กรุงเทพฯ--17 ธ.ค.--ก.พลังงาน
พรหมินทร์ เยือนอิหร่าน ติดตามความคืบหน้าสัมปทานบ่อน้ำมัน ความเป็นไปได้ในการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ร่วมมือผลิตอุปกรณ์รถยนต์เอ็นจีวี การซื้อน้ำมันดิบจากอิหร่าน รวมทั้งเชิญชวนอิหร่านลงทุนระบบท่อ โรงกลั่น และคลังน้ำมัน ในโครงการแลนด์บริจด์
นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริเดช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึง การเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ระหว่างวันที่ 17-19 ธันวาคม 2547ว่า การไปครั้งนี้เป็นการไปเยือนตามคำเชิญชวนของรัฐบาลอิหร่าน หลังจากที่กระทรวงพลังงานของไทยและกระทรวงปิโตรเลียมของอิหร่านได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงเบื้องต้น (MOU) ในความร่วมมือด้านพลังงานระหว่าง 2 ประเทศ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2547
โดยมีกำหนดไปพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงปิโตรเลียมอิหร่าน H.E. Mr. Bijain Zanganeh ซึ่งจะได้ติดตามความก้าวหน้าในการขอรับสัมปทานปิโตรเลียมของบริษัท ปตท.สผ. จำกัด (มหาชน) ที่ได้ยื่นประมูลแปลงสำรวจ 2 แปลง คือ แปลง 4 (Khoramabad) และแปลง 14 (Saveh) รวมทั้งความร่วมมือในการลงทุน และพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในอิหร่านระหว่างรัฐต่อรัฐ ในแปลงสัมปทานอื่นๆ
และเราจะเชิญชวนผู้ผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์รถยนต์ใช้ก๊าซเอ็นจีวีของอิหร่านมาร่วมลงทุนในประเทศไทย เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการดัดแปลงเครื่องยนต์มาใช้ก๊าซเอ็นจีวี ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยต้องนำเข้าอุปกรณ์เอ็นจีวีเกือบทั้งหมดจากต่างประเทศทำให้ราคาค่อนข้างสูง ดังนั้น หากสามารถผลิตบางชิ้นส่วนของอุปกรณ์เอ็นจีวีในประเทศไทยได้ราคาจะถูกลงมาก นอกจากนั้นยังได้เชิญชวนให้บริษัทน้ำมันแห่งชาติของอิหร่าน (NIOC) เข้าร่วมลงทุนในโครงการแลนด์บริจด์ ทั้งระบบท่อเพื่อขยายการซื้อขายน้ำมันในแถบภูมิภาคเอเชีย โรงกลั่นน้ำมัน สำหรับตลาดในประเทศและเพื่อส่งออก และคลังน้ำมันดิบ เพื่อขยายตลาดในภูมิภาคเอเชีย
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สนใจในการนำเข้าก๊าซธรรมชาติในรูปแบบของเหลว (LNG)
สำหรับใช้ในประเทศไทย หลังปี 2553 เนื่องจากราคาของ LNGในปัจจุบันมีราคาถูกลง ใกล้เคียงกับราคาก๊าซธรรมชาติในบ้านเรา ในการเดินทางครั้งนี้จะมีการลงนามบันทึกความตกลงเบื้องต้น (MOU) ระหว่าง ปตท.
กับ บริษัท โทเทล ของฝรั่งเศส, บริษัทน้ำมันแห่งชาติของอิหร่าน (NIOC) และบริษัทน้ำมันแห่งชาติของมาเลเชีย (Petronas) เพื่อตั้งคณะทำงานศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมทุนพัฒนาแหล่งก๊าซ (SOUTH PARS) phase 11 เพื่อทำ LNG จำนวน 4 ล้านตันต่อปีมาใช้ในประเทศไทย หลังปี 2553 นอกจากนั้นอิหร่านยังได้เสนอขายน้ำมันดิบให้กับประเทศไทย ซึ่งเราจะต้องเจรจาในขั้นรายละเอียดต่อไป
นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังได้พบหารือกับ Mr.Hashemi Bahramani Akbar ประธานสภาปรองดองแห่งชาติ ของอิหร่าน (The Chairman of the Expediency Discernment Council of the System)เพื่อแสวงความร่วมมือและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสอง ในโอกาสที่ปีหน้าจะครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-อิหร่าน
อนึ่ง การเยือนอิหร่านครั้งนี้เป็นการติดตามความก้าวหน้าหลังจากที่ได้มีการลงนามใน
MOU 2 ฉบับ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2547 โดยฉบับที่ 1)ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของไทย นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงปิโตรเลียม อิหร่าน (H.E. Dr. Nejad Hosseinian) มีสาระสำคัญดังนี้
-ความร่วมมือในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมระหว่าง ปตท.สผ.
และกระทรวงปิโตรเลียมอิหร่าน
-ความร่วมมือในการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำก๊าซ LNG มาใช้ในประเทศไทย
-ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้ก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ (NGV)
-ความร่วมมือในการลงทุนด้านปิโตรเคมีในอิหร่าน
ฉบับที่ 2) เป็นการลงนามระหว่างบริษัท ปตท.สผ. กับ H.E. Dr. Nejad Hosseinian ในความร่วมมือด้านการสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียม การนำปิโตรเลียมมาใช้ในการลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอนาคต รวมทั้งฝึกอบรมและช่วยเหลือทางด้านเทคนิคในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมระหว่างไทยและอิหร่าน สืบเนื่องจากการที่ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU)--จบ--