กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเตรียมจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้

ข่าวทั่วไป Monday December 20, 2004 09:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ธ.ค.--สนพ.
นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมจัดทำแผนแม่บทพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) ในปี 2548 เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการ และเพื่อรองรับการแข่งขันที่รุนแรงในเวทีการค้าโลกที่มีการเปิดเขตการค้าเสรี โดยเน้นการยกระดับความสามารถการผลิตและการบริหารจัดการให้เกิดความเข้มแข็ง และแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้ โดยภายใต้ยุทธศาสตร์กระทรวงอุตสาหกรรม ปี2548 ได้กำหนดนโยบายในการพัฒนา SMEs คือ 1. เร่งส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ให้มีกระบวนการผลิตสินค้าที่มีมาตรฐานสินค้า โดยมีใบบัญชีใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพื่อให้สินค้ามีคุณภาพ และตรงกับความต้องการของตลาด เพื่อแข่งขันกับตลาดโลกได้ซึ่งวางเป้าหมายว่าจะต้องเพิ่มยอดการส่งออกสินค้าในกลุ่ม SMEs ไปยังตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น จากปี 2547 ที่สามารถส่งออกได้ประมาณ 100 ล้านบาท หรือคิดเป็น 26 % ของยอดการส่งออกทั้งปี
2. สร้างมูลค่าเพิ่มในตัวสินค้า โดยการผลิตสินค้าที่เป็นแบรนด์เนมของตนเองมากขึ้น เพื่อการเจาะตลาดเป้าหมาย เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน 3. การสร้างเครือข่าย SMEs ให้มีการรวมกลุ่มในลักษณะคลัสเตอร์ แต่ละกลุ่มสินค้าให้ชัดเจนมากขึ้น เพื่อเชื่อมโยงการผลิตป้อนให้กับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพราะปัจจุบันปัญหาของ SMEs ยังขาดการเชื่อมโยง ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำให้มีความสะดวก และง่ายขึ้นต่อการติดต่อสั่งซื้อและจำหน่ายสินค้าระหว่างกันได้โดยตรง 4. การจัดทำศูนย์ระบบข้อมูลอุตสาหกรรมสำหรับผู้ประกอบการ SMEs เพื่อเป็นฐานข้อมูลพื้นฐาน (ระบบ DATA BASE ) เพื่อการจัดซื้อและการตลาด โดยกำหนดให้เป็นรูปแบบศูนย์ข้อมูลกลาง เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการรวบรวมข้อมูล SMEs ทั้งหมดของประเทศโดยนำระบบเทคโนโลยีและสารสนเทศ และการสร้างระบบซอฟแวร์มาใช้ในศูนย์ฯดังกล่าว ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม(สสว.) เป็นผู้ดำเนินการจัดการ และ ไปพิจารณาเรื่องการใช้งบประมาณเพื่อดำเนินการโดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2548
“ ขณะนี้ สสว. ได้เสนองบในการจัดทำจำนวน 500 ล้านบาท ถือเป็นจำนวนเงินที่มาก ซึ่งจะต้องมีการจัดทำแผนปรับลดงบประมาณลง โดยมุ้งเน้นให้ทำฐานข้อมูลผู้ประกอบการในประเทศก่อน จากเดิมที่แผนจะต้องมีการซื้อข้อมูลเอสเอ็มจากต่างประเทศ ซึ่งทำให้ต้องใช้งบประมาณ จำนวนมาก นอกจากนี้ยังเร่งให้สสว. จัดทำการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ด้านการให้ข้อมูลความรู้ การฝึกอบรม การปรับปรุงคุณภาพ รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้เข้าถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากขึ้น “ นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว
และ 5. การจัดทำศูนย์จำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน ของกลุ่ม SMEs และสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิต-ภัณฑ์ (OTOP )ซึ่งในปี 2548 กระทรวงอุตสาหกรรมได้วางแผนจัดตั้ง โดยเกำหนดให้มีการรวมจังหวัดในพื้นทีใกล้เคียงเป็นกลุ่มจังหวัด เพื่อผลิตสินค้าและจัดจำหน่ายมายังตลาดกลางฯ และกำหนดให้จังหวัดกรุงเทพฯ เป็นตลาดกลางเพื่อเชื่อมโยงการจัดซื้อ และจำหน่ายสินค้า ของกลุ่มจังหวัดต่างๆ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นการสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการ ในการขายสินค้าไปสู่มือผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะชาวต่างประเทศ
นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมยังจะเร่งให้การนิคมอุตสาหกรรมเร่งจัดทำนิคมเอสเอ็มอีกระจายรอบ นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 34 แห่ง ทั่วประเทศ เพื่อให้ ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้ง่ายขึ้น และจากการสอบถามผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก็ต้องการให้มีการรวมกุล่มเป็นนิคมอุตสาหกรรม แต่ไม่สามารถเข้าไปตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้ เพราะขาดแคลนเงินทุน--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ