กรุงเทพฯ--13 มี.ค.--กรมป่าไม้
วัสดุเหลือใช้จากเกษตรกรและโรงงานอุตสาหกรรมการเกษตร วัชพืช ขยะมูลฝอย มาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าลดมลภาวะ ผลงานวิจัยของสำนักวิจัยการจัดการป่าไม้และผลิตผลป่าไม้ กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
การใช้เชื้อเพลิงพลังงานเพื่อการหุงต้มในครัวเรือน โดยเฉพาะในชนบทที่ยังนิยมใช้ฟืนแทนถ่านในการหุงต้ม คิดเป็น 16.7% เทียบกับการใช้พลังงานอื่นๆ ประกอบกับพื้นที่ป่าไม้ของประเทศ ซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบสำหรับฟืนและถ่านลดลงเหลือเพียง 25.6 % นั่นหมายถึงจำนวนป่าไม้ที่ถูกทำลายนับวันยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับราคาก๊าซหุงต้ม ที่ใช้ในครัวเรือนขนาด 15 กิโลกรัมอยู่ที่ประมาณ 280-290 บาท (ราคา ณ วันที่ 18/02/56) และมีการควบคุมการปรับราคาขึ้นเพื่อไม่ให้เดือดร้อนกับผู้บริโภคมากนัก และถึงแม้ว่า ก๊าซ LPG ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญถูกปล่อยให้ลอยตัวตามราคาตลาดซึ่งราคาก็อาจจะลดลงกว่า เดิม แต่สิ่งสำคัญกว่าที่เราควรคำนึงถึงก็คือ ก๊าซเหล่านี้ต้องใช้เงินอุดหนุนมากมายในการนำเข้ามา จำหน่ายเพราะที่ไทยเราผลิตเองได้มีไม่เพียงพอและสักวันหนึ่งก๊าซธรรมชาติ เหล่านี้ก็ต้องหมดไปถึงเวลาแล้วที่เราจะตระหนักถึงการนำพลังงานทดแทนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นและเร่งด่วน
นายประลอง ดำรงไทย นักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้ กล่าวว่า โครงการวิจัยเพื่อปรับปรุงส่งเสริมการใช้แท่งเชื้อเพลิงเขียวเป็นโครงการที่กรมป่าไม้ได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษาวิจัยจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ โดยมีนายวินัย ปัญญาธัญะ นักวิชาการป่าไม้ เป็นผู้อำนวยการโครงการ และมีผมเป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อการดำเนินการศึกษา โดยได้ทำการศึกษาจากการนำวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร เช่น ชายอ้อยเน่าเปื่อย วัชพืช หรือใบไม้ มาอัดเป็นแท่งมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 7 เซนติเมตร โดยกระบวนการอัดเย็น จากเครื่องอัดแท่นเชื้อเพลิงเขียวแบบสกูรสแตนเลสขับด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ขนาด 2 แรงม้า แล้วนำไปตากให้เเห้ง จะได้แท่งเชื้อเพลิงที่สามารถใช้แทนฟืนและถ่านได้เป็นอย่างดี แท่งเชื้อเพลิงเขียวได้จากการอัดแท่งด้วยวิธีอัดเย็น (โดยไม่ต้องใช้ความร้อน) จากวัสดุชีวมวล, เศษวัชพืชต่างๆ หรือเศษวัสดุที่เหลือจากภาคอุตสาหกรรม โดยอาศัยความเหนียวของยางในวัสดุเหล่านั้น เป็นตัวเชื่อมประสานและมีความชื้นพอเหมาะ เมื่ออัดออกมาเป็นแท่งแล้วจะเป็นแท่งเชื้อเพลิงมีคุณสมบัติเหมือนฟืนและสามารถใช้ประโยชน์แทนฟืน ,ถ่าน, หรือแแก๊สหุงต้มได้เป็นอย่างดี การอัดโดยใช้เครื่องอัดแบบเกลียวหรือสกูร ซึ่งสามารถจะทำได้ทั้งกับวัสดุสดและแห้ง และสามารถอัดแท่งได้กับวัสดุทุกชนิดต่างๆอย่างกว้างขวาง ในโครงการนี้ทดลองใช้กับชานอ้อยเน่าเปื่อย เนื่องจากหาได้ง่ายสะดวก และเสียค่าใช้จ่ายต่ำ ซึ่งประเทศไทยมีโรงงานผลิตน้ำตาลมาก โครงการนี้จึงเป็นเทคโนโลยีอัดแท่งแบบง่ายๆสะดวก ไม่ยุ่งยากให้กับชาวบ้านในท้องที่ ถือเป็นความสมดุล และเหมาะสำหรับชาวบ้านที่จะผลิตแท่งเชื้อเพลิงเพื่อใช้ในการหุงต้มและกิจกรรมต่างๆในครัวเรือน และอุตสาหกรรมขนาดเล็ก เป็นต้น สามารถสร้างอาชีพให้คนในชุมชน การต่อยอดในเชิงพาณิชย์ รวมถึงลดการบุกรุกทำลายป่า ไม่น้อยกว่า 50-80 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และเป็นการอนุรักษ์ป่าไม้ด้วย
เมื่อพิจารณาในแง่เศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันกับคุณสมบัติของแท่งเชื้อเพลิงเขียวแล้ว ประชาชนในชนบทหรือภาคอุตสาหกรรมขนาดเล็กสามารถนำแท่งเชื้อเพลิงเขียวมาใช้เป็นพลังงานทดแทนได้ อีกทั้งยังส่งผลดีหลายๆข้อ และสอดคล้องกับนโยบายด้านการประหยัดพลังงานของรัฐบาล