กรุงเทพฯ--13 มี.ค.--กสทช.
หมอลี่ชี้ทางออกที่ดีที่สุดในการรองรับกรณีการสิ้นสุดสัมปทานของคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ก็คือ กสทช. ต้องเร่งจัดการประมูลคลื่นเพื่อให้เกิดบริการรายใหม่เข้าสู่ตลาด ซึ่งจะเป็นทางเลือกของผู้บริโภคต่อไป ควบคู่กับการเร่งรัดให้ผู้ประกอบการขยายขีดความสามารถการโอนย้ายค่าย รองรับผู้ใช้บริการที่ไม่ต้องการเสียสิทธิในเลขหมายเดิม ส่วนการยืดสิทธิถือครองคลื่นโดยอ้างว่าเป็นการเยียวยาผู้บริโภคนั้นทำไม่ได้ เพราะผิดกฎหมายเต็มที่และขัดต่อหลักการเปลี่ยนผ่านจากยุคสัมปทานสู่ยุคการออกใบอนุญาต อันเป็นต้นกำเนิดของ กสทช. เอง ดังนั้น กสทช. ต้องแสดงฝีมือที่จะจัดการเรื่องนี้อย่างถูกกฎหมายโดยไม่ก้าวถอยหลัง
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีที่สัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ในส่วนที่บริษัททรูมูฟและบริษัทดิจิตอลโฟนให้บริการอยู่กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 กันยายน ศกนี้ ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นเหตุการณ์สำคัญของกิจการโทรคมนาคมที่จะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในลักษณะที่บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่จะยุติลง ซึ่งจะทำให้การบริการของค่ายมือถือสองรายหายไป หรืออาจเรียกได้ว่า “ซิมดับ” คือใช้การไม่ได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องท้าทาย กสทช. โดยเฉพาะกรรมการด้านกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค. ที่จะต้องแสดงฝีมือให้ปรากฏ นั่นคือทำอย่างไรที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างเรียบร้อย เป็นธรรม และที่สำคัญคือถูกต้องตามกฎหมายและกติกาของสังคม
“เรื่องซิมดับไม่ใช่เรื่องเลวร้ายที่จะเกิดขึ้นไม่ได้ แต่ก็ยอมรับว่าจะมีผลกระทบจริง สิ่งที่สำคัญจึงอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคไม่เดือดร้อนและการเปลี่ยนผ่านเดินไปในกรอบของกฎหมายและเจตนารมณ์การปฏิรูปการถือครองทรัพยากรความถี่ ที่สังคมไทยมีฉันทามติร่วมกันมาก่อนแล้วว่าเราต้องการก้าวข้ามจากยุคสัมปทานมาสู่ยุคการออกใบอนุญาตและการกำกับดูแล หลักการนี้คือจุดกำเนิดของ กสทช. เอง และปรากฏชัดเจนทั้งในรัฐธรรมนูญและ พรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ดังนั้น กสทช. ต้องเคารพและต้องแสดงฝีมือให้สังคมไว้วางใจได้”
นายประวิทย์ หรือ “หมอลี่” ระบุว่า ในส่วนของผู้บริโภคนั้น วิธีการดูแลที่ดีต้องเริ่มต้นจากพื้นฐานคือ ทำให้ทราบและเท่าทันต่อสถานการณ์ที่ว่า เมื่อถึงกลางเดือนกันยายน บริการโทรศัพท์มือถือของบริษัททรูมูฟและบริษัทดิจิตอลโฟนจะไม่มีอีกต่อไป ซึ่งคนที่ใช้บริการของทั้งสองรายมีโจทย์ว่าจะต้องหาบริการทดแทน และถ้าหากต้องการรักษาเลขหมายที่ใช้อยู่ก็ควรต้องดำเนินการโอนย้ายค่าย หรือใช้บริการคงสิทธิเลขหมาย (Mobile Number Portability) ดังนั้นในส่วนนี้จึงเป็นภาระหน้าที่ของ กสทช. ร่วมกับผู้ให้บริการทั้งหมด ที่จะต้องทำให้การโอนย้ายค่ายสามารถรองรับหรือตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้บริการจำนวนมากได้ ซึ่งตามกฎหมายกำหนดว่า หลังจากได้รับแจ้งจากผู้ใช้บริการแล้วจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ใน 3 วัน
ทั้งนี้ เกี่ยวกับการเตรียมการเรื่องดังกล่าว กสทช. ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่วิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า DIGITAL PCN (Personal Communication Network) 1800 ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภายในและภายนอก กสทช. ซึ่งคณะอนุกรรมการก็ได้จัดทำข้อเสนอต่อ กทค. แล้ว โดยแนะนำให้เน้นเรื่องการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลผู้บริโภคแต่เนิ่นๆ และการเพิ่มประสิทธิภาพการคงสิทธิเลขหมาย เช่นเดียวกัน
พร้อมกันนั้น คณะอนุกรรมการฯ ยังได้เสนอให้ กทค. จัดหาและมอบหมายผู้รับผิดชอบในการดำเนินการสำหรับการประมูลคลื่นความถี่ ซึ่งจะต้องดำเนินการในสองส่วน ได้แก่ การจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ ซึ่งที่ประชุม กทค. เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบต่อข้อเสนอของคณะอนุกรรมการฯ แล้ว แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่า มีการสั่งการนอกรอบให้คณะอนุกรรมการฯ จัดทำแนวทางการโอนย้ายผู้ใช้บริการและแนวทางป้องกันซิมดับ โดยยังไม่ต้องคำนึงถึงประเด็นข้อกฎหมาย อันเป็นที่มาให้คณะอนุกรรมการเสนอว่า เห็นควรให้มีการขยายการให้บริการอย่างต่อเนื่องต่อไป ซึ่งอาจทำโดยบริษัท กสท จำกัด (มหาชน) หรือโดยเอกชนคู่สัมปทาน นี่จึงเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับที่ บมจ. กสท หรือ CAT เรียกร้องมาโดยตลอด และคราวนี้ยังเริ่มเปิดช่องเพิ่มไปถึงทรูมูฟด้วย
อย่างไรก็ดี กสทช. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ยืนยันว่าแนวทางดังกล่าวคือการทำผิดกฎหมายและจะไม่ส่งผลดีต่อผู้ใช้บริการอย่างแท้จริง โดยจะเป็นเพียงการยืดเวลาของเหตุการณ์ซิมดับออกไป แต่เมื่อไรที่การจัดประมูลคลื่นเสร็จสิ้นและมีการอนุญาตใช้คลื่นความถี่และการอนุญาตประกอบกิจการแก่ผู้ชนะการประมูลแล้ว การให้บริการในระบบเดิมนั้นก็ต้องยุติลงอยู่ดี เนื่องจากสิทธิถือครองและใช้คลื่นความถี่ย่อมเป็นของผู้ชนะประมูลที่ไม่อาจล่วงละเมิดได้ ดังนั้นถึงอย่างไรก็ย่อมจะเกิดช่องว่างหรือภาวะซิมดับในช่วงเวลาระหว่างที่รอผู้ชนะการประมูลเตรียมการจัดสร้างโครงข่ายและระบบต่างๆ สำหรับบริการใหม่
“ผมบอกได้เลยว่า การอ้างเรื่องป้องกันซิมดับเป็นเรื่องหลอกลวง เพราะถึงอย่างไรซิมก็ต้องดับ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง การขยายเวลาจึงไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรแก่ผู้บริโภค แต่แน่นอนว่าจะช่วยผู้ประกอบการให้หารายได้กันต่อไป ปัญหาก็คือในการขยายเวลาบริการก็เท่ากับการไปขยายเวลาการใช้คลื่นความถี่และขยายอายุการอนุญาต รวมทั้งขยายอายุสัมปทานด้วย ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องขัดกฎหมาย ขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญที่กำหนดให้กิจการโทรคมนาคมไทยต้องหลุดพ้นจากยุคสัมปทานเสียที” นายประวิทย์กล่าว
กสทช. ประวิทย์เปิดเผยด้วยว่า เกี่ยวกับประเด็นข้อกฎหมายนั้น ก่อนหน้านี้คณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กสทช. เองเคยชี้ชัดแล้วว่า เมื่อการอนุญาตหรือสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง สิทธิในการใช้งานคลื่นความถี่ก็ถือว่าสิ้นสุดลงด้วย และสิทธิในการใช้งานคลื่นความถี่ย่อมต้องกลับคืนไปยังสาธารณะ โดย กสทช. หรือ กทค. มีหน้าที่ในการเข้าไปบริหารจัดการคลื่นความถี่ ทั้งนี้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 47 บัญญัติไว้
ส่วนกรณีการขยายระยะเวลา คณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายชี้ว่า แม้ตามเงื่อนไขการอนุญาตให้ประกอบกิจการโทรคมนาคมเดิมจะกำหนดให้ กทช. สามารถพิจารณาขยายระยะเวลาการใช้งานคลื่นความถี่ได้ แต่เมื่อมีการตรา พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 แล้ว ซึ่งตามมาตรา 45 กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการใช้งานคลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรคมนาคมว่าให้กระทำได้ด้วยวิธีการประมูลเท่านั้น ประกอบกับแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ไม่ได้มีการกำหนดให้ กสทช. สามารถพิจารณาขยายระยะเวลาการใช้งานคลื่นความถี่ได้ อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงนโยบายที่จะไม่มีการพิจารณาขยายระยะเวลาการใช้งานคลื่นความถี่ ดังนั้น เมื่อระยะเวลาการใช้งานคลื่นความถี่สิ้นสุดลง จึงไม่อาจพิจารณาขยายระยะเวลาในการใช้งานคลื่นความถี่ได้
“ผมจึงไม่อยากให้อ้างผู้บริโภคแล้วกำหนดมาตรการที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ แต่อยากให้เร่งดำเนินการตามหน้าที่ในการจัดสรรคลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคมอันเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง ดังนั้น กทค. ต้องไม่ประวิงเวลาในการประมูลคลื่น 1800 อีกต่อไป แต่ต้องเร่งกระบวนการให้เสร็จสิ้นใกล้เคียงกำหนดสิ้นสุดสัมปทาน ซึ่ง ณ วันนี้เหลือประมาณครึ่งปีพอดี ถ้าเร่งทำก็ทำให้ทันได้ ด้วยวิธีนี้ซิมก็จะดับเพียงไม่นาน แล้วก็มีบริการใหม่บนคลื่นเดิมมาเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคต่อไป” กสทช. ประวิทย์กล่าวทิ้งท้าย