เท้าเล็ก...เรื่องไม่เล็ก

ข่าวทั่วไป Tuesday March 19, 2013 11:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 มี.ค.--แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น เท้าเล็ก...เรื่องไม่เล็ก โดย นพ. เชิดพงศ์ หังสสูต ผู้อำนวยการคลินิกสุขภาพเท้ากรุงเทพโรงพยาบาลกรุงเทพ “เท้า” เป็นอวัยวะสำคัญที่ช่วยรองรับแรงกระแทก และน้ำหนักตัวของร่างกาย แต่ปัจจุบันกลับพบว่ากว่าร้อยละ 70 ของประชากร มีภาวะซ่อนเร้นเกี่ยวกับเท้าที่ผิดปกติ อาทิ แนวแนวการเดินที่ผิดเพี้ยน ปลายเท้าชี้เข้าด้านใน โรคเท้าปุก เท้าแบน เท้าบิดเข้า-ออกทำให้ล้มง่าย เท้าไม่เท่ากันนิ้วเท้าซ้อนกันระหว่างเดิน เท้าที่ผิดรูปจะไม่สามารถรับน้ำหนักตัวได้ดี ส่งผลให้เกิดภาวะต่างๆ ตามมา ซึ่งภาวะดังกล่าวพบได้บ่อยในคนเอเชียโดยเฉพาะ “เด็กไทย” นพ. เชิดพงศ์ หังสสูต ผู้อำนวยการคลินิกสุขภาพเท้ากรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ความผิดปกติของเท้าสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่วัยเด็กและเป็นภาวะที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในโดยที่ไม่แสดงอาการ หากไม่ได้ใช้เท้าทำงานหนัก เช่น เดินทางไกล ภาวะที่ต้องใช้เท้าเป็นพิเศษ เท้าที่ผิดรูปจะไม่สามารถรับน้ำหนักตัวได้ดีเท่าเท้าปกติ โดยเฉพาะภาวะเท้าแบน เป็นหนึ่งในความผิดปกติของเท้าที่พบได้บ่อยในมนุษย์ และมีความสัมพันธ์กับคนไทยค่อนข้างมาก สาเหตุของภาวะเท้าแบนนี้ส่วนใหญ่เกิดจากพันธุกรรม ทำให้รูปร่างของอุ้งเท้าที่จากเดิมมีแนวโค้ง 20-25 องศา การเรียงตัวของกระดูกทั้ง 26 ชิ้น สมบูรณ์ เกิดการผิดรูป การที่เท้ามีรูปร่างแบน ทำให้การรับน้ำหนักตัวทำได้ไม่ดี การเรียงตัวของแนวกระดูกผิดเพี้ยน ทำให้ส้นเท้าแบออก หัวเข่าบิดเข้าหากัน ภาวะที่เกิดขึ้นนี้จะถิอว่าเป็นโรคก็ต่อเมื่อมีอาการแสดงออก ทันทีที่วัยล่วงเลยเข้าสู่อายุ 30-40 ปีขึ้นไป ซึ่งมักพบอาการเจ็บเส้นเอ็น ปวดน่อง ปวดเข่า ไม่สามารถออกแรงเดินได้เท่าคนในวัยเดียวกัน หรือเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ข้อเสื่อมตามมา อาการดังกล่าวจะแสดงออกชัดเจนเมื่อกระดูกฟอร์มตัวสมบูรณ์ และกลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน แรงกดอาจทำให้แผลที่เท้าเกิดขึ้นและรักษาได้ยาก อีกทั้งอาการเจ็บเท้าที่เกิดขึ้นจากการลงน้ำหนัก การทานยาลดการอักเสบ บรรเทาอาการปวด อาจไม่ใช่คำตอบในการรักษาที่ถูกต้องนัก ผ.อ.คลินิกสุขภาพเท้ากรุงเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของเท้าได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นตั้งแต่ย่างก้าวแรกในวัยเด็ก ด้วยเทคนิค Pedographical Studies โดยค้นหาแรงเข้มข้นที่ทำให้เกิดความผิดปกติขึ้นกับเท้าด้วยวิธิพิมพ์รอยเท้า หรือใช้กล้องจับภาพความเร็วสูง ติดเซ็นเซอร์วัดจุดลงน้ำหนัก เพื่อตรวจสอบความผิดปกติที่เกิดขึ้นโดยละเอียดถึง 1,000 ครั้งต่อวินาที ซึ่งการตรวจวินิจฉัยรูปร่างเท้าสามารถค้นหาพยาธิกำเนิดทางชีวกลศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับแรงกระทำ เช่น หนังหนาแข็งที่ผ่าเท้า ตาปลา จุดกดเจ็บ รอยช้ำ หากตรวจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น แพทย์ก็จะสามารถช่วยปรับสรีระแก้ไขรูปทรงของเท้าให้กลับมาเป็นปกติได้โดยใช้เวลาไม่นาน โดยใช้อุปกรณ์เสริม หรือตัวประกบ อาทิ แผ่นรองรองเท้า รองเท้าบูธที่ออกแบบให้สัมพันธ์กับรูปเท้าของแต่ละคน หรือรองเท้าปรับสรีระซึ่งเป็นหนึ่งในกายอุปกรณ์ที่ช่วยแก้ปัญหารูปเท้าแบนของเด็กให้กลับมามีสรีระใกล้เคียงกับรูปเท้าปกติ แต่จะต้องเป็นรองเท้าที่ออกแบบพิเศษให้เหมาะกับรูปเท้าของเด็กแต่ละคน ซึ่งมีความแตกต่างกัน แผ่นรองรองเท้าสามารถช่วยกระจายแรงกดของน้ำหนักตัว และช่วยปรับให้เท้าที่แบนราบมีค่อยๆ มีอุ้งเท้าปรากฎขึ้น เช่นเดียวกับรองเท้าบูธที่ออกแบบขึ้นเป็นพิเศษมีอุปกรณ์เสริมที่ด้านในเพื่อช่วยยกกระชับ และฟอร์มให้เท้าได้รูปทรง การรักษาด้วยวิธีการดังกล่าว ใช้เวลาประมาณ 2 ปี โดยไม่ต้องรับประทานยา หรือผ่าตัด โดยแพทย์จะตรวจติดตามผลการรักษาปรับวัดเพื่อดูมุม แนวเอียงของเท้าที่เพิ่มขึ้น ทุก 4 เดือน และติดตามจนกว่ารูปเท้าจะอยู่ในภาวะปกติ ปัญหาเรื่องเท้าอาจดูไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับคนทั่วไปเมื่อเทียบกับโรคร้ายอื่นๆ แต่เรื่องเท้าเล็กๆ อาจกลายเป็นอุปสรรคใหญ่สำหรับการใช้ชีวิตประจำวันของหลายๆ คนได้ ฉะนั้นเราควรหันมาใส่ใจดูแลอวัยวะเล็กๆ อย่างเท้าของเราซักนิด หากตรวจพบปัญหาผิดปกติเกี่ยวกับสุขภาพเท้า ก็ควรเข้าปรึกษาแพทย์แต่เนิ่นๆ เพื่อทำการแก้ไขให้กลับมาเป็นปกติโดยเร็ว คุณหมอฝากทิ้งท้าย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ คลินิกสุขภาพเท้ากรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ โทร.0-2310-3519

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ