กรุงเทพฯ--18 มี.ค.--ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์
ก.วิทย์ฯ ทุ่ม 100 ล้าน พัฒนาต้นแบบเครื่องมือแพทย์เทคโนโลยีพลาสมาเย็น เน้นเสริมความงาม-รักษาแผลเรื้อรัง ชี้ประสิทธิภาพสูงแต่ราคาถูกกว่าวิธีเดิม
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พัฒนาต้นแบบเครื่องมือแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีพลาสมาเย็น โดยใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท มั่นใจเสร็จใน 2 ปี ระบุเป็นเทคโนโลยีใหม่ ประสิทธิภาพสูงแต่ราคาถูกกว่า
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) ในฐานะเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และชุมชน โดยเน้นการพัฒนากลไกการถ่ายทอดงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์และนโยบายรัฐบาลในด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม ดังนั้นความร่วมมือในโครงการพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาเย็นครั้งนี้ จึงถือเป็นความก้าวหน้าด้านการแพทย์และการรักษาพยาบาล เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีประสิทธิภาพและค่าใช้จ่ายในการรักษาถูกกว่าเดิม โครงการนี้ใช้งบประมาณในการพัฒนาเพื่อให้ได้ต้นแบบเครื่องมือแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีพลาสมา ทั้งสิ้น 100 ล้านบาท โดยจะแล้วเสร็จในปี 2558
นายนเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการ TCELS กล่าวว่า เทคโนโลยีพลาสมาเย็นในการแพทย์สามารถนำมาเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการรักษาบาดแผลเรื้อรัง งานทันตกรรมในช่องปาก การรักษาผิวพรรณเสริมความงามรวมถึงการฆ่าเชื้อโรคในเครื่องมือแพทย์ต่าง ๆ ด้วย ทั้งนี้เทคโนโลยีพลาสมาเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ง่าย สะดวก บำรุงรักษาง่าย ค่าใช้จ่ายประหยัดกว่าวิธีการที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เหมาะสำหรับการนำไปใช้ในคลินิกและสถานพยาบาลต่าง ๆ TCELS เห็นว่าเทคโนโลยีดังกล่าวมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์หรือรองรับงานบริการ เพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้กับประเทศในการส่งออกและทดแทนการนำเข้าในอนาคต
ติดต่อ:
www.tcels.or.th, 02-6445499