กรุงเทพฯ--18 มี.ค.--เดอะบิ๊กพอตเตอร์ คอมมิวนิเคชั่น
นมไทย-เดนมาร์ค พร้อมรุกใต้ สั่งโรงงานผลิตนมไทย-เดนมาร์ค สำนักงาน อ.ส.ค. ปราณบุรี บุกต่อเนื่องหลังยอดสั่งซื้อโมเดิร์นเทรดไตรมาสแรกแตะ 100 ล้านบาท มั่นใจผนึกพันธมิตรสหกรณ์โคนมในพื้นที่ลุยเข้ามาเลย์-สิงโปร์ เหตุตลาดเป้าหมายต้องนำเข้านม 100% เสริมด้วยระบบตรวจสอบย้อนกลับพัฒนาคุณภาพนมต่อเนื่อง พร้อมเป็น “ไทยเฟรชมิลค์”
นายนพดล ตันวิเชียร รองผู้อำนวยการ ทำการแทนผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนม หรือ อ.ส.ค. ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายนมไทย-เดนมาร์ค เปิดเผยว่า อ.ส.ค.ดูแลสมาชิกเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมกว่า 5,000 ครัวเรือน ทั่วประเทศสามารถผลิตนมเชิงพาณิชย์ จากนมโคสดแท้ 100% จำนวนกว่า 145,000 ตัน/ปี ผ่านโรงงานนม อ.ส.ค. 5 แห่ง คือ สำนักงาน อ.ส.ค. ภาคกลาง อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี สำนักงาน อ.ส.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อ.ท่าพระ จ.ขอนแก่น สำนักงาน อ.ส.ค. ภาคเหนือตอนล่าง อ. ศรีนคร จ.สุโขทัย สำนักงานภาคเหนือตอนบน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และ สำนักงาน อ.ส.ค. ภาคใต้ อ. ปราณบุรี จ. ประจวบคีรีขันธ์
ความรับผิดชอบของแต่ละภาคนั้นนอกจากจะต้องทำตลาดและกระจายสินค้าในภูมิภาคของตนแล้วยังต้องรับภารกิจในการขยายตลาดสู่ภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย โดยภาคกลาง รับผิดชอบ ภาคกลาง ,อีสานตอนล่าง และสินค้าที่ต้องขนส่งสินค้าออกต่างประเทศทางเรือ ภาคเหนือรับผิดชอบภาคเหนือ และตลาดต่างประเทศ ได้แก่ตพม่าไปจนถึงจีนตอนใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือรับผิดชอบภาคอีสานตอนบน และตลาดต่างประเทศ ได้แก่ สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม สำหรับภาคใต้ โรงงานปราณบุรีนั้น นอกจากจะรับผิดชอบภาคใต้ และประเทศมาเลเซียแล้ว อ.ส.ค.ได้วางไว้สำหรับผลิตเพื่อจำหน่ายผ่านโมเดิร์นเทรดทั่วประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยเปรียบเทียบกับไตรมาสแรกของปีที่ผ่านมา ยอดขายอยู่ที่ 90 ล้านบาท ในขณะที่ปีนี้ยังไม่จบไตรมาส ยอดขายเกิน 100 ล้านบาทแล้ว
โดยสัดส่วนความเติบโตของโมเดิร์นเทรดปัจจุบัน สัดส่วนเทียบจากปี 50 มีมูลค่าเพียง 1.2 ล้านล้านบาท แต่ปี 54 เติบโตเป็น 1.4 ล้านล้านบาท และในปีที่ผ่านมาเติบโตขึ้นอย่างน้อย 6% สอดคล้องกับสภาพความเติบโตโดยรวมของภูมิภาคอาเซียน ที่ระบุว่า ฟิลิปปินส์มีอัตราเติบโตสูงสุดถึง 38.43% หรือเวียดนาม ที่เติบโต 11.89% ส่วนอินโดนีเซีย เติบโต 11.38% ขณะที่การขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกสูงสุดถึงร้อยละ 38.43 ในขณะที่เวียดนามและอินโดนีเซียมีอัตราการขยายตัวใกล้เคียงกันอยู่ที่มาเลเซียเติบโตน้อยที่สุดที่ 3.75% (ข้อมูลจาก ม.หอการค้าให้สัมภาษณ์เดลินิวส์ออนไลน์ วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ 2556)
“สำนักงาน อ.ส.ค.ปราณบุรี จึงเป็นภาคเดียวที่เน้นการทำตลาดผ่านโมเดิร์นเทรดสัดส่วน 80:20 เมื่อเทียบกับช่องทางตัวแทนจำหน่าย โดยเรามีวางจำหน่ายในเซเว่นอีเลฟเว่นตั้งแต่ปี 2545 และช่องทางโมเดิร์นเทรดทำให้นมไทย-เดนมาร์ค เข้าถึงลูกค้าได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น โดยดูจากตัวเลขความเติบโตจากยอดสั่งของโมเดิร์นเทรดแล้ว อ.ส.ค.ได้จัดสรรงบประมาณในการปรับปรุงเครื่องจักร โดยร่วมกับพาร์ทเนอร์ เพื่อเสริมประสิทธิภาพเครื่องจักรเดิม ลดความสูญเสียในกระบวนการผลิตมากขึ้น รวมถึงเสริมเครื่องจักรใหม่ในบางส่วนเข้ามา จากเดิมที่โรงงาน ปราณบุรีผลิตได้ 100 ตันต่อวัน ตอนนี้ขยายเป็น 130 ตันต่อวัน และจะพัฒนาต่อเนื่องให้ได้ 150 ตันต่อวันในเดือน มิ.ย.56 นี้”
ในขณะเดียวกัน อ.ส.ค.ยังได้ตั้งงบประมาณสำหรับการพัฒนา ห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ สำหรับโรงงานทั้ง 5 แห่ง แห่งละประมาณ 6 ล้านบาท เพื่อให้มีระบบตรวจสอบย้อนกลับไปถึงฟาร์มเกษตรกรได้ว่านมดิบที่ได้รับมาจากฟาร์มใดมีคุณภาพดี คุณภาพต่ำสามารถที่จะพัฒนาให้ได้คุณภาพองค์ประกอบของน้ำนมให้ดียิ่งขึ้นได้อย่างไร ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการส่งมอบ และจะสามารถใช้ได้เต็มกระบวนการราวเดือนเมษายนนี้ เมื่อระบบตรวจสอบย้อนกลับทำได้ก็จะสอดรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 ที่เกษตรกร และอ.ส.ค.จะมีความพร้อมในระดับสากลยิ่งขึ้น
“สำหรับยุทธศาสตร์อาเซียนของ ภาคใต้นั้น เรามุ่งไปที่มาเลเซียและสิงคโปร์ที่มีขนาดการบริโภคสองประเทศประมาณ 30 ล้านคน ทั้งสองประเทศนี้ไม่มีอุตสาหกรรมนม ต้องพึ่งการนำเข้าทั้งหมดที่ส่วนใหญ่เป็นนมผง ซึ่งไทยเราเมื่อเทียบกันในภูมิภาคนี้แล้วสินค้าบริโภคมีคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ เพราะเราเองส่งออกด้านอาหารอยู่แล้ว และการขนส่งไปยังประเทศเหล่านี้ไม่ได้ลำบากเลย โดยส่วนหนึ่งเราได้เข้าไปส่งเสริมกลุ่มสหกรณ์โคนมในพื้นที่ภาคใต้ให้เข้มแข็งและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ อ.ส.ค. ตรงนี้เชื่อว่าจะสามารถสร้างความแข็งแกร่งให้กับตลาดในภาคใต้ในที่สุด” นายนพดลกล่าว
ปัจจุบันโรงงานปราณบุรีรับน้ำนมดิบจากเกษตรกรอยู่ที่ 106 ตัน/วัน สามารถผลิตนม UHT ได้ 3,000 ตัน/เดือน ในขณะที่ยอดคำสั่งซื้อมี ถึง 3,200 ตัน/เดือน นั่นจึงเป็นเหตุผลให้ อ.ส.ค. ต้องเร่งเดินหน้าปรับปรุงเครื่องจักร เพื่อผลิตให้ทันกับความต้องการและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
โดยโรงงานผลิตนมปราณบุรียังได้พัฒนาระบบการผลิตต่อเนื่องจนได้เป็นที่ไว้วางใจจากคู่ค้า และในปีที่ผ่านมายังได้รับรางวัล Standard for Corporate Social Responsibility(CSR-DIW Award) ภายใต้โครงการพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างมีส่วนร่วม ปี 2555 จากกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนายกระดับกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐานของ อ.ส.ค. ประกอบกับแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์นมใหม่ๆออกสู่ตลาด รองรับความต้องการของผู้บริโภคให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยชูจุดขายในความเป็นธรรมชาติไม่มีส่วนผสมของนมผง ซึ่งโดยรวมจะทำให้กำไรในสิ้นปีนี้ไปถึง 400 ล้านบาทตามเป้าหมาย ส่วนภาพรวมรายได้โตขึ้นจากปัจจุบันที่มียอดขายรวมที่ 6,500 ล้านบาทเป็น 7,000 ล้านบาท ส่วนตลาดต่างประเทศหากดำเนินไปตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ภายใน 5 ปีจะทำให้มียอดขายแตะที่ 1,000 ล้านบาท/ปี จากเดิมที่มียอดขายเพียง 200 ล้านบาท/ปี และทำให้ภาพรวมรายได้ทั้งในและต่างประเทศเติบโตเป็น 10,000 ล้านบาท/ปี และมั่นใจว่า นมไทย-เดนมาร์ค จะเป็นเหมือนโลโก้ ไทยเฟรชมิลค์ของคนไทยในที่สุด