กรุงเทพฯ--13 มี.ค.--jigsaw-communications
โครงการวิจัยที่ค้นพบข้อมูลสำคัญสำหรับวงการ ขอเรียกร้องให้มีการลงทุนมากขึ้นในโครงการริเริ่มที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์สนับสนุนด้านการดูแลสุขภาพและการลดอันตรายสำหรับผู้ใช้ยาด้วยวิธีฉีดในประเทศไทย เพื่อช่วยรักษาชีวิตและป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี
แม้จะมีการใช้นโยบายด้านยาเสพติดอย่างแข็งกร้าวและมีการควบคุมตัวเพื่อบังคับบำบัดอยู่ก็ตาม แต่การมีอยู่ของยาผิดกฎหมายในกรุงเทพมหานครก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงระหว่างปี 2552ถึง 2554
การวิจัยโครงการใหม่ของศูนย์บริทิชโคลัมเบียเพื่อความเป็นเลิศด้านเอชไอวี/เอดส์ (BC-CfE) มูลนิธิรณรงค์เพื่อการรักษาเอดส์ (TTAG) และโครงการวิจัยชุมชนมิตรสัมพันธ์ของประเทศไทย พบว่าการทำสงครามกับยาเสพติดอันยาวนานของรัฐบาลไทย ซึ่งทำให้มีการคุมขังผู้ใช้ยาจำนวนมากนั้น ประสบความล้มเหลวในการหยุดยั้งการมีอยู่ของยาผิดกฎหมายหรือการใช้ยาเหล่านี้ภายในประเทศ
การวิจัยนี้ ซึ่งในเร็วๆนี้จะได้มีการพิมพ์เผยแพร่ในวารสารการพึ่งพาสารเสพติดและแอลกอฮอล์ (Drug and Alcohol Dependence) ซึ่งเป็นวารสารที่ได้รับความเชื่อถือสำหรับการทบทวนเนื้อหาการวิจัยระหว่างกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้วยกัน ได้ประเมินความเปลี่ยนแปลงสถานะของการมีอยู่ของสารเสพติด 5 ชนิดที่นิยมใช้กันในกลุ่มผู้ใช้ยาด้วยวิธีฉีด(IDUs) ในกรุงเทพมหานครในช่วงระหว่างปี 2552 ถึง 2554และการวิจัยนี้ยังได้ตรวจสอบพฤติกรรมการใช้ยาและปัจจัยอื่นๆอีกหลายประการที่ส่งผลต่อการมีอยู่ของสารเหล่านี้
ผลการวิจัยแสดงว่าการมีอยู่ของเฮโรอีน ยาบ้า (เมธแอมเฟตามีน) ยาไอซ์ (คริสตอล เมธแอมเฟตามีน) ยามิดาโซแลม และยาเมธาโดนที่ผิดกฎหมายนั้นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงระหว่างปี 2552 ถึง 2554 โดยการมีอยู่ของยาไอซ์เพิ่มขึ้นมากที่สุด และสัดส่วนของผู้ใช้ยาด้วยวิธีฉีดที่รายงานว่าสามารถหายาไอซ์มาใช้ได้ภายในเวลาน้อยกว่า 10 นาทีก็เพิ่มขึ้นถึงหกเท่า กล่าวคือ เพิ่มจากร้อยละ 6 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 36 ในปี 2554 และในช่วงระหว่างสองปีดังกล่าวนั้น ราคาขายปลีกของยาทุกชนิดที่โครงการวิจัยนี้ได้ศึกษาก็ยังคงเท่าเดิม
“ผลการวิจัยนี้ได้ทำให้เกิดคำถามที่สำคัญเกี่ยวกับประสิทธิผลของแนวทางในการทำสงครามกับยาเสพติดอย่างแข็งกร้าวของรัฐบาล ตลอดจนการลงทุนต่างๆมากมายเป็นเวลาหลายปีในด้านการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งๆที่ตลาดของยาผิดกฎหมายภายในประเทศก็ยังคงเจริญเติบโตต่อไปเช่นเดิม”นายไพศาล สุวรรณวงษ์ ผู้อำนวยการบริหารของมูลนิธิรณรงค์เพื่อการรักษาเอดส์ (TTAG) และเป็นผู้ร่วมในการวิจัยนี้กล่าว “นับเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐบาลจะต้องคิดทบทวนเกี่ยวกับนโยบายยาเสพติดอีกครั้ง และหันมาเน้นที่การป้องกัน การบำบัด และการฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ใช้ยาแทน”
สิ่งค้นพบที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การมีอยู่ของยาบ้าที่เพิ่มขึ้นมีความเกี่ยวข้องกับการที่บุคคลได้พบปะกันในสภาพแวดล้อมของทัณฑสถาน ข้อค้นพบนี้นับว่าสำคัญยิ่งเพราะมีกรณีสนับสนุนอยู่ กล่าวคือ ในช่วงระหว่างปี 2554 ถึง 2555 หน่วยงานต่างๆของไทยได้ดำเนินการกวาดล้างในเรือนจำต่างๆทั่วประเทศติดต่อกันเป็นเวลา 6 เดือนและสามารถยึดยาบ้าได้ทั้งสิ้น 58,991 เม็ด (กิ่งอ้อ เล่าฮง และ นุชจรี แรกรุ่น, 2555) สิ่งที่ผู้วิจัยเชื่อก็คือ ข้อค้นพบจากการวิจัยชี้ว่าการคุมขังผู้ใช้ยาด้วยวิธีฉีดอาจเป็นการอำนวยความสะดวกให้มีการสร้างหรือปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้ยาด้วยวิธีฉีดและผู้ค้ายาบ้าที่ถูกคุมขังอยู่รวมกัน ซึ่งทำให้การซื้อยาหลังจากถูกปล่อยตัวจากเรือนจำสามารถทำได้ง่ายขึ้น
“มันนานมากเกินไปแล้วที่ในการแก้ไขปัญหาที่รุนแรงของการใช้สารเสพติดนั้น พวกเราได้เน้นใช้แนวทางของการควบคุมตัวเพื่อการบังคับบำบัดมาโดยตลอด แต่การวิจัยนี้ รวมทั้งการวิจัยอื่นๆที่ดำเนินการก่อนหน้านี้ ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าแนวทางนี้ใช้ไม่ได้ผล” นายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตวุฒิสมาชิกกล่าว “ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเปลี่ยนจากการคุมขังผู้ใช้ยา แล้วหันมาลงทุนในโครงการบำบัดการติดสารเสพติดและโครงการลดอันตรายต่างๆที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว เพื่อสนองความต้องการด้านการรักษาและการดูแลของพวกเขา”
ผู้วิจัยเชื่อว่า รัฐบาลควรเปลี่ยนจากการใช้วิธีบังคับคุมขัง ที่ใช้เป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงผู้ใช้ยากับโครงการบำบัดโดยหันไปเน้นที่การบำบัดระยะยาว โดยความสมัครใจ และดำเนินการบำบัดภายในที่ตั้งของชุมชน นอกจากนี้ การระบาดของเชื้อโรคสองชนิดควบคู่กันในกลุ่มผู้ใช้ยาด้วยวิธีฉีดชาวไทย ซึ่งได้แก่เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง (เอชไอวี) และเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคตับอักเสบซี (HCV) ก็ได้ทำให้เกิดพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงสูงอยู่ต่อไปสำหรับการติดเชื้อทั้งสองนี้ เช่น การใช้กระบอกฉีดร่วมกัน ดังนั้น จำเป็นต้องขยายการจัดบริการด้านการป้องกันในลักษณะที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์รองรับและตรงกับความต้องการของผู้ใช้ยาด้วยวิธีฉีดอย่างเร่งด่วน
การใช้ยาผิดกฎหมายในประเทศไทยได้มีการระบาดมาเป็นเวลานาน และในการจัดการกับการระบาดนี้ รัฐบาลไทยได้นำแนวทางการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดมาใช้อย่างแข็งกร้าว ซึ่งทำให้อัตราการคุมขังผู้กระทำความผิดอันเกี่ยวกับยาเพิ่มสูงขึ้นมากนับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1990 (ช่วง 10 ปีนับจากปี 2533 เป็นต้นมา) และในปี 2545 ก็มีการนำวิธีการคุมขังเพื่อการบังคับบำบัดมาใช้ และมีการขยายผลแนวทางนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปีถัดๆมา และในปี 2553 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) ของไทย ก็ได้รายงานว่ามีผู้คนจำนวน 116,500 คนที่ถูกรับตัวเข้าไว้ในสถานที่ต่างๆสำหรับการบำบัดแบบผู้ป่วยใน และมีมากถึงร้อยละ 60 ของ “ผู้ป่วย” เหล่านี้ที่อยู่ในสถานที่ที่จัดไว้สำหรับการบังคับบำบัด
“การพึ่งพาสารเสพติด เป็นสภาวะความเจ็บป่วยทางสุขภาพที่เรื้อรังและสามารถกลับเป็นซ้ำได้อีก และการวิจัยพบว่า วิธีการจัดการที่ดีที่สุดคือการใช้แนวทางการบำบัดที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์รองรับ” ดร. โทมัส เคอรร์ (Dr. Thomas Kerr) ผู้วิจัยอาวุโสของโครงการนี้และเป็นผู้อำนวยการร่วมของโครงการริเริ่มด้านการวิจัยสุขภาพในเขตเมือง (ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งของศูนย์บริทิชโคลัมเบียเพื่อความเป็นเลิศด้านเอชไอวี) กล่าว “สิ่งค้นพบจากการวิจัยนี้และรายงานการวิจัยอื่นๆที่เผยแพร่มาก่อนหน้านี้ทำให้มีหลักฐานเชิงประจักษ์สำคัญๆที่สนับสนุนว่า การดำเนินการง่ายๆโดยใช้แต่เพียงวิธีการคุมขังผู้ใช้ยา จะไม่สามารถช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการลดอุปสงค์และอุปทานของยาผิดกฎหมายได้เลย และในความเป็นจริงแล้ว แนวทางดังกล่าวนี้ไม่ได้คำนึงถึงผลต่างๆที่จะเกิดตามมาในด้านลบโดยไม่ตั้งใจ เช่น มันอาจเป็นการกระชับความเชื่อมโยงหรือความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้ยาและผู้ค้ายา และทำให้เกิดความเสี่ยงต่างๆด้านสุขภาพ เช่น การแพร่เชื้อเอชไอวี/ตับอักเสบซี”
ผู้วิจัยดำเนินการสำรวจ 2 รอบในกลุ่มผู้ใช้ยาด้วยวิธีฉีดในกรุงเทพมหานครที่สรรหาโดยชุมชนรวม 757 คนในช่วงตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2552 ถึงเดือนตุลาคม 2554 การสรรหาอาสาสมัครเข้าร่วมในการวิจัยดำเนินการผ่านเพื่อนผู้ปฏิบัติงานภาคสนามและโดยการบอกต่อๆกันไป อาสาสมัครทุกคนตอบแบบสอบถามผ่านวิธีการสัมภาษณ์ที่ทำให้ได้ข้อมูลชุดหนึ่งเกี่ยวกับลักษณะประชากรและลักษณะทางสังคมของอาสาสมัคร รูปแบบการใช้ยา การมีอยู่ของยาผิดกฎหมายตามท้องถนนและราคาของยานั้น ประสบการณ์ที่มีกับผู้บังคับใช้กฎหมาย และการเข้าถึงบริการสุขภาพ
การวิจัยนี้ดำเนินการด้วยการร่วมมือกับศูนย์บริทิชโคลัมเบียเพื่อความเป็นเลิศด้านเอชไอวี/เอดส์และมหาวิทยาลัยแห่งบริทิชโคลัมเบีย โดยได้รับข้อมูลสำหรับการวิจัยนี้มาจากโครงการวิจัยชุมชนมิตรสัมพันธ์ ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างศูนย์ลดอันตรายมิตรสัมพันธ์ (ศูนย์ดรอป-อิน ในกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ซึ่งดำเนินการโดยผู้ใช้ยา) มูลนิธิรณรงค์เพื่อการรักษาเอดส์ (TTAG) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร
สำหรับเอกสารฉบับเต็มของการวิจัยเรื่อง การมีอยู่ของยาผิดกฎหมายที่กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในกลุ่มผู้ใช้ยาด้วยวิธีฉีดในกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย(Increasing Availability of Illicit Drugs among People who Inject Drugs in Bangkok, Thailand)โปรดเข้าไปดูที่เว็บไซต์ http://www.sciencedirect.com/science/journal/aip/03768716.
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมหรือต้องการขอสัมภาษณ์ โปรดติดต่อ:
คุณ นาฏยา สีดอกบวบ โทรศัพท์: 02-2542089 Email: nattaya@jigsaw-communications.com