กรมบัญชีกลางยืนยันให้เบิกค่ายานอกบัญชียาหลักแห่งชาติเมื่อแพทย์ระบุว่าจำเป็นต้องใช้

ข่าวทั่วไป Wednesday March 13, 2013 17:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 มี.ค.--กรมบัญชีกลาง กรมบัญชีกลางยืนยัน แนวทางปฏิบัติการเบิกค่ายานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ไม่ได้สั่งห้ามแพทย์จ่ายยา หรือ สั่งห้ามเบิกค่ายานอกบัญชียาหลักแต่อย่างใด ถ้าจำเป็นต้องใช้ด้วยเหตุผลทางการแพทย์ ก็ใช้ได้ นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรณีที่ปรากฏเป็นข่าวว่า “มีข้าราชการร้องเรียน ว่ากรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง มีหนังสือเวียนให้แพทย์ผู้ตรวจรักษาจ่ายยาได้เฉพาะยาในบัญชียาหลักแห่งชาติเท่านั้น ไม่สามารถจ่ายยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติได้ ไม่เช่นนั้นกรมบัญชีกลางจะเรียกเก็บเงินจากโรงพยาบาล” นั้น เรื่องดังกล่าวกรมบัญชีกลางได้เสนอกระทรวงการคลังให้เวียนแจ้งหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการเบิกค่ายานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ตามหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค 0422.2/ว 111 เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2555 สถานพยาบาลและส่วนราชการยังคงเบิกค่ายานอกบัญชียาหลักแห่งชาติได้ ไม่ได้สั่งห้ามเบิกแต่อย่างใด ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้ทำการรักษาต้องเป็นผู้วินิจฉัยและออกใบรับรองในการสั่งใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อประกอบการเบิกค่ายา นอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ตามเงื่อนไขต่าง ๆ ได้โดยง่าย คือ ใส่ตัวอักษร A หรือ B หรือ C หรือ D หรือ E หรือ F ต่อท้ายการสั่งยาชนิดนั้น ๆ ซึ่งเป็นการปฏิบัติโดยปกติของแพทย์อยู่แล้วว่า การจ่ายยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติแต่ละชนิดด้วยเหตุผลใด ก็จะสามารถเบิกค่ายานอกบัญชียาหลักแห่งชาติชนิดนั้น ๆ ได้ ซึ่งความหมายของ A — F 8nv A : เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ หรืออาการแพ้ยา B : รักษาโดยใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติตามมาตรฐานแล้วไม่บรรลุผลและมีหลักฐานเชิงประจักษ์เชื่อได้ว่าใช้ ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติแล้วช่วยให้เป้าหมายการรักษาดีกว่ายาเดิม C: ไม่มีกลุ่มยาในบัญชียาหลักแห่งชาติให้ใช้ แต่ผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องใช้ยาตามข้อบ่งใช้ของยาที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และแพทย์พิจารณาแล้วมีหลักฐานสนับสนุนว่าใช้ยานี้แล้วว่า มีประสิทธิผล ปลอดภัย D: ผู้ป่วยมีภาวะหรือโรคที่ห้ามใช้ยาในบัญชียาหลักอย่างสมบูรณ์ หรือมีข้อห้ามในการใช้ในบัญชียาหลักร่วมกับ ยาอื่น E ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติมีราคาแพงกว่า (หมายถึง ค่าใช้จ่ายต่อคอร์สของการรักษา) F ยาที่ผู้ป่วยร้องขอจากแพทย์ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาในครั้งนั้น โดยแพทย์ผู้รักษาต้องระบุตามเงื่อนไข รับรองการสั่งยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติครั้งนั้นว่าเป็นไปตามการวินิจฉัยเข้าลักษณะใด เช่น A, B, C, D หรือ E ข้อหนึ่งข้อใดต่อท้ายการสั่งยานั้น ซึ่งสามารถเบิกค่ารักษาได้ ส่วนกรณีข้อ F ผู้ป่วยต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเอง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ