สสวท. เผยผลศึกษา PISA ชี้ชัดเศรษฐกิจและสังคมกำหนดคุณภาพการศึกษา

ข่าวเทคโนโลยี Thursday December 16, 2004 14:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ธ.ค.--สสวท.
นายพิศาล สร้อยธุหร่ำ ผู้อำนวยการส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยว่าจากที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมในโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ OECD / PISA (Progreamme for International Student Assessment) กับกลุ่มประเทศสมาชิก OECD (Organisation fot Economic Cooperation and Development) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจมั่งคง เพื่อศึกษาถึงสมรรถนะในด้านต่างๆ ของนักเรียน อันจะชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของอำนาจการแข่งขันของประเทศ ซึ่งได้เก็บข้อมูลไปครั้งหนึ่งในปี ค.ศ. 2000 และได้เคยรายงานผลไปแล้วนั้น ในปี ค.ศ.2003 ได้มีการเก็บข้อมูลอีกครั้งหนึ่งจากนักเรียนอายุ 15 ปี จำนวน 275,000 คน ใน 41 ประเทศ ซึ่งมีทั้งประเทศมาชิก OECD และประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก OECD (ประเทศไทยไม่ได้เป็นสมาชิก OECD) จุดเน้นหลักของการประเมิน ครั้งนี้คือ
- การรู้คณิตสาสตร์ ซึ่งมุ่งศึกษาว่านักเรียนสามารถพัฒนาสมรรถนะทางคณิตศาสตร์และสามารถใช้ตัวแบบทางคณิตศาสตร์ในภารกิจของชีวิตจริงได้ดีเพียงใด
- สามารถแปลความ ตีความคณิตศาสตร์ให้ใช้ได้กับชีวิตจริงในโลกการทำงานและการศึกษาต่อระดับสูง และสามารถสื่อสารผลของคณิตศาสตร์ได้ดีเพียงใด
- ศึกษาสมรรถนะของนักเรียนด้านการแก้ปัญหา ด้านการอ่าน และด้านวิทยาศาสตร์
รวมทั้งยังศึกษาถึงตัวแปรด้านโรงเรียน วิธีการเรียน และเจตคติของนักเรียนด้วย
ผลปรากฏว่าประเทศที่นักเรียนมีสมรรถนะอยู่ในกลุ่มที่มีคะแนนสูงสุดนั้น ในเอเชียได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง ส่วนในยุโรปได้แก่ฟินแลนด์และเนเธอร์แลนด์ สำหรับประเทศที่นักเรียนแสดงสมรรถนะอยู่ในกลุ่มที่มีคะแนนต่ำ ได้แก่ อินโดนีเซีย ตูนิเซีย บราซิล เม็กซิโก และรวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งถึงแม้ว่าคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าประเทศที่กล่าวมาแต่ก็จัดอยู่ในระดับต่ำมาก โดยต่ำกว่าประเทศอื่นๆ อีก 36 ประเทศที่เข้าร่วมโครงการ เนื่องจากในการประเมินผลบางเรื่องมีการเก็บข้อมูลทั้งในปี ค.ศ.2000 และ ค.ศ.2003 ทำให้สามารถวิเคราะห์แนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งในประเด็นนี้พบว่าในบางประเทศนักเรียนมีคะแนนเพิ่มขึ้น เช่น เบลเยี่ยม บราซิล
โปแลนด์ บางประเทศมีคะแนนลดลง สำหรับประเทศไทยโดยเฉลี่ยนักเรียนมีคะแนนต่ำลง ซึ่งเมื่อพิจารณาลงไปในระดับย่อยแล้วพบว่านักเรียนที่มีคะแนนต่ำลงเป็นนักเรียนกลุ่มต่ำด้วย แสดงว่าช่องว่างกลุ่มของนักเรียนห่างออกไป โดยนักเรียนกลุ่มสูงมิได้พัฒนาเพิ่มขึ้น หากแต่เป็นเพราะนักเรียนกลุ่มต่ำได้คะแนนลดลง
ภาพรวมจากข้อมูลชี้ค่อนข้างชัดเจนว่าเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดคุณภาพของการศึกษา ประเทศที่ร่ำรวยกว่า ครูมีค่าจ้างสูงกว่า แสดงแนวโน้มว่านักเรียนมีผลการเรียนรู้ดีกว่าประเทศยากจน แต่บางประเทศก็ไม่ได้เป็นตามแนวโน้มที่เสนอไป เช่น เกาหลีซึ่งมีรายได้ของชาติต่ำกว่าประเทศ OECD แต่นักเรียนจากเกาหลีสามารถทำคะแนนอยู่ในกลุ่มประเทศคะแนนสูงสุดได้
อย่างไรก็ตามในประเทศที่มีค่าใช้จ่ายในการศึกษาต่ำ ครูมีค่าจ้างต่ำ พบว่าไม่มีประเทศใดแสดงแนวโน้มที่มีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD เช่น เม็กซิโก บราซิล อุรุวัย เซอร์เบีย อินโดนีเซีย ตรุกี รวมทั้งประเทศไทย
ปัจจัยพื้นฐานที่กำหนดคุณภาพการศึกษา คือ ปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม ในทุกประเทศพบว่านักเรียนที่พ่อแม่มีสถานะทางการงานดี ทีค่าตอบแทนสูง การศึกษาดี และมีสมบัติทางวัฒนธรรมในบ้านสูงกว่า โดยเฉลี่ยจะมีผลการประเมินสูงกว่านักเรียนที่ขาดแคลน ปัจจัยด้านทรัพยากรโรงเรียน ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดความแตกต่างประเทศที่ความแตกต่างระหว่างโรงเรียนมีค่าน้อย (ซึ่งเป็นการประกันได้ว่าพ่อแม่สามารถส่งลูกเข้าโรงเรียนใดก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องเลือกมากนัก) ได้แก่ แคนาดา เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ ส่วนประเทศที่ความแตกต่างระหว่างโรงเรียนมีค่าสูง ได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ ตุรกี และประเทศไทย ซึ่งหมายถึงความยากลำบากของพ่อแม่ในการหาโรงเรียนให้ลูก อันเกี่ยวเนื่องไปถึงความไม่เท่าเทียมกันในทางเศรษฐกิจและสังคม
ด้านความแตกต่างระหว่างเพศผลการศึกษาพบเรื่องที่น่าสนใจคือ
- ด้านการอ่าน นักเรียนหญิงทุกประเทศแสดงสมรรถนะสูงกว่านักเรียนชาย
- ด้านคณิตศาสตร์ เกือบทุกประเทศนักเรียนส่วนใหญ่ในกลุ่มคะแนนสูงจะมีจำนวนนักเรียนชายมากกว่านักเรียนหญิง แต่สำหรับนักเรียนกลุ่มคะแนนต่ำ จะมีจำนวนนักเรียนชายกับนักเรียนหญิงใกล้เคียงกัน ยกเว้นประเทศไอซ์แลนด์กับประเทศไทย ที่นักเรียนหญิงมีคะแนนสูงกว่านักเรียนชาย
นอกจากนี้ความแตกต่างระหว่างเพศในด้านการแก้ปัญหา ผลการศึกษายังโน้มเอียงไปในทิศทางที่นักเรียนชายมีสมรรถนะการแก้ปัญหาสูงกว่านักเรียนหญิง ยกเว้น 2 ประเทศคือ ไอซ์แลนด์และประเทศไทย ที่นักเรียนหญิงมีสมรรถนะสูงกว่านักเรียนชาย
สาระการประเมินผลครั้งนี้ชี้ให้เห็นถึงความรู้และทักษะที่แตกต่างของนักเรียนจากประเทศต่างๆ ทั้งประเทศที่มีเศรษฐกิจดีและประเทศที่ยากจน บางประเทศมีนักเรียนที่มีความรู้และทักษะที่สามารถแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ระดับสูง ซึ่งเป็นตัวชี้บอกถึงอำนาจการแข่งขันของชาติในอนาคต บางประเทศก็มีนักเรียนที่มีสมรรถนะที่จะใช้คณิตศาสตร์และแก้ปัญหาชีวิตจริงในระดับต่ำมาก ซึ่งในจำนวนนั้นมีนักเรียนของประเทศไทยอยู่ด้วย
แม้จะได้เป็นที่คาดคะเนอยู่แล้วว่าผลของการศึกษาวิจัยจะต้องออกมาในทำนองนี้ เนื่องจากเป็นที่ชัดเจนว่าโดยภาพรวมแล้วสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยยังอยู่ห่างไกลกับประเทศสมาชิก OECD อันเป็นกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วในยุโรปมาก แต่การที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมในโครงการศึกษาวิจัยก็ทำให้ได้ทราบถึงผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพของระบบการศึกษาของประเทศเหล่านี้ว่า เขาได้เตรียมพร้อมเยาวชนสำหรับอนาคตให้มี
ศักยภาพในการมีส่วนร่วมในสังคมโลกและมีความสามารถในการแข่งขันกับประชาคมโลกเพียงไร อีกทั้งเมี่อเปรียบเทียบกับบรรดาประเทศเหล่านี้แล้วประเทศเราอยู่ ณ ตำแหน่งใด มีศักยภาพต่างๆ ดังกล่าวเพียงไร--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ