กรุงเทพฯ--13 มี.ค.--กสทช.
เปิดข้อเท็จจริงเรื่องร้องเรียนล่าช้า345เรื่อง
เหตุคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ลัดขั้นตอนหมิ่นเหม่ผิดกฎหมาย
นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการด้านกิจการโทรคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่มีการลงข่าวในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2556 และหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2556เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างผู้อำนวยการกลุ่มงานรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (รท.) สำนักงาน กสทช. กับ ประธานอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม และการดำเนินล่าช้าการต่อเรื่องร้องเรียนจำนวนกว่า 345 เรื่อง นั้น
เลขาธิการ กสทช. ได้สั่งการเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556 ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยรักษาการผู้อำนวยการกลุ่มงานรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (อรท.) ได้มีการรายงานข้อเท็จจริงต่อเลขาธิการ กสทช. เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว สรุปได้ดังนี้
1. การจัดการเรื่องร้องเรียนของสำนักงาน กสทช. เป็นการดำเนินการตามมาตรา 57 (4) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ซึ่งนอกจากจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว สำนักงาน กสทช. ยังต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ตลอดจนประกาศ กฎ และระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงต้องดำเนินการให้เป็นไปตามที่พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 กำหนดไว้อีกด้วย กล่าวคือ การพิจารณาเรื่องร้องเรียนต้องประกอบไปด้วยข้อมูลข้อเท็จจริงจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยมีการเปิดโอกาสให้คู่กรณีได้ชี้แจงข้อเท็จจริงตลอดจนรับฟังพยานหลักฐานประกอบอย่างเพียงพอ เพื่อให้การพิจารณาของ กทค. เป็นไปโดยมีข้อมูลประกอบอย่างครบถ้วน ถูกต้องตามประกาศหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และชอบด้วยหลักการตามวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง รวมทั้งเพื่อให้ กทค. สามารถใช้ดุลพินิจในการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
2. จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงการดำเนินการกรณีเรื่องร้องเรียนจำนวน 345 เรื่อง ดังกล่าว พบว่าเรื่องร้องเรียนที่ได้มีการเสนอต่อคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาให้ความเห็นมิได้มีการเสนอตามขั้นตอนการดำเนินการตามกฎหมาย จึงทำให้สำนักงาน กสทช. (รท.) ยังมิได้พิจารณา กลั่นกรอง ตรวจสอบความสมบูรณ์ ตลอดจนความถูกต้อง ตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งกำหนดไว้ตามมาตรา 57 (4) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ประกอบกับพบว่าในการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ เป็นการพิจารณาในลักษณะเร่งรีบที่เป็นการรวมพิจารณาเรื่องร้องเรียนคราวละหลายสิบเรื่อง โดยใช้ข้อเท็จจริง ในภาพรวมและมิได้แยกพิจารณาเป็นรายกรณี การใช้ระยะเวลาในการพิจารณาที่สั้น และในหลายเรื่องเป็นการพิจารณาโดยขาดข้อเท็จจริงจากคู่กรณีหรือผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย สำนักงาน กสทช. (รท.) พิจารณาแล้วจึงเห็นว่าการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ อาจเป็นการพิจารณาให้ความเห็นโดยขาดข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ อีกทั้ง โดยธรรมชาติของเรื่องร้องเรียนจะมีพลวัตร (Dynamic) สูง เรื่องร้องเรียนจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือความเคลื่อนไหวของเรื่องอยู่เสมอตลอดเวลา อีกทั้งแต่ละเรื่องจะมีข้อเท็จจริงในรายละเอียดที่แตกต่างกันจึงมีหลายกรณีที่ข้อเท็จจริงในสาระสำคัญเปลี่ยนแปลงไป เช่น ผู้ให้บริการได้ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับผู้ร้องเรียนจนเป็นที่เรียบร้อยแล้วในระหว่างแต่ละช่วงของขั้นตอนการดำเนินการ เป็นต้น ดังนั้น สำนักงาน กสทช. (รท.) จึงมีหน้าที่ต้องตรวจสอบความถูกต้องของรายละเอียดเรื่องร้องเรียนให้ครบถ้วน ถูกต้อง และเป็นปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อให้การพิจารณาเพื่อมีคำสั่งทางปกครองของ กทค. เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และถูกต้องครบถ้วนตามหลักการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
3. ด้วยเหตุที่สำนักงาน กสทช. จะต้องดำเนินการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงต่าง ๆ เป็นรายเรื่องอย่างรอบคอบ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ จึงอาจเป็นเหตุที่บุคคลภายนอกหรือแม้แต่บุคคลอื่นที่ไม่ประสงค์ดีต่อ กสทช. กทค. และสำนักงาน กสทช. จะใช้เป็นช่องทางในการสร้างเหตุการณ์หรือการวิจารณ์ผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อให้สาธารณชนเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ว่า สำนักงาน กสทช. (รท.) มิได้ดำเนินการใด ๆ ต่อเรื่องร้องเรียนที่คณะอนุกรรมการฯ ได้มีมติแล้ว อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อคู่กรณี อันจะส่งผลกระทบต่อการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ตลอดจนภาพลักษณ์ของ กสทช. กทค. และสำนักงาน กสทช. และเพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน ตลอดจนการพิจารณาเพื่อมีคำสั่งทางปกครองของ กทค. เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย สำนักงาน กสทช. จึงได้รายงานข้อเท็จจริงให้ประธาน กทค. ทราบ โดยประธาน กทค. ได้มีบัญชาเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2556 เห็นชอบการดำเนินการตามแนวทางของสำนักงาน กสทช. ที่เสนอ โดยให้ดำเนินการโดยยึดหลักกฎหมายโดยเคร่งครัด เพื่อมิให้ กทค. และสำนักงาน กสทช. ปฏิบัติผิดกฎหมาย และให้สำนักงาน กสทช.จัดทำแนวทางการปฏิบัติและดำเนินการตามมาตรา 57 (4) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 เพื่อเสนอให้ กทค. พิจารณาต่อไป
สำหรับประเด็นที่มีข่าวปรากฏว่ามีความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างประธานอนุกรรมการฯ และ อรท. นั้น นายพิชัย สุวรรณกิจบริหาร (รักษาการอรท.) กล่าวชี้แจงว่า เนื่องจากสำนักงาน กสทช. มีฐานะเป็นหน่วยงานรัฐ ดังนั้นกลุ่มงานรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (รท.) ในฐานะหน่วยงานหนึ่งภายใต้โครงสร้างของสำนักงาน กสทช. จึงต้องปฏิบัติหน้าที่ตามที่ ได้รับมอบหมายภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ตลอดจนต้องปฏิบัติตามกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองโดยเคร่งครัด ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันมิให้การปฏิบัติงานของสำนักงาน กสทช.และกทค. มีกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยยืนยันว่า ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และยึดหลักธรรมาภิบาลในการปฏิบัติงานเป็นสำคัญ อีกทั้ง ยังปราศจากความขัดแย้งโดยส่วนตัวกับประธานอนุกรรมการฯ ตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นปัญหาข้อกฎหมายที่กรอบอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมกับสำนักงาน กสทช. ยังทับซ้อนกันอยู่ ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการพิจารณาเรื่องร้องเรียน จึงจะเร่งดำเนินการในส่วนการแก้ไขประกาศ กทช. เรื่องกระบวนการรับเรื่องร้องเรียน และพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการ พ.ศ. 2549 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในส่วนของกระบวนการและขั้นตอนการปฎิบัติเกี่ยวกับการรับ การพิจารณา และเสนอความเห็นเรื่องร้องเรียนให้เกิดความชัดเจนและเป็นไปตามมติของ กทค.โดยเร็ว