั้งสงครามชิงช้างเผือกในปีพุทธศักราช 2106 ขณะที่เจ้าแผ่นดินพิษณุโลกก็หาได้ยำเกรงสมเด็จพระมหินทร์เช่นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เมื่อเห็นการใดมิควรก็บังคับบัญชาให้สมเด็จพระมหินทร์ปฏิบัติตามพระประสบค์ จนเป็นที่ขุ่นเคืองพระราชหฤทัยกษัตริย์อยุธยาพระองค์ใหม่ถึงกับหันสมคบกับสมเด็จพระชัยเชษฐาธิราชพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาวร่วมกันแต่งกลเข้าตีเมืองพิษณุโลก แต่กระทำการมิสำเร็จ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองเห็นเชิงสบโอกาสก็ยกทัพใหญ่เข้าตีกรุงศรีอยุธยาอีกคำรบ ครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศวรร่วมโดยเสด็จมากับทัพหงสาแต่หาได้ตามพระเจ้าบุเรงนองลงมาล้อมกรุงศรีอยุธยา ทรงประทับอยู่เพียงเมืองพิษณุโลก มีเพียงสมเด็จพระมหาธรรมราชาโดยเสด็จกษัตริย์หงสาลงมาล้อมกรุง ด้วยตั้งพระทัยจะเกลี้ยกล่อมให้สมเด็จพระมหินทร์ยอมสวามิภักดิ์พระเจ้าบุเรงนอง เพราะเล็งเห็นว่าอยุธยายากจะต่อรบเอาชัพทัพพม่ารามัญซึ่งมีกำลังไพร่พลเหนือกว่าได้ หากขัดขืนต่อรบจะได้ยากแก่สมณชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎร์ ศึกครั้งนั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงลาผนวชมาบัญชาการรบด้วยพระองค์เอง แต่อยู่ได้มิช้านานก็เสด็จสวรรคตเสียระหว่างศึก พุทธศักราช 2112 มะเส็งสก วันอาทิตย์ เดือน 9 แรม 11 ค่ำ กรุงศรีอยุธยาก็เสียแก่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง
ข้างสมเด็จพระนเรศวรซึ่งประทับอยู่ยั้งยังนครพิษณุโลกแต่ต้นศึกษาได้ทรงเห็นงามคิดครั้นคร้านอ่อนน้อมต่อหงสา ถึงจะทรงรู้ซึ้งว่าสมเด็จพระมหาธรรมราชาพระราชบิดามิได้คิดคดเป็นกบฏต่อแผ่นดิน แต่ก็หาได้เห็นด้วยกับการอ่อนข้อสวามิภักดิ์พม่ารามัญ น้ำพระทัยอันมั่นคงเด็ดเดี่ยวนั้นถึงแม้จะมิได้แพร่งพรายถึงพระกัณฑ์พระเจ้าบุเรงนอง แต่ก็ประจักษ์อยู่ในหมู่ข้าราชบริพารใกล้ชิด ผู้รักและหวงแหนในเอกราชของแผ่นดินจึงพากันนิยมในน้ำพระทัย แลพร้อมใจถวายความจงรักภักดีแต่นั้นมา ครั้นเสด็จศึกอยุธยาพุทธศักราช 2112 สมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงถวายพระสุพรรณกัลยา พระพี่นางสมเด็จพระนเรศวรแก่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง แลขอตัวสมเด็จพระนเรศวรไว้ช่วยราชการข้างอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรจึงประทับยั้งอยู่ยังเมืองพิษณุโลกสืบต่อมา ครั้นลุปีพุทธศักราช 2114 สมเด็จพระมหาธรรมราชซึ่งพระเจ้าบุเรงนองสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยาสืบต่อจากสมเด็จพระมหินทร์ ก็โปรดให้สมเด็จพระนเรศวรเสวยราชย์ครองเมืองพิษณุโลกเป็นใหญ่เหนือหัวเมืองเหนือทั้งปวง
เหตุการณ์ข้างพม่า หลังจากพระเจ้าหงสาวดีนองสิ้นพระชนม์ในปีพุทธศักราช 2124 พระเจ้านันทบุเรงได้ขึ้นเสวยราชสืบต่อ และได้สถาปนามังสามเกลียดขึ้นเป็นรัชทายาทครองตำแหน่งมหาอุปราชาแห่งราชอาณาจักรหงสาวดี เมื่อแผ่นดินหงสามีอันต้องผลัดมือมาอยู่ในปกครองของพระเจ้านันทบุเรง สัมพันธไมตรีระหว่างอยุธยาและหงสาวดีก็เริ่มสั่นคลอน ด้วยพระเจ้าหงสาวดีพระองค์ใหม่ มิได้วางพระทัยในสมเด็ยพระนเรศวร และสมเด็จพระนเรศวรเองก็ได้เคารพยำเกรงในบุญบารมีพระเจ้าแผ่นดินพม่ารามัญเช่นกาลก่อน มิเพียงเท่านั้น สมเด็จพระนเรศวรยังได้ทรงแสดงพระปรีชาสามารถให้เป็นที่ปรากฏครั่นคร้าม ดังคราวนำกำลังทำยุทธนาวีกับพระยาจีนจันตุ และศึกเมืองคัง เป็นอาทิพระเจ้านันทบุเรงทรงเกรงว่าสืบไปเบื้องหน้าสมเด็จพระนเรศวรจะเป็นภัยต่อพระราชวงศ์แลแผ่นดินหงสาจึงหาเหตุวางกลศึก หมายจะปลงพระชนม์สมเด็จพระนเรศวรเสียที่เมืองแครง แต่พระมหาเถรคันฉ่องพระราชครูลอบนำแผนประทุษร้ายนั้นมาแจ้งให้ศิษย์รักได้รู้ความ สมเด็จพระนเรศวรจึงถือเป็นเหตุประกาศเอกราชตัดสัมพันธไมตรีกับหงสาวดีแลกวาดต้อนครัวมอญไทยข้ามแม่น้ำสะโตงกลับคืนพระนคร ซึ่งเป็นชนวนให้พระเจ้านันทบุเรงเปิดมหายุทธสงคราม สั่งทัพเข้ารุกรานราชอาณาอยุธยาสืบแต่นั้นมา
สมเด็จพระนเรศวรทรงตระหนักแต่เบื้องต้นว่าหงสาวดีกับอยุธยาจะกลับเป็นปัจจามิตรกันอีกคำรบหลังสิ้นแผ่นดินพระเจ้าบุเรงนอง พระองค์จึงมิได้ทรงนอนพระทัยทรงลอบทำนุบำรุงทแกล้วทหาร สั่งสมอาวุธยุทโธปกรณ์เตรียมรับศึกหงสามาแต่แรกเสด็จกลับอยุธยา ประจวบกับอยุธยามีศึกละแวกมาติดพัน จึงเป็นข้ออ้างให้พระองค์อาศัยเป็นเหตุสะสมกำลังบำรุงไพร่พล โดยมิเป็นที่สงสัยเคลือบแคลงของพม่ารามัญ ครั้นถึงเวลาที่พระเจ้านันทบุเรงเปิดยุทธการสมเด็จพระนเรศวรก็ทรงสามารถป้องกันพระนครรบชนะทัพหงสาซึ่งมีกำลังเหนือกว่าได้เป็นหลายครั้ง ซึ่งในศึกครั้งสำคัญๆ ก็ทรงนำทัพออกรบด้วยพระองค์เองจนถึงขั้นตะลุมบอนกับนายทัพพม่า จนเป็นที่ร่ำลือในพระปรีชาสามารถไปทั่วแดนอุษาคเนย์
ในปีพุทธศักราช 2135 พระเจ้านันทบุเรงทรงโปรดให้พระมหาอุปราชานำทัพพม่าเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 240,000 เข้าตีกรุงศรีอยุธยา นับว่าศึกครั้งนั้น รีพลช้างพม่าที่ยกมามีจำนวนเหนือกว่าที่เคยยกมากระทำการในครั้งก่อนๆ สมเด็จพระนเรศวรทรงนำทัพออกรับทัพพม่าถึงตำบลหนองสาหร่าย แขวงเมืองสุพรรณบุรี ทรงกระทำศึกขับเขี้ยวถึงกับได้ทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา จนเป็นเหตุให้พระมหาอุปราชาเสียทีสิ้นพระชนม์ในกลางสมรภูมิ นับแต่นั้นเป็นต้นมา พม่าก็มิได้หาญกล้านำทัพเข้ารุกรานกรุงศรีอยุธยาอีกกว่าร้อยขวบปี และชัยชนะครั้งนั้นเป็นที่จดจำเล่าขานสืบต่อกันมาอีกชั่วกาลนาน--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ