กรุงเทพฯ--19 มี.ค.--กรุงเทพธุรกิจ
กรุงเทพธุรกิจ-ศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดผลสำรวจ CEO Sentiment Index เดือนก.พ.-มี.ค. นักธุรกิจคาด เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว เหตุกังวลต้นทุนพลังงาน ค่าแรง วัตถุดิบ พุ่ง ผู้บริหาร 68.4% ระบุ จะขึ้นราคาสินค้า หากต้นทุนพลังงานเพิ่มสูงขึ้น
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจร่วมกับศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPURC) เปิดผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริหาร CEO Sentiment Index ประจำเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม จากการสำรวจความเห็นของผู้บริหารบริษัท จำนวน 402 คน ระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์- 8 มีนาคม พ.ศ. 2556 เกี่ยวกับแนวโน้มทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ พบว่า ผู้บริหารส่วนใหญ่คาดว่า เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลงเห็นได้จากดัชนีภาวะเศรษฐกิจมีค่าลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2556 โดยในเดือนมีนาคมและเมษายน แนวโน้มดัชนีมีค่าลดลงเป็น 13 และ 5 จุดตามลำดับ
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มลดลง คือ ความกังวลเรื่องต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นจากต้นทุนด้านพลังงาน ต้นทุนค่าแรง ต้นทุนของวัตถุดิบ ที่อาจปรับตัวสูงขึ้นในไตรมาสที่สอง และการแข็งค่าของเงินบาทที่มีผลต่อการส่งออก
พลังงาน-ค่าแรง ปัจจัยมีผลต่อธุรกิจไตรมาส 2
ส่วนปัจจัยสำคัญ 5 อันดับแรกที่มีผลต่อการทำธุรกิจในไตรมาสที่สอง คือ ต้นทุนค่าขนส่งและพลังงาน (3.6) ต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้น (3.6) ต้นทุนวัตถุดิบ (3.5) สภาวะเศรษฐกิจของไทย (3.4) และการแข็งขึ้นของค่าเงินบาท (3.3)
เตรียมขึ้นราคาสินค้า หากราคาพลังงานเพิ่ม
สำหรับผลกระทบต่อต้นทุนที่คาดว่าจะเกิดจากการขึ้นราคาพลังงาน ได้แก่ LPG NVG น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล และไฟฟ้า จากการสอบถามเฉพาะธุรกิจที่ไม่ได้อยู่ในภาคขนส่ง พบว่า ผู้ที่ระบุว่าการขึ้นราคาไฟฟ้าส่งผลกระทบต่อต้นทุนมากที่สุด คิดเป็น 35.3% น้ำมันดีเซล 28.2% NGV 14.5% LPG 11.3% และน้ำมันเบนซิน 10.7%
แนวทางในการปรับตัวต่อปัญหาพลังงานนั้น ผู้บริหาร 68.4% ระบุว่า จะปรับขึ้นราคาสินค้า ขณะที่ผู้บริหารอีก 55.0% ระบุว่าจะลดต้นทุนการผลิตในส่วนอื่นที่ไม่ใช่พลังงาน 47.1% จะดูแลรักษาเครื่องจักร/อุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพดี 30.7% ลดงบประมาณด้านการลงทุนระยะยาว และ 25.9% นำเครื่องจักร/อุปกรณ์ที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมาใช้
ผลการสำรวจครั้งนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลใจเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของต้นทุนทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน และต้นทุนวัตถุดิบ
นอกจากนี้ หากปัญหาภัยแล้งรุนแรงจนส่งผลให้ค่าครองชีพสูงขึ้น จะทำให้ประชาชนระมัดระวังในการใช้จ่ายตลอดจนทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ไตรมาสที่สองของปี 2556 เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับธุรกิจไทยอีกครั้งหนึ่ง