บอร์ดบีโอไอย้ำปรับยุทธศาสตร์ใหม่เน้นรอบคอบ หลังเดินหน้ารับฟังความเห็นกว่า 4,000 คนทุกภูมิภาค

ข่าวทั่วไป Thursday March 14, 2013 08:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 มี.ค.--บีโอไอ บอร์ด แนะบีโอไอ นำความคิดเห็นภาคเอกชนจากการเปิดเวทีสัมมนาทั้ง 5 ครั้งตลอดเดือน ก.พ.56 ที่มีผู้ร่วมงานกว่า 4,000 คน ใช้ประกอบการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ใหม่อย่างรอบคอบ ทั้งด้านรูปแบบ การให้สิทธิประโยชน์ การส่งเสริมเอสเอ็มอี รวมถึงระยะเวลาบังคับใช้ ด้านเลขาธิการบีโอไอ ย้ำให้ความสำคัญทุกข้อคิดเห็นก่อนรวบรวมข้อสรุปทั้งหมดจัดทำร่างยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมกับทุกฝ่าย นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ว่า บีโอไอได้นำเสนอต่อที่ประชุมให้ได้รับทราบถึงแนวทางการปรับร่างยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ของบีโอไอ รวมถึงข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของภาคเอกชนที่ได้รวบรวมจากการจัดงานสัมมนาที่จัดขึ้นทั่วทุกภูมิภาครวม 5 ครั้งตลอดเดือน กุมภาพันธ์ 2556 ซึ่ง มีตัวแทนจากองค์กรต่างๆ รวมถึงภาคเอกชนเข้าร่วมงานสัมมนาดังกล่าวรวมกว่า 4,000 คน ทั้งนี้ ในเบื้องต้นพบว่า ภาคเอกชนส่วนใหญ่ยังมีความกังวลต่อร่างยุทธศาสตร์ใหม่ ทั้งเรื่องรูปแบบการให้สิทธิประโยชน์ ประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริม และระยะเวลาที่เริ่มมีผลใช้บังคับ ดังนั้นที่ประชุมจึงได้เน้นย้ำให้บีโอไอให้ความสำคัญกับการพิจารณาการปรับนโยบายต่างๆ อย่างรอบคอบ และมีความเหมาะสมก่อนที่จะนำเสนอความคืบหน้าต่อที่ประชุมบอร์ดในคราวต่อไป ด้านนายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ กล่าวว่า นอกจากการนำเสนอหลักการเบื้องต้นของแนวทางการปรับยุทธศาสตร์ใหม่ต่อที่ประชุมแล้ว ยังเป็น โอกาสที่ดีในการรับฟังความคิดเห็นของที่ประชุมต่อการดำเนินการดังกล่าว เพื่อใช้เป็นข้อมูล ร่วมกับข้อคิดเห็นที่ได้จากการเปิดเวทีสัมมนารับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีประเด็นที่ยังเป็นข้อกังวลในด้านต่างๆ อาทิ ความชัดเจนของการส่งเสริมตามเขตพื้นที่ (Zones) การกำหนดสิทธิประโยชน์เพิ่มสำหรับจูงใจการลงทุนในบางประเภทกิจการ การกำหนดการส่งเสริมกิจการเอสเอ็มอีไทย เป็นต้น โดยหลังจากนี้บีโอไอ จะได้รวบรวมข้อมูลที่ได้รับฟัง และข้อเสนอแนะทั้งหมด ใช้ประกอบการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ที่มีความเหมาะสมต่อไป สำหรับร่างเบื้องต้นของยุทธศาสตร์ใหม่ บีโอไอมีแนวทางที่จะปรับเปลี่ยนจากเดิมที่ให้ส่งเสริมเกือบทุกกิจการมาเป็นส่งเสริมแบบมีเป้าหมายชัดเจน เน้น 10 กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ 1. กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานและ โลจิสติกส์ 2. กลุ่มอุตสาหกรรมพื้นฐาน 3. กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ 4. กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนและบริการด้านสิ่งแวดล้อม 5. กลุ่มธุรกิจบริการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม 6. กลุ่มเทคโนโลยีพื้นฐานขั้นสูง 7. อุตสาหกรรมอาหารและแปรรูปสินค้าเกษตร 8. อุตสาหกรรม Hospitality & Wellness 9. อุตสาหกรรมยานยนต์และอุปกรณ์ขนส่งอื่นๆ 10. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า นอกจากนี้จะมีการปรับเปลี่ยนการส่งเสริมตามเขตพื้นที่ (Zones) เป็นการส่งเสริมให้เกิดคลัสเตอร์อุตสาหกรรมใหม่ในภูมิภาค (New Regional Clusters) สำหรับการให้สิทธิประโยชน์แก่โครงการที่ได้รับส่งเสริมภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. สิทธิประโยชน์พื้นฐาน (Basic Incentives) และ 2.สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ (Merit-based Incentives) ซึ่งเป็นส่วนที่บีโอไอต้องการเน้นส่งเสริมให้โครงการลงทุนได้ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ โดยให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อจูงใจ อาทิ การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา หรือการลงทุนที่ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม หรือไปลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม หรือไปลงทุนในพื้นที่ห่างไกล เช่น เขต 3 และเขต 3 พิเศษเดิม ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น 1 — 3 ปี เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ