ผลสำเร็จของการเจรจากับสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเพื่อขอชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการชะลอการลดภาษีจักรยานยนต์ และส่วนประกอบยานยนต์

ข่าวทั่วไป Friday December 17, 2004 12:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ธ.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
ผลสำเร็จของการเจรจากับสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเพื่อขอชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการชะลอการลดภาษีจักรยานยนต์ และส่วนประกอบยานยนต์
นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ได้แต่งตั้งคณะเจรจาขอชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการชะลอการลดภาษีสินค้าจักรยานยนต์และส่วนประกอบยานยนต์ของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจ การคลังเป็นประธาน และประกอบด้วยผู้แทนจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมศุลกากร และกระทรวงการต่างประเทศ คณะเจรจาฯ ได้มีการเจรจากับเวียดนาม 3 ครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 8-9 ธันวาคม 2547 ณ กรุงฮานอย สำหรับการเจรจาครั้งแรกมีขึ้นเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2547 ณ กรุงฮานอย และครั้งที่ 2 มีขึ้นเมื่อวันที่ 23-24 กันยายน 2547 ณ กรุงเทพฯ
ทั้งนี้ การเจรจาดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากการที่เวียดนามขอชะลอการลดภาษีจักรยานยนต์และส่วนประกอบยานยนต์จำนวน 14 รายการ ภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน และในฐานะที่ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ในสินค้าจำนวน 8 รายการ จึงมีสิทธิในการขอเจรจาเพื่อชดเชยความเสียหายจากเวียดนาม ซึ่งคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง ในฐานะ National AFTA Unit เป็นผู้เจรจา
ผลจากการเจรจาฯ ในครั้งนี้ ฝ่ายเวียดนามตกลงที่จะชดเชยความเสียหายให้กับฝ่ายไทย โดยการเร่งลดภาษีของสินค้าจำนวน 36 รายการ ประกอบด้วยกลุ่มสินค้าสำคัญ ดังนี้
1.อาหารสัตว์ จากอัตราปกติร้อยละ 5 ลดลงเหลือร้อยละ 0
2.ปูนซิเมนต์ จากอัตราปกติร้อยละ 10 ลดลงเหลือร้อยละ 5
3.เครื่องปรับอากาศ จากอัตราปกติร้อยละ 5-20 ลดลงเหลือร้อยละ 0-10
4.ตู้เย็น จากอัตราปกติร้อยละ 20 ลดลงเหลือร้อยละ 10
5.เครื่องซักผ้า จากอัตราปกติร้อยละ 20 ลดลงเหลือร้อยละ 10
ทั้งนี้ การลดภาษีจะมีระยะเวลา 3 ปี โดยคาดว่าจะเริ่มมีผลในช่วงปลายไตรมาสที่ 1 ปี 2548 เป็นต้นไป สำหรับผลประโยชน์ที่คาดว่าประเทศไทยจะได้รับ ได้แก่ ประโยชน์ทางตรงในรูปของมูลค่าภาษีนำเข้าที่เสียน้อยลงประมาณ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งใกล้เคียงกับมูลค่าความเสียหายจากการที่เวียดนามขอชะลอการลดภาษีฯ และประโยชน์ทางอ้อมในรูปของส่วนแบ่งตลาดของไทยที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นการลดภาษีให้ประเทศไทยประเทศเดียว ในขณะที่เศรษฐกิจเวียดนามกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันเวียดนามก็จะได้รับประโยชน์จากการลดภาษีด้วย เพราะจะทำให้อุตสาหกรรมและผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าไทยในราคาที่ถูกลง
ความสำเร็จในการเจรจาฯ ครั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จร่วมกัน กล่าวคือ ความสำเร็จของอาเซียนในการยุติข้อขัดแย้งทางการค้าด้วยวิธีการฉันท์มิตรของประเทศไทยและสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เนื่องจากการที่เวียดนามเร่งลดภาษีสินค้าเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าพวกซีเมนต์ จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของเวียดนาม ซึ่งขณะนี้มีอุปสงค์ต่อสินค้าดังกล่าวสูงมาก ในขณะเดียวกันประเทศไทยก็จะได้ประโยชน์จากการสร้างความเข้มแข็งของตลาดส่งออกไทยในประเทศเวียดนาม--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ