พิษค่าแรงส่งผลต้นทุนพุ่ง ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรม ก.พ. ทรุด หวั่นราคาน้ำมัน ค่าเงินบาทซ้ำเติม วอนรัฐเร่งหามาตรการแก้ภัยแล้ง

ข่าวทั่วไป Tuesday March 19, 2013 11:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 มี.ค.--ส.อ.ท. นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 จำนวน 1,076 ราย ครอบคลุม 42 กลุ่มอุตสาหกรรม ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ร้อยละ 26.5, 42.1 และ 31.4 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ นอกจากนี้ยังแบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 44.1,12.2,14.5, 14.6 และ14.6 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 85.3 และ 14.7 ตามลำดับ โดยผลการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ระดับ 95.5 ปรับตัวลดลงจากระดับ 97.3 ในเดือนมกราคม โดยค่าดัชนีที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ จากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง เนื่องจากในเดือนกุมภาพันธ์ มีวันทำงานน้อยกว่าปกติรวมทั้งอยู่ในช่วงเทศกาลตรุษจีน โรงงานบางส่วนได้หยุดดำเนินการ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการยังมีความกังวลและได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น (ค่าจ้างแรงงาน ราคาพลังงาน ราคาวัตถุดิบ) ซึ่งสะท้อนได้จากดัชนีต้นทุนประกอบการ (ผกผัน) ที่ปรับตัวลดลงและมีค่าต่ำกว่า 100 อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของดัชนีพบว่าดัชนียอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม และปริมาณการผลิต อยู่ในระดับเกิน 100 โดยเฉพาะดัชนียอดขายในต่างประเทศ ซึ่งเป็นไปตามเศรษฐกิจโลกที่เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวสอดคล้องกับการส่งออกของไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 103.1 เพิ่มขึ้นจากระดับ 101.5 ในเดือนมกราคม ค่าดัชนีที่เพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง ปรับตัวลดลง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ในเดือนมกราคม โดยอุตสาหกรรมขนาดย่อม มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ระดับ 82.5 ลดลงจากระดับ 83.6 ในเดือนมกราคม โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมการแก้วและกระจก, อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ และอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.6 เพิ่มขึ้นจากระดับ 95.8 ในเดือนมกราคม โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ อุตสาหกรรมขนาดกลาง ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ระดับ 94.7 ลดลงจากระดับ 98.8 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง,อุตสาหกรรมรองเท้า,อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ เป็นต้น ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 101.0 ลดลงจากระดับ 101.2 ในเดือนมกราคม โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ระดับ 107.5 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 107.2 ในเดือนมกราคม โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้นได้แก่ อุตสาหกรรมพลาสติก,อุตสาหกรรม ปิโตรเคมี,อุตสาหกรรมอลูมิเนียม เป็นต้นขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 108.9 เพิ่มขึ้นจากระดับ 106.8 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ด้านดัชนีความเชื่อมั่นฯรายภูมิภาค ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2556 จากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ปรับตัวลดลง ขณะที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯปรับเพิ่มขึ้น ดังนี้ ภาคเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ระดับ 84.9 ปรับตัวลดลง จากระดับ 89.8 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งจากค่าจ้าง 300 บาท ราคาวัตถุดิบ ราคาเชื้อเพลิง รวมถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับแผนการดำเนินกิจการเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนที่สูงขึ้น เพื่อให้กิจการอยู่รอดได้ อุตสาหกรรมในภาคเหนือที่มีค่าดัชนีปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม และอุตสาหกรรมเซรามิก เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 94.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 92.2 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต และต้นทุนประกอบการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ กุมภาพันธ์ อยู่ที่ระดับ 82.1 ปรับตัวลดลงจากระดับ 86.5 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ปัจจัยที่ส่งผลต่อระดับความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคตะวันออกเฉียงเหนือในเดือนกุมภาพันธ์ ได้แก่ ความกังวลต่อต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือและไร้ฝีมือ สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ,อุตสาหกรรมน้ำตาล,อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เป็นต้น ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 101.5 ลดลงจากระดับ 103.5ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ภาคใต้ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กุมภาพันธ์ อยู่ที่ระดับ 95.2 ลดลงจากระดับ 102.3 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีที่ลดลง ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ เนื่องจากในเดือนกุมภาพันธ์ มีวันทำงานน้อยกว่าปกติรวมทั้งอยู่ในช่วงเทศกาลตรุษจีนทำให้โรงงานบางส่วนหยุดดำเนินการ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการยังมีความกังวลและได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น (ค่าจ้างแรงงานราคาพลังงาน ราคาวัตถุดิบ )ซึ่งสะท้อนได้จากค่าดัชนีต้นทุนประกอบการ(ผกผัน) ที่ปรับตัวลดลง สำหรับอุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม, อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 102.7 เพิ่มขึ้นจากระดับ 101.6 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดขายโดยรวม และต้นทุนประกอบการ ภาคกลาง ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ระดับ 99.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 98.8 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการในภาคกลาง พบว่า ภาพรวมทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี ความต้องการสินค้าและบริการยังคงขยายตัวต่อเนื่อง เห็นได้จากดัชนียอดขายโดยรวมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันเศรษฐกิจโลกที่เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวทำให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อภาคการส่งออก สะท้อนจากดัชนียอดขายในต่างประเทศปรับตัวสูงขึ้น อุตสาหกรรมในภาคกลางที่มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์,อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์, อุตสาหกรรมอู่ต่อเรือ เป็นต้น ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 104.7 เพิ่มขึ้นจากระดับ 101.6 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ และภาคตะวันออก ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ระดับ 107.1 เพิ่มขึ้นจากระดับ 106.9 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมของภาคตะวันออก ในเดือนกุมภาพันธ์ยังคงขยายตัวดีต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขายโดยรวมที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขายในต่างประเทศที่ขยายตัวดี สอดคล้องกับการส่งออกของไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิกส์ อุตสาหกรรรมเหล็ก เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 107.6 ลดลงจากระดับ 109.2 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก (ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศกับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) โดยจากผลการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศปรับตัวลดลง ขณะที่กลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ระดับ 95.0 ลดลงจาก 97.5 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีที่ลดลงได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องสำอางค์ อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 102.3 เพิ่มขึ้นจากระดับ 101.7ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ 98.0 เพิ่มขึ้นจากระดับ 96.7 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เป็นต้น ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 107.3 เพิ่มขึ้นจากระดับ 99.9 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สำหรับด้านสภาวะแวดล้อมในการดําเนินกิจการ เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ จากการสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการมีความกังวลในประเด็นผลกระทบจากราคาน้ำมันมากที่สุด รองลงมา คือ อัตราแลกเปลี่ยน สภาวะเศรษฐกิจโลก สถานการณ์การเมืองในประเทศ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ โดยผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้นในปัจจัยราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนกุมภาพันธ์ คือ ต้องการให้ภาครัฐแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานทั้งแรงงานฝีมือและไร้ฝีมือ อีกทั้งเร่งหามาตรการแก้ปัญหาภัยแล้ง พร้อมทั้งกำหนดนโยบายการบริหารจัดการด้านพลังงานอย่างยั่งยืนให้กับภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมือง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศ และสนับสนุนให้สถาบันการเงินพิจารณาปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ให้กับผู้ประกอบการ SMEs มากขึ้น เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องของกิจการ รวมถึงสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ